จัดรับฟังความเห็นพิเศษ 9 เม.ย. ถกแนวทางนำเสนอระบบบัตรทองในเวทียูเอ็น
กต. สธ. สช. และ สปสช. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นกรณีพิเศษในวันที่ 9 เม.ย. 2562 เพื่อกำหนดแนวทางนำเสนอระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยก่อนการประชุมระดับสูงของสหประชาชาติในเดือน ก.ย.นี้ ด้านรองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศชี้ หลังจากหารือในยูเอ็นเสร็จจะเป็นปฏิญญาทางการเมืองในการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระดับโลกต่อไป
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโฆษก สปสช. เปิดเผยว่า สปสช. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และกระทรวงการต่างประเทศ จัดเวทีประชุม 3 ฝ่ายเพื่อยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสู่สากล ในวันที่ 9 เม.ย. 2562 ที่จะถึงนี้ โดยการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเป็นการประชุมในกรณีพิเศษนอกเหนือจากที่ดำเนินการเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว เนื่องจากจะมีการประชุมระดับสูงของสหประชาชาติในเดือน ก.ย. 2562 ที่จะถึงนี้ และจะมีการหารือในประเด็นเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย ดังนั้นจึงได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 9 เม.ย. นี้ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆได้แสดงความคิดเห็นเพื่อกำหนดท่าทีของประเทศไทยในการประชุมที่สหประชาชาติในเดือน ก.ย. นี้
"สาระสำคัญอยู่ตรงที่ว่าหัวใจความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพของไทยอยู่ที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน แต่ละปีกฎหมายกำหนดให้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าการดำเนินงานที่ผ่านมามีช่องโหว่อะไร อยากเพิ่มสิทธิประโยชน์ตรงไหน สปสช.รับฟังความเห็นมาแล้วสรุปให้คณะกรรมการ สปสช.พิจารณาว่าจะแก้ไขเรื่องใดหรือเพิ่มเติมเรื่องอะไร ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ก็เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเช่นกัน เพราะต่างประเทศก็สนใจว่าประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนามีรายได้ระดับปานกลางแต่ทำระบบใหญ่ๆ แบบนี้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นในการประชุมระดับสูงที่สหประชาชาติ ไทยในฐานะประเทศต้นแบบระบบหลักประกันสุขภาพ เราจะไปเล่าให้ประเทศสมาชิกฟังว่ามีเทคนิคการดำเนินการอย่างไร ดังนั้นในประเด็นสำคัญๆ เราจึงจัดฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศไทยก่อน เพื่อกำหนดท่าทีว่าจะบอกเล่าแนวทางของระบบหลักประกันสุขภาพอย่างไร" ทพ.อรรถพร กล่าว
ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า นอกจากการแสดงความคิดเห็นผ่านเวทีประชุมครั้งนี้แล้ว ยังมีช่องทางรับฟังความคิดเห็นที่ง่ายที่สุดอีกหนึ่งช่องทาง คือการโทรไปสายด่วน 1330 โดยประชาชนสามารถโทรได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านนายพิชิต บุญสุด รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกกลุ่มนโยบายต่างประเทศด้านสุขภาพ โดยในปี 2560 เราสามารถผลักดันให้มีร่างข้อมติในสหประชาชาติ 2 ร่างข้อมติ ซึ่งหนึ่งในนั้นได้กำหนดให้มีการประชุมระดับสูงของสหประชาชาติในเดือน ก.ย. 2561
"ประชุมระดับสูงคือการประชุมระดับผู้นำประเทศหรือรัฐมนตรีขึ้นไป ทางสหประชาชาติจะจัดประชุมทุกเดือน ก.ย. ก็จะมีการคุยในเรื่องที่มีความสำคัญๆ ซึ่งปีที่ผ่านมาเราผลักดันให้มีการพูดคุยเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเดือน ก.ย.ปีนี้ จึงเป็นที่มาว่าก่อนจะมีการประชุมระดับสูงก็ต้องมีการเก็บข้อมูลประมวลความเห็นของภาคส่วนต่างๆ และก่อนที่จะไปสู่เวทีสหประชาชาติ ประเทศไทยก็ต้องคุยกันในส่วนของเราเองก่อนว่ามีอะไรจะไปเสนอ จึงเกิดเป็นการจัดประชุมในวันที่ 9 เม.ย. 2562 ขึ้นมาโดยอาจมีหน่วยงานสหประชาชาติในไทยมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย" นายพิชิต กล่าว
นายพิชิต กล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้รับการชื่นชมอย่างมาก เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ประสานงานร่วมเกี่ยวกับกระบวนการจัดประชุมครั้งนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าต่างประเทศยอมรับประเทศไทย ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพที่ต่างชาติให้ความสนใจนั้น จะเป็นความสนใจในองค์รวมว่าวิธีการบริหารจัดการของไทยสามารถทำอะไรได้บ้าง และการที่ไทยเราใช้งบประมาณไม่มาก จุดนี้นี้สามารถนำไปปรับใช้ในประเทศอื่นๆได้หรือไม่ เพราะทุกประเทศไม่ได้รวยเหมือนกันหมด ถ้ามีวิธีการที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนของประเทศนั้นๆ
ทั้งนี้ เมื่อการประชุมระดับสูงของสหประชาชาติในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเสร็จสิ้นลง ก็จะถือเป็นปฏิญญาทางการเมือง เป็นแนวทางการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเวทีระหว่างประเทศต่อไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 9 เม.ย. 2562 ก็จะถูกบรรจุอยู่ในปฏิญญานี้ด้วยเช่นกัน