เปิดตัวเลขเงินขาดบัญชีจนท.รัฐทุจริต1.4 หมื่นล.! 'พณ.-มท.-ศธ' นำโด่ง-คดียักยอกมากสุด 9.4พันล.
เปิดไส้ในรายงานตัวเลขเงินขาดบัญชีคดี 'จนท.รัฐทุจริต' 1.4 หมื่นล.! พบจัดกลุ่มประเภทความผิด 6 เรื่องหลัก ยักยอกทรัพย์มากสุด 9.4พันล. ด้านความเสียหายนับรวม 'มท.-อปท.' มากสุด 6.8 พันล. เฉพาะ 'พณ.' แห่งเดียว 4.1 พันล. - 'ศธ.' ติดชื่อจำนวนเรื่องมากสุดอันดับ 2
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ขณะนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศอยู่ระหว่างแจ้งเวียนหนังสือ กรมส่งเสริมการปกครอง (สถ.) ที่ทำถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงปลายเดือน ม.ค.2562 ที่ผ่านมา โดยอ้างคำสั่งกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการดำเนินงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเร่งรัด ติดตามเกี่ยวกับกรณีเงินขาดบัญชี หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 8 และข้อ 9 ที่กำหนดให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการเร่งรัด ติดตามหน่วยงานของรัฐที่เกิดปัญหาเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่ทุจริต และรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยต่อเนื่อง ทุก 6 เดือน
เบื้องต้น สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำรายงานผลการเร่งรัดติดตามกรณีเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 รอบ 6 เดือนหลัง คือ 1 เม.ย.-30 ก.ย.2561 พบว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 มีจำนวนเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการทั้งสิ้น 2,975 เรื่อง รวมวงเงิน 14,191,678,458.49 บาท อยู่ในขั้นตอนการเร่งรัด ทั้งการติดตามทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย
และได้มีการดำเนินการเร่งรัดติดตามจนมีผลเป็นที่ยุติในช่วงเวลาดังกล่าว รวม 177 เรื่อง สามารถเรียกเงินชดใช้คืนให้กับทางราชการได้ทั้งสิ้นแล้ว112,245,666.55 บาท
(อ่านประกอบ : 'บิ๊กตู่' สั่งเร่งคดีแพ่ง-อาญา-วินัย 'จนท.รัฐทุจริต' หลังพบยอดเงินขาดบัญชีเพียบ 1.4 หมื่นล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลในรายงานผลการรเร่งรัดติดตามกรณีเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ของ สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ดังกล่าว
พบว่า ในจำนวนเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการทั้งสิ้น 2,975 เรื่อง มีการแบ่งกลุ่มเรื่องและประเภทการทุจริตไว้ 6 กลุ่มหลัก
โดยการทุจริตยักยอกเงิน/ทรัพย์สินราชการ มีมากที่สุด จำนวน 1,572 เรื่อง วงเงิน 9,418,362,182.73 บาท
ตามมาด้วย การทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง 703 เรื่อง วงเงิน 3,156,308,233.08 บาท , การปฏิบัติผิดระเบียบ 621 เรื่อง วงเงิน 1,567,062,446.34 บาท , การทุจริต น้ำมันเชื่อเพลิง 21 เรื่อง วงเงิน 26,158,420.43 บาท , เบิกค่ารักษาพยาบาลเท็จ 9 เรื่อง วงเงิน 20,516,488.40 บาท และ เบิกค่าเช่าบ้านเท็จ 39 เรื่อง วงเงิน 3,270,687.51 บาท
สำหรับจำนวนเรื่อง แยกตามส่วนราชการ 3 อันดับแรก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีจำนวนเรื่องมากที่สุด 1,551 เรื่อง รองลงมา คือ กระทรวงศึกษาธิการ 258 เรื่อง และกระทรวงมหาดไทย 252 เรื่อง
แยกตามจำนวนเงินเสียหาย 3 อันดับแรก กระทรวงพาณิชย์ วงเงินมากสุด จำนวน 4,173,668,638.06 บาท ตามมาด้วย กระทรวงมหาดไทย จำนวน 3,654,154,568.67 บาท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3,188,875,390.85 บาท (นับรวมกระทรวงมหาดไทย+อปท. จะอยู่ที่วงเงินรวมกว่า 6.8 พ้นล้านบาท) (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ)
อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ในหนังสือ กรมส่งเสริมการปกครอง (สถ.) ที่ทำถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อแจ้งให้รับทราบข้อมูลเรื่องนี้ ได้ระบุว่า มีการนำเสนอรายงานผลการเร่งรัดติดตามกรณีเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว และเห็นชอบให้แจ้งผลการเร่งรัดให้หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ
"ดังนั้น เพื่อเป็นการกำกับดูแลป้องปรามการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในหน่วยงานของรัฐ และเพื่อให้ผู้บริหารของหน่วยงานได้รับทราบข้อมูล กระทรวงมหาดไทย จึงให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่ได้รับทราบและกำกับดูแลการกระทำทุจริตที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินการทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย กับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง และแจ้งส่วนราชการและหน่วยงานในสังกัดทราบด้วย " ในหนังสือ สถ.ระบุไว้ชัดเจน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/