นักวิ่งถุงแดงแห่งปัตตานี กลุ่ม plogging ไทยไม่แพ้ที่ใดในโลก
"ก๊อปแก๊ป ก๊อปแก๊ป" เสียงกระทบกันของ "ที่คีบ" ซึ่งปกติใช้คีบเผาปลาหรือซีฟู้ดเพื่อทำบาร์บีคิวดังขึ้นถี่ๆ
แต่คนกลุ่มนี้ไม่ได้เตรียมจัดปาร์ตี้ริมหาด พวกเขากำลังซ้อมคีบขยะ
เสียง "ก๊อปแก๊ป" เป็นสัญญาณเริ่มต้นสำหรับกิจกรรม "วิ่งเก็บขยะ Plogging Pattani" ว่ากันว่าสำหรับบางคนที่ใช้ที่คีบเป็นครั้งแรก มักจะหนีบมือตัวเองเสมอ บางคนช้ำเลือด บางคนเป็นรอยแผลเล็ก ทำให้เหล่าจิตอาสาแจ้งเตือนต่อๆ กันเพื่อเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น
"Plogging" เป็นเทรนด์การออกกำลังกายที่กำลังมาแรง ว่ากันว่าเริ่มต้นจากยุโรป โดยเฉพาะสวีเดน แล้วแพร่กระจายไปยังเมืองใหญ่ทั่วโลก
ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตพบว่า "Plogging" เป็นการรวมกิจกรรม 2 อย่างเข้าด้วยกัน คือ Jogging ซึ่งหมายถึงการวิ่ง และ Plocka Upp เป็นภาษาสวีดิช แปลว่าการเก็บหรือหยิบขึ้นมา เหมือนกับ Picking up ในภาษาอังกฤษ ฉะนั้น "Plogging" ก็คือการจ็อกกิ้ง แล้วเก็บขยะที่พบเห็นระหว่างทางนั้นเอง เป็นการผสมผสานการออกกำลังกายกับการพัฒนาเมืองให้สะอาด กิจกรรมนี้ถูกเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียจนได้รับความสนใจและมีผู้ลองทำตามเป็นจำนวนมาก กระทั่งเกิดเป็นกระแส Plogging ขึ้นมา
ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.runnersworld.com ระบุว่า ที่มาของคำว่า Plogging เป็นศัพท์ที่ขยายตัวมาจากสวีเดน คือการวิ่งพลางเก็บขยะไปพลาง เป็นกิจกรรมที่ริเริ่มโดยกลุ่มชื่อ Plogga ที่ตั้งโดย Erik Ahlström ที่ดึงเอานักวิ่งหรือคนที่ออกกำลังกายให้ช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมไปด้วยขณะออกกำลัง ด้วยการวิ่งไปเก็บขยะไปในระหว่างทาง เมื่อถุงขยะที่เอาไปด้วยเต็ม ก็เอาไปวางไว้ในที่ที่คนเก็บขยะจะไปรวบรวมได้ง่าย ทั้งหมดนี้เพื่อจะช่วยไม่ให้ขยะนั้นล่องลอยไปในที่ต่างๆ จนในที่สุดไปลงเอยในทะเลหรือมหาสมุทร หรือเข้าไปฝังตัวตามแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ การรวมตัวแบบกลุ่ม Plogga ขยายตัวไปทั่วโลก กิจกรรมของพวกเขาคือ "นักวิ่งเก็บขยะ"
สำหรับประเทศไทย ในยุคที่ "จิตอาสา" เป็นกระแสหลักของการทำความดี และกิจกรรม "ก้าวคนละก้าว" ของ ตูน บอดี้สแลม กลายเป็นแรงบันดาลใจของผู้คน ปรากฏว่าที่ปัตตานีก็มีกิจกรรม "วิ่งเก็บขยะ Plogging Pattani" ด้วยเช่นกัน โดยเหล่าจิตอาสาที่เรียกว่า "นักวิ่งถุงแดง"
ทันทีที่จอดรถมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ไว้หน้าด่านศุลกากรปัตตานี อาสาสมัครจะได้รับถุงพลาสติกหูหิ้วสีแดงใบใหญ่ พร้อมที่คีบ นั่นคือที่มาของ "นักวิ่งถุงแดง" พวกเขาจะกึ่งเดินกึ่งวิ่งไปตามไหล่ทางของถนนที่มุ่งหน้าสู่หาดรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี หลังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ สายตาทุกคู่จะสอดส่ายหา "ขยะ" ที่ย่อยสลายยาก เช่น ถุงพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก หลอด ยางต่างๆ เศษแก้ว เมื่อพบก็จะคีบใส่ถุงแดงเพื่อให้สองข้างทางสะอาดสะอ้าน
"เราทำกันมา 8 เดือนแล้ว ด้วยการเดิน-วิ่งเก็บขยะ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 32 มีอาสาสมัครมาร่วมกิจกรรมมากกว่าทุกครั้ง คือ 58 คน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หลากหลายอาชีพ เก็ยขยะได้ 30 กว่ากิโลฯ ทุกคนตั้งใจมา" หนึ่งในแกนหลักของเหล่านักวิ่งถุงแดง บอก
ขณะที่ ปฏิญญา อารีย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Plogging Pattani บอกเล่าถึงความยากในการทำความดีและการเป็นจิตอาสา
"มักจะมีคำถามจากผู้คนที่สัญจรไปมาในบริเวณที่เราเก็บขยะอยู่เสมอว่า จะเก็บทำไม เก็บยังไงก็เก็บไม่หมดหรอก เดี๋ยวก็มีคนทิ้งอีก เหนื่อยเปล่าๆ เราก็ไม่ได้ตอบเขานะ เราเพียงแค่เอ่ยปากชวนเขามาร่วมเก็บขยะ แล้วเราก็เก็บต่อไป ส่วนสำหรับอาสา เราคิดว่าบางทีแม้แต่คนที่อาสามาก็อาจจะถามตัวเอง แต่อาสาเหล่านี้มีโอกาสตอบคำถามตัวเองได้ด้วยการลงมือทำ"
กิจกรรมนี้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อกลาง และขยายวงจิตอาสามากขึ้นเรื่อยๆ
"แต่ละครั้งจะมีลีดเดอร์ที่มีการจองไม้ (ที่คืบ) ต่อกันไว้ จะเดี่ยว คู่ ชมรม หรืออาชีพไหนก็ได้ จะโพสต์บอกกิจกรรมผ่านเฟซบุ๊คตัวเอง และเพจ Plogging Pattani เลือกสถานที่ วัน เวลาได้ตามสะดวก กลางวันหรือกลางคืนก็ได้ เมื่อเก็บขยะเสร็จจะแยกขยะวางไว้ริมทาง ให้ อบต.มาเก็บ เป็นแรงจูงใจให้เขาเพราะจะมีขยะบางชนิดนำไปขายต่อได้ แล้วขากลับก็จะวิ่งกลับด้วยกันไปยังรถที่จอด สิ่งที่ร่วมทำเพื่อร่วมรักษาความสะอาด เพื่อให้ปัตตานีน่าอยู่ เห็นความสำคัญเรื่องขยะมากขึ้น อาสาทุกคนมีความสุขกับการได้ร่วมกันเก็บขยะ" ปฏิญญา เล่ายาว
คนที่เข้าร่วมกิจกรรมเอง หากจะเคยตั้งคำถาม ทุกคนก็ได้คำตอบให้กับตัวเองแล้ว
"ข้อความที่แชร์ให้ฟังกันบ่อยๆ คือ พอเก็บขยะแล้วรู้สึกดีใจที่ได้ลงมือทำ เห็นพื้นที่เปลี่ยนแปลงสะอาดขึ้นก็รู้สึกดี การทิ้งมันง่าย แต่เวลาเก็บยากพอสมควร สิ่งที่เปลี่ยนที่สุดคือความคิด การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ คิดที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเอง จะพกถุงผ้า จะไม่ใช้หลอด จะพกกระบอกน้ำ เป็นคำตอบที่ได้ยินแล้วยิ้มหน้าบาน" เป็นความภาคภูมิใจของหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Plogging Pattani
ข้อมูลจากเพจ Plogging Pattani ที่ก่อตั้งโดย อามีน มะเกะ และ อับกอรี เปาะเดร์ เต็มไปด้วยข้อความสร้างแรงบันดาลใจ เช่น "กว่า 1,000 กิโลเมตรแรกที่ร่วมกันวิ่ง กว่า 1 ตันที่ร่วมกันเก็บขยะ..."
นอกจากนั้นยังมีสรุปกิจกรรม 8 เดือนของ Plogging Pattani ด้วย
- ทำกิจกรรม 32 ครั้ง
- ขยะทั้งหมดที่เก็บได้ 1091.4 กิโลกรัม เฉลี่ย 34.1 กิโลกรัมต่อครั้ง
- อาสาที่มาร่วมสนุกจำนวน 647 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กๆ 43 คน เฉลี่ย 20 คนต่อครั้ง
- ระยะทางสะสมที่อาสาร่วมกันเดินวิ่ง 1,306 กิโลเมตร (คำนวณจากระยะทางโดยประมาณเดินวิ่งไปและกลับ 2 กิโลเมตร คูณด้วยจำนวนคน แต่ในส่วนของครั้งที่ 1 และ 2 ระยะทางในการวิ่งคือ 2.5 กิโลเมตร)
- โดยเฉลี่ยแล้ว เก็บขยะได้ 0.84 กิโลกรัม ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร ต่อ 1 คน (นำน้ำหนักขยะทั้งหมดที่เก็บได้ หารด้วยระยะทางสะสมของทุกๆ คน)
สำหรับ Plogging Pattani และ Plogging Narathiwat เป็นกลุ่ม Plogging กลุ่มแรกๆ ของไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก หรือ ploggingworld
การเริ่มต้นเก็บขยะใกล้ตัว แล้วขยายไปร่วมเก็บในที่สาธารณะ อาจคะเนยากว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแน่ๆ คือใจของตัวเอง ให้หันมารักความสะอาด และรักษ์สิ่งแวดล้อม