องค์กรสตรี จี้ กทม.จริงจังปัญหาลวนลาม คุกคามทางเพศในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์
องค์กรสตรี จี้กทม.จริงจังปัญหาลวนลาม คุกคามทางเพศในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ ชงผุดหน่วยรับแจ้งระงับเหตุ เข้มโซนนิ่งปลอดเหล้า-จำกัดเวลา วอนผู้เสียหายอย่าเฉยส่งผลผู้ก่อเหตุย่ามใจทำซ้ำ
เมื่อวันที่ 2 เมษายน เวลา13.30 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วย เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายชุมชน กทม. หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึก ต่อนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผ่านทางนางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้ กทม. คุมเข้มปัญหาลวนลามคุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์ และปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นางสาวอังคณา กล่าวว่า ด้วยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายฯ เรามีภารกิจร่วมกันในการรณรงค์สร้างความตระหนัก แก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ลดผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดการฉวยโอกาสในการคุกคามทางเพศ ลดปัญหาอุบัติเหตุ และลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในมิติต่างๆ ทั้งนี้จากการสำรวจความคิดเห็นต่อเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง 1,650 ราย อายุระหว่าง 10-40 ปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือ ร้อยละ59.3เคยถูกฉวยโอกาส ถูกลวนลามคุกคามทางเพศ โดยรูปแบบพฤติกรรมการถูกลวนลาม คือ ถูกจับแก้ม ร้อยละ33.8 เบียดเสียด/จับมือ/จับแขนและใช้สายตาจ้องมองแทะโลม ร้อยละ18.0 ถูกสัมผัสร่างกาย/ล้วงอวัยวะอื่นๆ ร้อยละ 9.6 ส่วนเหตุการณ์ที่เคยเจอทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยช่วงสงกรานต์ คือ ถูกก่อกวนจากคนเมาสุรา/บังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 22.8 รองลงมาปัญหาการทะเลาะวิวาท ปัญหาอุบัติเหตุ
นางสาวอังคณา กล่าวว่า สงกรานต์เสื่อม เพราะมีปัจจัยกระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นกรุงเทพมหานคร ควรเร่งรณรงค์สร้างกระแสให้การเล่นน้ำสงกรานต์อยู่ในกรอบ ให้เกียรติกัน ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม คุกคามทางเพศ ที่สำคัญควรปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเครือข่ายฯ มีข้อเสนอ เพื่อให้กรุงเทพมหานคร นำไปพิจารณา ดังนี้ 1.รณรงค์และประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ในกรุงเทพฯ รับรู้ถึงการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และยังคงกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงมหาดไทย และภาคประชาสังคม ในการร่วมกันเป็นเครือขายเฝ้าระวังให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาการคุกคามทางเพศ โดยกำหนดจุดรับเรื่องร้องเรียนช่วยเหลือในพื้นที่เล่นน้ำ อาทิ ถนนข้าวสาร เซ็นทรัลเวิลด์ มีเจ้าหน้าที่เทศกิจเป็นกลไกทำงานร่วมกัน 3.ขอเจ้าหน้าที่เทศกิจ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 กทม. มีบทบาทในการเฝ้าระวัง กำกับและติดตามการทำผิดกฎหมายฉบับนี้ อาทิ การไม่ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงคนเมาครองสติไม่ได้ การขายตามเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่ส่งเสริมการขายลดแลกแจกแถม เป็นต้น และ 4.มีแผนงานรณรงค์สร้างความเข้าใจ ในเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ การเคารพให้เกียรติในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น การไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ เพื่อทำงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมูลนิธิและภาคีเครือข่ายยินดีให้ความร่วมมือ สนับสนุนอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามช่วงสองสามปีที่ผ่านมาถือว่า กรุงเทพมหานครสามารถควบคุมพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ในจุดสำคัญๆ ให้ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ดี แต่ปัญหาการถูกคุกคามทางเพศ ถูกลวนลามยังขาดความชัดเจนในเรื่องการรับแจ้ง ระงับเหตุให้ความช่วยเหลือ ที่สำคัญตัวผู้เสียหายเองก็ต้องกล้าที่จะปกป้องสิทธิของตัวเอง กล้าร้องขอความช่วยเหลือ มิเช่นนั้นแล้วผู้ก่อเหตุจะยิ่งย่ามใจ มีโอกาสไปก่อเหตุซ้ำกับคนอื่นได้อีก คนที่อยู่รอบข้างก็ควรช่วยเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแล ทั้งนี้มั่นใจว่าหากทำให้พื้นที่เล่นน้ำปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จริง ก็จะช่วยตัดปัจจัยร่วมในการก่อเหตุที่ไม่เหมาะสมลงไปได้มาก