มองภาพเศรษฐกิจไทย หลังเลือกตั้ง เชื่อมั่นไม่ซ้ำรอยวิกฤต ปี 40
มองภาพรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ ภายใต้เงื่อนไขความคาดหวังของเอกชน-ปชช. เชื่อมั่นไทยไม่ซ้ำรอยวิกฤต ศก.ปี 40 ประสบปัญหาเหมือนเวเนซุเอล่า
ปฏิเสธไม่ได้ว่า 'เศรษฐกิจ' เกี่ยวข้องกับ 'ปากท้อง' เเละกลายเป็นนโยบายประชานิยมของเเทบทุกพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่เเน่ชัดว่า พรรคใด ระหว่าง 'พลังประชารัฐ' กับ 'เพื่อไทย' จะเป็นเเกนนำจัดตั้ง 'รัฐบาล' เเละจะบูรณาการนโยบายอย่างไร ภายใต้ห้วงการคาดการณ์ทิศทางของเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้
ขณะนี้ความอยู่รอดของรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะมาถึง หลายฝ่ายออกมาระบุ อาจมีอายุไม่ยืนเหมือนที่คาดหวังไว้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จึงจัดเวทีเสวนา เรื่อง เดินหน้าเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง ภายใต้กิจกรรมเสวนาชุดก้าวเข้าสู่ 70 ปี เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 5 ณ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
เจน นำชัยศิริ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุไม่ได้คาดหวังกับผลการเลือกตั้งครั้งนี้มากเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาภาคเอกชนทำงานด้วยตัวเองอยู่แล้ว จะมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้างในเรื่องกฎหมายหรือนโยบายต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือก่อนหน้านั้น ภาคเอกชนค่อนข้างทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ด้วยรัฐบาลในอนาคตที่จะเกิดขึ้น อาจมีคำถามหรือปัญหาในการออกกฎหมายฉบับใหม่ หรือการแก้ไขปัญหา เพราะคะแนนเสียงระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านใกล้เคียงกัน ทำให้การออกกฎหมายค่อนข้างยาก
อดีตประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงความคาดหวังกับรัฐใน 3 ส่วน แม้อาจไม่ใช่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง แต่เป็นปัจจัยเอื้อให้การทำธุรกิจดำเนินไปได้ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
-คน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องการศึกษาสำคัญที่สุด ซึ่งเท่าที่ติดตาม เรื่องดังกล่าวกลับไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่งเลย
“ไม่มีพรรคการเมืองใดพูดชัดเจนว่าการศึกษาของไทยควรปฏิรูปอย่างไร ถือเป็นความคาดหวังและผิดหวังในอันดับแรก”
-คอร์รัปชัน วันนี้เราพูดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถ้าเราไม่แก้ปัญหาคอร์รัปชัน จะทำให้ต้นทุนทางธุรกิจสูง ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องมีความสำคัญ และไม่มีพรรคการเมืองใดหาเสียงด้วยนโยบายดังกล่าวมากเท่าไหร่
-การแก้ไขกฎกติกาเพื่อให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น รัฐบาลที่แล้วพยายามทำหลายเรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นผลงาน แต่ยังมีอีกหลายเรื่องต้องทำ แต่ยังไม่เห็นว่าจะเป็นไปได้อย่างไร
ทั้งสามเรื่องควรเป็นนโยบายในการหาเสียง แต่ปรากฎว่า นโยบายทั้งหมดแทบไม่ถูกพูดถึงกันเลย ฉะนั้น ถ้าเราดูการหาเสียงในครั้งนี้ ค่อนข้างผิดหวัง เพราะไม่เห็นนโยบายในการหาเสียงในครั้งนี้ของแต่ละพรรคเลย ภาคเอกชนจึงต้องพึ่งตนเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะดิ้นรนกันมาเองอยู่แล้ว
ด้าน รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า รัฐบาลใหม่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจให้ภาคเอกชนและประชาชนได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า จะสานต่อนโยบายเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone: EEZ) ที่เริ่มมีความชัดเจนและทำให้การลงทุนจากภาคเอกชนและต่างประเทศเพิ่มขึ้น
“พรรคเพื่อไทยระบุจะทบทวน ซึ่งสิ่งที่จะทบทวนคืออะไร โครงการไหนไม่คุ้มค่า ไม่ใช่ทบทวน เพราะเหตุผลทางการเมือง แต่เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจหลักหรือไม่ เรื่องความไม่คุ้มค่า ความไม่โปร่งใสในบางโครงการ ซึ่งมีอยู่ หากทบทวนเพื่อประเทศชาติ จะสร้างความมั่นใจในการลงทุนได้”
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการบูรณาการนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ระบุสูตรเดิม กลัวว่าจะเป็นสูตรพรรคไหนบริหารกระทรวงไหน เอานโยบายของพรรคนั้นมาทำ ถามว่ารัฐบาลผสมสามารถบูรณาการนโยบายใหม่ได้หรือไม่ ดังนั้น คอยดูพรรคพลังประชารัฐ จะมีพลังในการบูรณาการนโยบายพรรคภูมิใจไทยได้หรือไม่ โดยเฉพาะกัญชา หากบูรณาการได้ ประชาชนจะทึ่งมาก
รวมถึงการสร้างโอกาสในการทำมาหากินให้ประชาชนและธุรกิจขนาดเล็ก รวมทั้งบริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจ เพราะที่ผ่านมาหาบเร่แผงลอยใน กทม.ถูกจับ ประมง และบริษัทใหญ่เข้าประมูลในบริษัทใหญ่ แล้วไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องสร้างโอกาสในการทำมาหากินของคนและสร้างความเชื่อมั่น
เงื่อนไขสุดท้าย คือ การป้องกันไม่ให้รัฐมนตรีหรือเครือข่าย ผู้มีอำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนูญ คนไม่มีตำแหน่งทางการเมืองทุจริตได้ เวลานี้จะทุจริตไม่ต้องอาศัยรัฐมนตรี แต่ใช้คนไม่มีตำแหน่งทางการเมือง ใช้นอมินีทั้งหมด ดังนั้น จะแก้ไขปัญหานอมินีอย่างไร เพราะที่ผ่านมา เราใช้นอมินีมาโดยตลอดจนกลายเป็นขนบธรรมเนียม
รศ.ดร.นิพนธ์ ยังกล่าวถึงนโยบายที่เห็นว่า สำคัญมากและน่าสนใจ คือ การกระจายอำนาจและการสนับสนุนแข่งขันเป็นธรรม ทลายการผูกขาด ของพรรคอนาคตใหม่, การพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ และบุรีรัมย์โมเดล ของพรรคภูมิใจไทย, การค้าชายแดนและการวิจัยและพัฒนาเกษตรเป็นวาระแห่งชาติ ของพรรคประชาชาติ สุดท้าย นโยบายประเทศไทยปลอดภาษี (นำเข้า) อันดับ 1 ของโลก และอาชีพสงวนคนไทย (ธุรกิจออนไลน์) ของพรรคเศรษฐกิจใหม่
ขณะที่ รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรมัย คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ยืนยันว่า ระยะปานกลาง 4-5 ปีข้างหน้า ต่อให้มีการแจกเพิ่มมากขึ้น จะไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแบบ ปี 2540 หรือแบบประเทศเวเนซุเอล่า อย่างไรก็ตาม คนจะตาสว่างกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันขึ้นเรื่อย ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว แม้จะถูกออกแบบให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ ล็อกไว้ 3-4 ชั้น แต่เชื่อว่า ฉบับนี้จะมีอายุสั้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ภายใน 2-3 ปี แต่จะจากไปด้วยวิธีใดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจถูกแก้ไขบางมาตรา หรือทั้งฉบับ ซึ่งคิดว่า จะมีผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว แต่ถามต่อว่า สังคมต้องจ่ายการแก้รัฐธรรมนูญด้วยต้นทุนเท่าไหร่
อ่านประกอบ:สังคมไทยก้าวสู่สองนครายุคใหม่! ดร.นิพนธ์ ชี้ผลเลือกตั้ง สะท้อนความแตกต่างคน 3 กลุ่ม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/