สวทน. เตรียมการเปลี่ยนผ่านสู่ สอวช. ย้ำให้ความสำคัญ ด้านสังคมและมนุษย์ฯ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ประธานประชุมบอร์ด สวทน. ถกเตรียมการเปลี่ยนผ่านสู่ สอวช. พร้อมย้ำให้ความสำคัญ ด้านสังคมและมนุษยศาสตร์ไม่น้อยกว่าวิทยาศาสตร์ ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เตรียมประชุมนัดแรกในเดือนมิถุนายน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (บวทน.) ครั้งที่ 1/2562 ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 สวทน. โดยมี รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองประธาน และดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการในการประชุม
การประชุมครั้งนี้ได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเตรียมการเปลี่ยนผ่านจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ไปเป็นสำนักงานนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งจะเป็นฝ่ายเลขานุการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการระดับชาติ หรือ Super Board ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแลนโยบายยุทธศาสตร์และกำหนดกรอบงบประมาณ รวมถึงการส่งเสริมการสร้างและพัฒนาบุคลากร และการติดตามและประเมินผลที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ย้ำถึงบทบาทของ สอวช. ว่า ประเด็นสำคัญ 2 ประการ ที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ทั้งระดับประเทศและหน่วยงาน ซึ่งต้องมองอย่างเป็นระบบว่าการรวมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ากับการอุดมศึกษาแล้ว เกิดมูลค่าเพิ่มอะไร จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างไร รวมถึงการขยายผลระบบวิจัยตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางจะไปต่ออย่างไร เอกชนอยู่ตรงไหน และต้องดูแลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสังคมและมนุษยศาสตร์ให้ความสำคัญทัดเทียมด้านวิทยาศาสตร์
“เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ต้องมาคุยกันให้ชัดเจน เพราะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ สอวช. ในอนาคตจะต้องเป็นผู้ประสานสิบทิศ ต้องเดินสายหารือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ ” ดร.พิเชฐฯ กล่าว
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เสนอแนวทางที่จำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยย้ำว่าเป้าหมายของ สอวช. ต้องคำนึงถึงความสุขของประชาชน คุณภาพของคนไทย ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม รวมทั้งทำงานควบคู่กับคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติเพื่อผลักดัน พรบ.การศึกษาแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังต้องทำแผนกำลังคนและเพิ่มคุณภาพคน ให้สอดรับกับงบประมาณที่ต้องดูให้ครอบคลุม
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า สวทน. ได้เตรียมการรองรับการเปลี่ยนผ่านจาก สวทน. เป็น สอวช. โดยทำงานในลักษณะ partnership กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัย เป็นต้น ออกแบบระบบจัดสรรและบริหารงบประมาณ จัดทำนโยบายด้านการพัฒนาสังคม ออกแบบระบบงาน และกระบวนการทำงานสำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นอกจากนี้มีหลายหน่วยงานที่พร้อมร่วมทำวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ สวทน. เช่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (STIPI) เป็นต้น
ทั้งนี้ที่ประชุม ได้ให้ความเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็นเป้าหมายปลายทางว่าการเปลี่ยนผ่านจาก สวทน. ไปสู่ สวอช. นั้น ประเทศชาติจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างไร และจะก่อให้เกิดเป็นสังคมฐานความรู้ได้อย่างไร โดย เลขาธิการ สวทน. รายงานต่อที่ประชุม โดยคาดว่าจะสามารถประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ในนัดแรก ได้ราวเดือน มิถุนายน 2562