เปิดประตูสู่โอกาส... "วันออทิสติกโลก" 2 เมษายน
บุคคลที่เป็นออทิสติก ถูกจัดว่า เป็นแรงงานไม่มีความชำนาญ ได้รับค่าตอบแทนต่ำ มีอัตราการเปลี่ยนงานบ่อย และมีความยากลำบากในการปรับตัวกับสถานที่และเพื่อนร่วมงาน ใน บ้านเราออทิสติกมีไม่ถึง 100 คน ที่มีงานทำ และมีรายได้
วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้เป็น "วันออทิสติกโลก" หรือ “World Autism Awareness Day" เพื่อสนับสนุนให้สังคมเกิดความเข้าใจและการยอมรับของบุคคลที่เป็นออทิสติก
ยูเอ็นได้เริ่มต้นการรณรงค์เรื่องนี้มาตั้งแต่ ปี 2550 ซึ่งที่ผ่านมาการรับรู้เกี่ยวกับ ออทิสซึม (autism awareness ) ถือว่าเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะรูปแบบของออทิสซึม ที่เด็กแต่ละคนที่เป็นออทิสติกก็มีความแตกต่างกันหลากหลายรูปแบบ
“สิบคนก็สิบแบบ ร้อยคนก็ร้อยแบบ"
ปีนี้ยูเอ็นหันเน้นเรื่อง “เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก และการมีส่วนร่วม อย่างแข็งขันของบุคคลทุกภาคส่วน” (Assistive Technologies, Active Participation) พร้อมกับเรียกร้องให้ประชาคมโลกพยายามช่วยกันขจัดอุปสรรคทั้งหลายที่ทำให้บุคคลออทิสติกเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี
เนื่องด้วยมีตัวเลขในประเทศกำลังพัฒนา พบว่า มากกว่า 50 % ของผู้ป่วยนั้นไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกได้
ฉะนั้น ยูเอ็นจึงสนับสนุนให้บุคคลออทิสติก เข้าถึงการใช้เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก หรือ AT ในมิติต่างๆ
- สังคมแห่งเทคโนโลยี: เทคโนโลยีที่ช่วยให้บุคคลออทิสติกสามารถเรียนรู้ ทำงานประกอบอาชีพ และใช้ชีวิตในสังคม. แม้แต่ในสนามเด็กเล่น เป็นต้น
- การใช้ชีวิต เช่น Smart home technology ต้องนำมาใช้ เพื่อการดำเนินชีวิตได้อิสระ
- การศึกษาและการจ้างงาน เช่น การสามารถใช้ Ineternet ในการเรียนรู้ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านการอบรมต่างๆ
รวมไปถึงมิติด้านสุขภาพ อย่าง Telemedicine หุ่นยนต์ในการช่วยเหลือการดำเนินชีวิตของบุคคลออทิสติก การบำบัดด้วยเซลล์ (Stem Cell Therapy) ซึ่งเน้นไปที่การส่งเสริมศักยภาพการทำหน้าที่ของสมอง เป็นต้น
ที่สำคัญ ยูเอ็น เสนอแนะว่า สังคมควรเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีภาวะออทิสติกใช้ชีวิตในฐานะพลเมืองของประเทศนั้น และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม และกิจกรรมต่างๆอย่างเท่าเทียมทั่วถึง รวมถึงสิทธิมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย
นอกจากนี้ ในวันออทิสติกโลก 2 เมษายน ทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ Wear Blue / Share Blue/ Light Blue
- Wear Blue สวมเสื้อสีฟ้า ในวันนี้เพื่อแสดงสัญลักษณ์ สนับสนุน เข้าใจ และยอมรับผู้ที่เป็นออทิสซึม
- Share Blue ถ่ายรูปเซลฟี่ พร้อมกับติดแท็ก #LightItUpBlue
- Light Blue โดยสถานที่ อาคารสำคัญๆ หลายแห่งทั่วโลก จะตกแต่งแสงสีให้เป็นสีฟ้า
จำนวนเด็กออทิสติกทั่วโลก 1:59
ปัจจุบัน จำนวนบุคคลที่มีภาวะออทิซึมทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยมีสถิติจากการสำรวจของหลายประเทศ พบว่า สัดส่วนเด็กที่มีภาวะออทิซึม ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น สัดส่วนในเด็ก 59 คน จะพบเด็กที่มีภาวะออทิสซึม 1 คน หรือ สัดส่วน 1:59
“ออทิสซึม” เป็นโรคที่มีความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง ด้านสังคม ภาษาและพฤติกรรม มีลักษณะโดดเด่นสำคัญคือ เด็กไม่ยอมสบตา ไม่ชอบมองหน้าคนอื่น ไม่สนใจมองตามเมื่อเรียกชื่อ ไม่สนใจผู้อื่น พูดได้ช้ากว่าเด็กปกติ ให้นึกถึงโรคนี้
ในส่วนของประเทศไทย มีข้อมูลจากมูลนิธิออทิสติกไทย ระบุว่า มีผู้เป็นออทิสติกกว่า 3 แสนคน หรือทุกๆ 1,000 คน พบผู้ป่วยออทิสติก 6 คน และดูเหมือนว่า...แนวโน้มจะเพิ่มขึ้นสูงขึ้นมากเรื่อยๆ เช่นกัน
เด็กออทิสติกกลุ่มอายุไม่เกิน 5 ปี จะพบ 1 : 161 คน คาดว่า ทั่วประเทศมีประมาณ 18,220 คน และระดับความรุนแรงของโรคแต่ละคนไม่เท่ากัน
- 10% ของจำนวนที่พบมีความเป็นอัจฉริยะในบางด้าน เช่น การวาดภาพหรือเล่นดนตรี
- 20% มีไอคิวต่ำที่ระดับน้อยถึงปานกลาง และอาจมีปัญหาพฤติกรรมร่วมด้วย แต่สามารถเรียนร่วมและฝึกอาชีพได้
ส่วนที่เหลือ (70%) ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การบำบัดรักษาต้องผสมผสาน ทั้งด้านการส่งเสริมพัฒนาการ การจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม การส่งเสริมอาชีพ การมีงานทำ-การอยู่ร่วมกันในสังคมของเด็กออทิสติก
80% ไม่มีงานทำ
เมื่อมาดูการมีงานทำของบุคคลออทิสติกทั่วโลก พบว่า กว่า 80% ไม่มีงานทำ หรือแม้ว่า จะมีงานทำอย่างในประเทศอังกฤษ ก็พบว่า มีผู้ป่วยออทิสติกวัยผู้ใหญ่ เพียง 16% ที่สามารถทำงานเลี้ยงชีพและมีรายได้
นอกจากนี้ บุคคลที่เป็นออทิสติกยังถูกจัดว่า เป็นแรงงานไม่มีความชำนาญ จึงได้รับค่าตอบแทนในระดับต่ำ มีอัตราการเปลี่ยนงานบ่อย และมีความยากลำบากในการปรับตัวกับสถานที่และเพื่อนร่วมงาน
ในบ้านเรา บุคคลที่เป็นออทิสติกมีไม่ถึง 200 คนที่มีงานทำ และมีรายได้ เลี้ยงดูตนเอง
ฉะนั้น การพัฒนาศักยภาพเด็กและบุคคลออทิสติก ให้ได้เรียนรู้ ฝึกทักษะด้านอาชีพให้สามารถพึ่งตนเองและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ The Sustainable Development Goals (SDGs) จึงนับได้ว่า เป็นก้าวย่างที่สําคัญ
ช่วงที่ผ่านมา สังคมไทยเริ่มได้ยินข่าวภาคธุรกิจหลายแห่งเปิดโอกาสให้บุคคลที่เป็นออทิสติก เข้ามาทำงาน เรียนรู้ เติมประสบการณ์ และใช้ความสามารถ ทั้งที่ร้านกาแฟ For All Thai ร้าน Art Story By Autistic Thai
อย่างร้าน True Coffee นั้น True Coffee ร่วมกับมูลนิธิออทิสติกไทยพัฒนา "บาริสต้า ออทืสติก " บรรจุเข้าทำงาน ใน True Coffee Shop ร้าน True Coffee
หรือภาคราชการ ก่อนหน้านี้ก็มีประกาศของกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตก็ประกาศ เปิดรับสมัครผู้พิการทางออทิสติกเข้าทำงาน
แต่ทว่า เมื่อคิดอัตราส่วนของภาคเอกชนและภาคราชการรวมกันแล้ว ดูยังไม่มากพอ และเป็นประเด็นที่ต้องคอยเคาะ เพื่อให้ประตูสู่โอกาส เปิดอยู่เสมอๆ
ขอบคุุณภาพจาก:
https://www.un.org/en/events/autismday/resources.shtml และ https://www.autismspeaks.org/world-autism-awareness-day