ฉบับเต็มผลสอบ สตง. สาวลึกไส้ในโครงการ DLIT โคราช 264 ล.-พบ รร.ตรวจรับงานไม่มีเอกสารสัญญา
“...จากการตรวจสอบและการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการโรงเรียนจำนวน 49 แห่ง พบว่า การแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจรับพัสดุของโรงเรียนไม่เป็นตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยมีโรงเรียนที่ไม่ได้พิจารณาแต่งตั้งครูหรือเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จำนวน 30 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 61.22 ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมดที่ตรวจสอบ เนื่องจากไม่มีครูหรือบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทางด้านคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังพบว่า การตรวจรับครุภัณฑ์ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 บางโรงเรียนดำเนินการตรวจรับโดยที่ไม่ได้มีเอกสารสัญญา รายละเอียดและคุณลักษณะครุภัณฑ์ที่จัดซื้อ...”
สืบเนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบเชิงป้องกันโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ DLIT ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และ 2561 วงเงิน 232.71 ล้านบาท พบการใช้อุปกรณ์ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ มีความเสี่ยงต่อการบรรลุผลสัมฤทธิ์ของโครงการและการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินไม่คุ้มค่า สาเหตุมาจากการขาดความพร้อมก่อนขอรับการจัดสรรงบประมาณ ขณะที่การดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับปฐมวัยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ DLTV ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ถึง 2564 วงเงิน 1,136.25 ล้านบาท ก็ส่อว่าจะมีปัญหาในลักษณะเดียวกันได้ จึงมีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบพร้อมข้อเสนอแนะไปยังอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ล่าสุดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. แล้ว (อ่านประกอบ : เสี่ยงผลาญงบพันล.! สตง.ชำแหละไส้ในโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาDLIT-DLTV สถ. ปัญหาเพียบ)
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดนครราชสีมา เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ถูกตรวจสอบการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ DLIT ของสตง. ด้วย โดยนับตั้งแต่ปี 2558-2561 ได้รับจัดสรรงบประมาณไปจำนวนทั้งสิ้น 264.98 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดสรรครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ให้กับโรงเรียนในสังกัด เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนครูหรือครูสอนไม่ครบชั้น ขาดสื่ออุปกรณ์ที่ทันสมัย แต่จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานพบปัญหาข้อสังเกตหลายส่วน อาทิ การจัดสรรระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงตามโครงการไม่เป็นไปตามเกณฑ์การจัดสรรและแนวทางการดำเนินงานที่กำหนด การติดตั้งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ได้รับจัดสรรตามโครงการ DLIT ซ้ำซ้อนกับโครงการอื่น ระบบเครือข่ายและความเร็วอินเทอร์เน็ตใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุไม่เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด เป็นต้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำผลสอบ สตง. ฉบับเต็ม โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกล ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLIT) สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา กระทรวงศึกษาธิการ มานำเสนอ ณ ที่นี้
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 4 (จังหวัดนครราชสีมา) ได้ตรวจสอบโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLIT) ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2558–2561 ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 264.98 ล้านบาท ลักษณะการดำเนินโครงการเป็นการจัดสรรครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ให้กับโรงเรียนในสังกัด เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนครู หรือครูสอนไม่ครบชั้น ขาดสื่ออุปกรณ์ที่ทันสมัย จากการตรวจสอบมีประเด็นข้อตรวจพบและ ข้อสังเกตอื่นๆ สรุปได้ดังนี้
ข้อตรวจพบ การจัดสรรระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงตามโครงการพัฒนา คุณภาพ การศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศไม่เป็นไปตามเกณฑ์การจัดสรรและแนว ทางการดำเนินงานที่กำหนด
การดำเนินการจัดสรรระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงตามโครงการ DLIT ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558–2561 ได้กำหนดเกณฑ์การจัดสรรระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงตามโครงการ โดยโรงเรียนที ่ได้รับจัดสรรต้องเป็นโรงเรียนที่มี จำนวนนักเรียนตั้งแต่ 121 คน ขึ้นไป และตามแนวทางการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLIT) กำหนดให้ โรงเรียนต้องติดตั้งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ได้รับการจัดสรรไว้ประจำที่ห้องเรียน เพื่อใช้ เป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบของ DLIT จากการตรวจสอบโรงเรียนที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนด้านการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศภายใต้สังกัดสำนักงานเขต พื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1-7 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 จำนวน 8 เขต ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558–2561 จำนวน 52 แห่ง พบว่า
มีโรงเรียนที่ ได้รับจัดสรรคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์การจัดสรรและแนวทางที่กำหนด จำนวน 50 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 96.15 ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมดที่ตรวจสอบ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.1 การจัดสรรระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงตามโครงการ DLIT ไม่เป็นไปตามเกณฑ์การจัดสรรที่โครงการกำหนด
การจัดสรรระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงของโครงการ DLIT มีการจัดสรรให้กับโรงเรียน ขนาดเล็กจำนวน 14 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 100 ของจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่สุ่มตรวจสอบ การที่โครงการ ดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดสรร ซึ่งกำหนด กลุ่มเป้าหมายเป็นโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีบางโรงเรียนไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากยังไม่มีความพร้อมและศักยภาพในการรองรับโครงการ
1.2 การจัดสรรคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงตามโครงการไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด
โรงเรียนดำเนินการติดตั้งครุภัณฑ์ที่ได้รับจัดสรรโดยไม่ทราบรายละเอียดและเกณฑ์ในการติดตั้งที่ถูกต้อง จึงทำให้โรงเรียนติดตั้งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงในห้องที่ไม่ได้ใช้สำหรับจัดการเรียนการสอน ซึ่งไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดดังนี้
(1) โรงเรียนขนาดใหญ่มีการดำเนินการจัดสรรคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่อพ่วงตามโครงการที่ไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดทั้งหมด จำนวน 6 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 100 ของจำนวนโรงเรียนขนาดใหญ่ที่สุ่มตรวจสอบ
(2) โรงเรียนขนาดกลางมีการดำเนินการจัดสรรคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงตามโครงการที่ไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด จนวน 30 แห่ง คิดเป็น ร้อยละ 93.75 ของจำนวนโรงเรียนขนาดกลางที่สุ่มตรวจสอบ
(3) โรงเรียนขนาดเล็กมีการดำเนินการจัดสรรคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงตามโครงการที่ไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด จำนวน 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 78.57 ของจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่สุ่มตรวจสอบ
ข้อสังเกตอื่นๆ
1. การดำเนินการติดตั้งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ได้รับจัดสรรตามโครงการ DLIT ซ้ำซ้อนกับโครงการอื่น
จากการตรวจสอบและสังเกตการณ์พบว่า นอกจากการจัดสรรระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงของโครงการ DLIT แล้ว โรงเรียนยังได้รับการสนับสนุนในลักษณะเดียวกันจากโครงการอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนครุภัณฑ์สำหรับการเรียนการสอนจากหลายๆ โครงการทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งดำเนินการติดตั้งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงของ โครงการ DLIT ซ้ำซ้อนในห้องเรียนเดียวกันกับโครงการอื่นๆ จำนวน 28 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 53.85 ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมดที่สุ่มตรวจสอบ ซึ่งการที่โรงเรียนได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาจากหลายๆ หน่วยงาน ในโครงการที่มีลักษณะเดียวกัน ทำให้โรงเรียนมีครุภัณฑ์และอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่มากเกินความจำเป็น บางโรงเรียนนำครุภัณฑ์หรือโทรทัศน์เครื่องเดิมที่ยังใช้งานได้ไปไว้ในห้องพัสดุ ห้องเก็บของ หรือห้องอื่นๆ เพื่อรองรับการติดตั้งอุปกรณ์จากโครงการใหม่ที่จะได้รับจัดสรร ทำให้อุปกรณ์ที่ ได้รับจัดสรรเดิมไม่ได้ใช้ประโยชน์ เกิดการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่คุ้มค่า
2. ระบบเครือข่ายและความเร็วอินเทอร์เน็ตใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ตามแนวทางการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLIT) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ได้กำหนดความเร็วขั้นต่ำของอินเทอร์เน็ตในการใช้งานระบบ DLIT ไม่ควรต่ำกว่า 512 kbps ต่อเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 1 เครื่อง และสำหรับสถานศึกษาที่มีความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ไม่สูงมาก ควรจัดสรรเวลาในการใช้งานในแต่ละชั้นให้เหมาะสมและไม่ควรใช้พร้อมกัน
จากการ สังเกตการณ์ในพื้นที่ของโรงเรียน จำนวน 52 แห่ง พบว่า มีโรงเรียนที่ระบบเครือข่ายและความเร็วอินเทอร์เน็ตใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จำนวน 24 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 46.15 ของโรงเรียนทั้งหมดที่ตรวจสอบ โดยสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เสถียรและไม่สามารถใช้งานได้ในบางช่วงเวลา รวมทั้งระบบเครือข่ายและความเร็วของสัญญาณอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่สามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้หากมีการใช้อินเทอร์เน็ตพร้อมกันในหลายช่วงชั้น จะทำให้ความเร็วของสัญญาณลดต่ำลง การเรียนการสอนขาดความต่อเนื่อง
3. การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุไม่เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด
จากการตรวจสอบและการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการโรงเรียนจำนวน 49 แห่ง พบว่า การแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจรับพัสดุของโรงเรียนไม่เป็นตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยมีโรงเรียนที่ไม่ได้พิจารณาแต่งตั้งครูหรือเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จำนวน 30 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 61.22 ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมดที่ตรวจสอบ เนื่องจากไม่มีครูหรือบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทางด้านคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังพบว่า การตรวจรับครุภัณฑ์ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 บางโรงเรียนดำเนินการตรวจรับโดยที่ไม่ได้มีเอกสารสัญญา รายละเอียดและคุณลักษณะครุภัณฑ์ที่จัดซื้อ
4. การบริหารพัสดุของโรงเรียนมีความเสี่ยงในด้านการควบคุมภายใน
จากการตรวจสอบการบริหารพัสดุของโรงเรียน พบว่า ยังมีความเสี่ยงในด้านการควบคุมภายใน โดยมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งอาจส่งผลต่อความเสียหายทางราชการ ได้แก่การจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สินไม่รัดกุม ไม่เป็นปัจจุบัน และบางโรงเรียนไม่มีการลงทะเบียนครุภัณฑ์ที่โรงเรียนจัดซื้อหรือที่ได้รับบริจาคจากเอกชน ตลอดจนครุภัณฑ์ที่ได้รับจัดสรรจากโครงการอื่นๆ รวมทั้งไม่ได้บันทึกข้อมูลในระบบฐานข้อมูลของ สพฐ. ทำให้ในระบบฐานข้อมูลสำรวจครุภัณฑ์ของ สพฐ. ไม่ถูกต้องตรงกันกับทะเบียนคุมทรัพย์สินปัจจุบันของโรงเรียน
ผลกระทบ
1. การดำเนินโครงการโดยการจัดสรรงบประมาณให้กับโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งไม่เป็นไปตาม เกณฑ์การจัดสรรของโครงการ และดำเนินการติดตั้งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงของ โครงการในห้องที่ไม่ได้ใช้สำหรับการจัดการเรียนการสอน ซึ่งไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด ทำให้บางโรงเรียนไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่สอดคล้องตามเป้าหมายของโครงการ ส่งผลให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณในการจัดสรรคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงเกิดความไม่คุ้มค่า เป็นมูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 7.89 ล้านบาท
2. การดำเนินการติดตั้งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ได้รับจัดสรรตามโครงการ DLIT ซ้ำซ้อนกับโครงการอื่น ส่งผลให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดความไม่คุ้มค่าและไม่ประหยัด รัฐเสียโอกาสที่จะนำงบประมาณไปจัดสรรคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนอย่างแท้จริง หรือนำไปจัดสรรสำหรับการสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาในด้านอื่นที่จำเป็นต่อไป
3. ระบบเครือข่ายและความเร็วของสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร ทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่ต่อเนื่องและมีการใช้ประโยชน์จากสื่อการเรียนการสอนและเนื้อหาข้อมูลในเว็บไซต์ของ DLIT ได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ
4. การที่โรงเรียนไม่ได้จัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สินให้รัดกุมและบันทึกข้อมูลในระบบฐานข้อมูลของ สพฐ. ให้ครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน ทำให้ไม่ทราบถึงจำนวนพัสดุที่โรงเรียนมีไว้ ใช้ในราชการ อายุการใช้งาน ระยะเวลาบำรุงรักษา การจัดหาพัสดุทดแทนและการจำหน่ายพัสดุ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีฐานข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน สำหรับนำไปใช้ในการวางแผนนโยบายเพื่อจัดสรรงบประมาณในปีต่อไป
สาเหตุ
1. การพิจารณาจัดสรรงบประมาณของโครงการ DLIT ให้กับโรงเรียนขาดความรอบคอบ โดยก่อนการจัดสรรไม่มีการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละพื้นที่
2. ขาดฐานข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนและเพียงพอสำหรับพิจารณาคัดเลือกโรงเรียน โดยโรงเรียนแจ้งข้อมูลการสำรวจครุภัณฑ์ประจำปีในระบบไม่ตรงกับจำนวนครุภัณฑ์ที่มีอยู่จริง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไม่ได้มีการตรวจสอบ ติดตามการสำรวจครุภัณฑ์ของโรงเรียนให้เป็นปัจจุบัน
3. แนวทางการดำเนินงานที่กำหนดยังไม่มีความละเอียดชัดเจนและเพียงพอให้เจ้าหน้าที่หรือ โรงเรียนที่ได้รับจัดสรรสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
4. ขาดการทำงานเชิงบูรณาการหรือขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด ทำให้การจัดสรรวัสดุ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับโรงเรียนเกินความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกันในหลายโครงการ
5. ระบบเครือข่ายและความเร็วของสัญญาณอินเทอร์เน็ต มีคุณภาพค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถ นำมาใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. การรับย้ายครูหรือบุคลากรทางการศึกษาไม่ตรงกับตำแหน่งหรือความต้องการของโรงเรียน โดยครูที่รับย้ายไม่มีคุณสมบัติหรือวุฒิการศึกษาตรงตามสาขาวิชาที่โรงเรียนต้องการหรือตามสาขาที่ขาดแคลน รวมถึงครูหรือครูผู้ช่วยต้องปฏิบัติงานที่นอกเหนือจากงานสอนปกติ โดยที่ครูหรือครูผู้ช่วย ไม่มีความรู้ความเข้าใจหรือความชำนาญในการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายดังกล่าว
7. บุคลากรขาดความรู้ความเข้าใจ ทักษะและความชำนาญในการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบพัสดุฯ ตลอดจนวิธีการบันทึกข้อมูลในระบบฐานข้อมูล ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ถูกต้อง
ข้อเสนอแนะ เสนอแนะให้ศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. ในโอกาสต่อไปหากมีการจัดสรรและสนับสนุนอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศใน โครงการที่มีลักษณะเดียวกันนี้ ควรมีการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนที่จำเป็นต่อการพิจารณา จัดสรรอย่างรอบคอบ รัดกุม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจัดสรร
2. สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการดังนี้
2.1 กำชับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานพัสดุ ต้องศึกษาและทำความเข้าใจในระเบียบ กระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อให้สามารถดำเนินการด้านการตรวจรับและจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สินให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน
2.2 กำชับให้โรงเรียนในสังกัด สำรวจและบันทึกข้อมูลพื้นฐานในระบบฐานข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ครบถ้วนและให้เป็นปัจจุบัน
2.3 กำกับ ดูแล และติดตามผลการดำเนินการตรวจรับพัสดุและการจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สิน ของโรงเรียนในสังกัดให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด
3. กำหนดมาตรการหรือแนวทางการดำเนินงานให้มีความชัดเจนและซักซ้อมความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติงานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนในสังกัด
4. ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด เพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการ การดูแลบำรุงรักษาวัสดุ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ที่ได้รับจัดสรรจาก โครงการที่ซ้ำซ้อนหรือเกินความจำเป็นของโรงเรียน
5. ควรให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้โรงเรียนในสังกัดสามารถใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูง เพื่อให้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
6. ศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมาในฐานะ
6.1 กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา
6.2 อนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา นำเรียนในที่ประชุมแต่ละคณะเพื่อให้รับทราบปัญหาการรับย้ายครูหรือบุคลากรทาง การศึกษาที่ไม่ตรงกับตำแหน่งหรือความต้องการของโรงเรียน ตามสาขาที่ขาดแคลน และแก้ไขปัญหา ดังกล่าว เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สอดคล้องกับตำแหน่งหรือภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
7. ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาและกระบวนการดำเนินงานของโครงการ ตลอดจนสภาพปัญหา อุปสรรคในการบริหารโครงการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับวางแผนในการรองรับโครงการอื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนโครงการในลักษณะเดียวกัน
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในฐานะที่กำกับดูแล ควรรับทราบข้อมูลดังกล่าวข้างต้น และสั่งการให้มีการควบคุม กำกับ ดูแล ปรับปรุงแก้ไขการดำเนินโครงการให้เป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพ ประหยัด และเกิดความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เจอรร.ตรวจรับงานไม่มีเอกสารสัญญา! สตง.สาวลึกไส้ในโครงการ DLIT โคราช 264 ล.
เสี่ยงผลาญงบพันล.! สตง.ชำแหละไส้ในโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาDLIT-DLTV สถ. ปัญหาเพียบ