นักวิจัยมช.ชี้ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เพิ่มความรุนแรงของโรค - เสี่ยงเกิดมะเร็งในอนาคต
นักวิจัยม.เชียงใหม่ ระบุ ผู้ป่วยโรคปอดอุดตันเรื้อรังในจังหวัดเชียงใหม่ มีการแตกหักของดีเอ็นเอสูงกว่าปกติ 200 เท่า ขณะที่อีกงานวิจัยชี้ PM2.5 ส่งผลโลกร้อนมากขึ้นกระทบกันเป็นลูกโซ่ จับมือ 3 ม.ดังในจีนทำวิจัยร่วมกันหวังตอบโจทย์มากขึ้น
ผศ. ดร.กลิ่นเทียน วรรณภักตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการการศึกษาการแตกหักของดีเอ็นเอในผู้ป่วยโรคปอดอุดตันเรื้อรังในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงที่มีมลพิษทางอากาศสูงและต่ำ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า หลังจากได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของปอด และความถี่ของการเกิดการแตกหักของดีเอ็นเอในเยื่อบุกระพุ้งแก้ม โดยเปรียบเทียบอัตราการแตกหักของดีเอ็นเอในช่วงที่มีมลพิษทางอากาศสูง ค่า PM10 สูงเกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร กับช่วงที่มีมลพิษทางอากาศต่ำ ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจำนวน 58 คน และอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 26 คน ที่อาศัยในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีระดับฝุ่นสูงเกินมาตรฐาน จะมีอัตราการแตกหักของดีเอ็นเอสูงกว่าช่วงเดือนสิงหาคม
นักวิจัย กล่าวว่า คนไข้ที่ป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะมีความไวต่อพิษฝุ่นมากกว่ากลุ่มอาสาสมัครที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยอัตราการแตกหักของดีเอ็นเอในคนไข้กลุ่มนี้จะสูงกว่าคนปกติถึง 200 เท่า ถึงแม้การแตกหักของดีเอ็นเอจะสามารถซ่อมแซมได้ แต่กระบวนการซ่อมแซมต้องอาศัยเวลา ซึ่งหากสัมผัสฝุ่นพิษซ้ำ ๆ ร่างกายทำการซ่อมแซมไม่ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้องรัง อาจส่งผลให้มีการทำลายเนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้น เพิ่มความรุนแรงของโรค และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในอนาคต
ขณะที่ ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล หัวหน้าโครงการ “ผลกระทบร่วมของคุณลักษณะทางเคมีของฝุ่นละอองขนาดเล็ก สภาพภูมิอากาศ และผลต่อสุขภาพ จากการปลดปล่อยการเผาชีวมวลในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย” จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าปั จจุบันสภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งความร้อน อุณหภูมิ และความชื้น ที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีแก๊สต่าง ๆ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งแก๊สเหล่านี้จะช่วยกันผสมโรงทำให้เกิดความเป็นพิษด้วย เมื่อทั้งสองส่วนทำปฏิกิริยากัน ทำให้เกิดความรุนแรงของความเป็นพิษในมลพิษทางอากาศมากขึ้น องค์ประกอบทางเคมีที่อยู่บนฝุ่น PM2.5 สามารถนำสารที่เกาะอยู่บนตัวฝุ่นเข้าสู่ร่างกายได้มากกว่า และลึกกว่า ในปริมาณความเข้มข้นเท่ากับ PM10 โดย PM2.5 จะมีพื้นผิวเยอะกว่าในน้ำหนักที่เท่ากัน เช่น 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ทำให้เรามีความกังวลเรื่องผลกระทบทางสุขภาพจากการสัมผัสฝุ่นจิ๋ว PM2.5 หรือฝุ่นที่เล็กกว่า ไม่ว่าจะเป็น PM1 หรือ PM0.1 (ฝุ่นนาโน) ที่จะเข้าไปในร่างกายลึกมากขึ้นไปอีก
“โลกร้อนจะทำให้ใบไม้แห้งและมีโอกาสเกิดการเผาไหม้มากขึ้น ในทำนองเดียวกันการเผาไหม้ทำให้เกิดสารสู่ชั้นบรรยากาศที่จะดูดซับทำให้เกิดโลกร้อนมากขึ้น เป็นตัวเสริมซึ่งกันและกัน เมื่ออากาศร้อนและเปิดแอร์มากขึ้น ปล่อยความร้อนสู่บรรยากาศมากขึ้น พืชแห้งแล้งมากขึ้น บวกกับอากาศแห้งมาก ๆ จึงเกิดไฟป่า เป็นผลกระทบลูกโซ่ นอกจากนี้พืชที่อยู่ในสภาพอากาศแห้งแล้งมาก ๆ จะต่อสู้ด้วยการปล่อยสารอินทรีย์ระเหยในชั้นบรรยากาศ ทำให้มนุษย์ได้รับผลกระทบ ซึ่งสารดังกล่าวนักวิจัยกำลังให้ความสนใจกันมาก”
ปัจจุบัน ดร.ทิพวรรณกำลังทำวิจัยภายใต้ความร่วมมือกับ 3 มหาวิทยาลัยในประเทศสาธารณรัฐประชาจีน ประกอบด้วย งานวิจัยต้นกำเนิดการเกิดมลพิษร่วมกับมหาวิทยาลัยนานจิง โดยจะส่งตัวอย่างตัวอย่างฝุ่น PM2.5 และแก๊สมลพิษทางอากาศใน 6 พื้นที่ ในจังหวัดเชียงใหม่ และแก๊สมลพิษทางอากาศ ไปทำการวิเคราะห์หาปริมาณองค์ประกอบทางเคมีที่ถูกปลดปล่อยจากการเผาชีวมวลและการจราจร รวมถึงงานวิจัยผลกระทบทางสุขภาพร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เพื่อวิเคราะห์สารที่เข้าสู่ร่างกายในเชิงลึก และงานวิจัยด้านผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับมหาวิทยาลัยชิงหัว โดยสร้างแบบจำลองจากข้อมูลปฐมภูมิจากสารเคมีในฝุ่นและผลกระทบเชิงสุขภาพ ซึ่งจะทำให้ตอบโจทย์ได้มากขึ้น