แรงงานนอกระบบทำงานบ้าน 70% เมินเข้าประกันสังคม ม.40
นักวิชาการจี้รัฐบังคับใช้ กม.จริงจังคุ้มครองคนรับงานไปทำบ้าน-แรงงานต่างด้าว เผยผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่ต้องการเข้าประกันสังคม-ไม่มีเงินจ่าย ส่วนแรงงานข้ามชาติกว่า 3 แสนถูกนายจ้างลอยแพ
เร็วๆนี้ ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมประชากรและสังคม โดย ผศ.ดร.อุมาภรณ์ ภัทวาณิชย์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม กล่าวถึงความเป็นชายขอบกับการเข้าถึงบริการด้านสังคมว่า ผู้ได้รับงานไปทำที่บ้านถือเป็นแรงงานนอกระบบที่ส่วนใหญ่ได้รับเพียงค่าจ้างแรงงานโดยไม่ได้รับสวัสดิการอื่นจากนายจ้างอีกรวมทั้งสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งได้รับเพียงจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาโรค) และผู้ที่รับงานไปทำที่บ้านร้อยละ 70 ไม่ต้องการเข้าระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 เพราะคิดว่าตนมีรายได้ไม่แน่นอนไม่มีเงินจ่ายสมทบ
ดร.อุมาภรณ์ กล่าวต่อว่าผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่คิดว่าพวกตนเป็นคนชายขอบอย่างที่หลายฝ่ายคิด แม้จะไม่ได้รับสวัสดิการเหมือนแรงงานนอกระบบก็ตาม เพราะพวกเขามีความอิสระในการทำงาน และยังได้อยู่กับครอบครัวไม่ต้องโยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในเมืองที่แออัดคุณภาพชีวิตแย่ อย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้ก็ควรได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เช่น ส่งเสริมการรวมกลุ่ม สร้างเครือข่ายทางสังคม ดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน เข้าถึงระบบสวัสดิการสังคมที่นอกเหนือจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนี้ปัจจุบันแม้ภาครัฐจะมีนโยบายช่วยเหลือและมีการออกกฎหมายปี 53 ให้คุ้มครองสิทธิประโยชน์ แต่ยังไม่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเคร่งครัด
ด้านน.ส.บงกช นภาอัมพร นักศึกษาปริญญาโททางสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล กล่าวถึง แรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้าประเทศและยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ แม้จะได้รับการขึ้นทะเบียนตามนโยบายบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลและขออนุญาตทำงานตามกฎหมาย แต่ยังมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศเป็นกรณีพิเศษเพื่อรอการส่งกลับ ทั้งยังถูกจำกัดสิทธิมากมาย โดยเฉพาะสิทธิการเดินทางและการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนอุบัติเหตุเมื่อประสบอันตรายจากการทำงาน
น.ส.บงกช กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีแรงงานได้รับการจดทะเบียนแล้ว 1,011,443 คน ภายในระยะเวลา 1 ปี หลังจากมีการขึ้นทะเบียน ตัวเลขของแรงงานที่มาต่ออายุจะลดลง และแรงงานจำนวนมากจะเปลี่ยนงานและนายจ้าง ทำให้ต้องกลับสู่การผิดกฎหมายอีกครั้ง ประกอบกับขั้นตอนการจดทะเบียนแรงงานที่ยุ่งยากค่าใช้จ่ายสูงทำให้นายจ้างปฏิเสธการนำแรงงานขึ้นทะเบียน ทำให้แรงงานที่เพิ่งอพยพเข้ามาในไทยไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการลงทะเบียนได้ด้วย
“สถิติปี 54 จากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงมหาดไทย ระบุมีแรงงานข้ามชาติ 379,670 คนที่มีสถานะแรงงานที่จดทะเบียน แต่ยังมีสถานะทางกฎหมายที่ไม่ปกติ”
น.ส.บงกช ยังกล่าวว่าควรช่วยให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงกองทุนทดแทนอุบัติเหตุเมื่อประสบเหตุจากการทำงาน โดยเฉพาะแรงงานที่ย้ายถิ่นไม่ปกติและเสี่ยงเข้าสู่วงจรลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ภาครัฐควรปฏิบัติตามนโยบายอย่างจริงจัง และควรให้สิทธิในการรวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรม การศึกษา และปรับทัศนคติคนในสังคมที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ