อบต.ต้นแบบชี้ “สวัสดิการชุมชน” ที่พึ่งเงินรัฐ ไม่ยั่งยืน
นักวิชาการแนะสวัสดิการจะยั่งยืนต้องมาจากฐานคิดชุมชนและองค์กรการเงิน ต้นแบบสัจจะสะสมทรัพย์เมืองจันทน์ฯมองชาวบ้านไปธนาคารเหมือนเสียเอกราชการเงิน รมว.ชุมชนชูธนาคารความดี
วันที่ 3 มี.ค.54 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ คณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน “ฟื้นฟูพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย” มีการเสวนา “ร่วมอภิวัฒน์ประเทศไทย: สวัสดิการสังคมเต็มชุมชน”
โดย รศ.ดร.วรเวศน์ สุวรรณระดา วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ชุมชนที่คิดจะทำสวัสดิการต้องมาจากฐานคิดของตนเองและคำนึงถึงศักยภาพตนเอง และมีข้อสังเกตคือหากมีฐานมาจากองค์กรการเงินอยู่แล้วมักไม่ค่อยมีปัญหา แต่หากตั้งขึ้นมาเป็นกองทุนสวัสดิการโดยตรงต้องระวัง เพราะสังคมผู้สูงอายุกำลังรุกคืบเข้ามา การกำหนดอัตราชดเชยหรือพยายามขยายไปถึงขั้นบำนาญต้องคิดให้รอบคอบและเหมาะสม
พระครูสังฆรักษ์มนัส ขนฺติธมฺโม ประธานเครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ จ.จันทบุรี กล่าวว่า ชุมชนท้องถิ่นเสียเอกราชทางการเงิน เพราะจัดการไม่เป็น เวลาฝากเงินเหมือนนำเงินไปขายให้ธนาคารเพื่อดอกเบี้ยร้อยละ 1-2 แต่เวลาไปกู้จ่ายร้อยละ10 เป็นค่าซื้อเงิน เปรียบเทียบเหมือนพี่มีเงินเอาไปฝากแต่น้องไปกู้มา ทั้งที่เป็นพี่น้องซื้อขายกันเองไม่ได้ ชุมชนจึงเสียเปรียบ ทำมาหากินอย่างไรก็ไม่รวย
“ฐานคิดคือทำอย่างไรจะกักเงินไว้ในชุมชนได้ ก็ต้องสร้างทำนบกั้นเงินไว้ แล้วนำดอกผลที่ได้ไปจัดสวัสดิการ โดยตั้งเงื่อนไขให้ชัดเจนและสร้างวินัยการเงินให้เกิด ให้ชุมชนจัดการเอง นี่คือการให้และรับอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องแบรับการสงเคราะห์หรือหวังพึ่งแค่รัฐบาลอย่างเดียว”
พระครูสังฆรักษ์มนัส กล่าวถึงสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการทำสวัสดิการ คือการสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านเข้าร่วม เพราะโดยทั่วไปคนมักคิดว่าไม่จำเป็น ดังนั้นหากมีกองทุนการเงินมาบริการให้กู้ได้ด้วยจะช่วยสร้างแรงจูงใจได้ พิสูจน์จากการดำเนินงานในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2539 ใช้ฐานองค์กรการเงินเป็นตัวขับเคลื่อน นำกำไรมาจัดสวัสดิการบริหารร่วมในชุมชน ขณะนี้กองทุนการเงินสามารถขยายไปกว่า 120 ล้านบาท สมาชิก 6 หมื่นคน เฉพาะเงินในกองทุนสวัสดิการมีมากกว่า 400 ร้อยล้านบาท
“ตอนนี้ดอกผลชัดเจนแล้ว กองทุนโตเรื่อยๆ สมาชิกเดิมก็ไม่ออกจากสวัสดิการ วันนี้ใครจะเข้าเป็นสมาชิกต้องจ่ายเงินค่าแป๊ะเจี๊ยะคนละ 25,000 บาท แต่ทุกคนเข้าใจว่าจะได้สิทธิประโยชน์อย่างไรบ้าง ต่อให้รัฐไม่ช่วยเราก็อยู่ได้” ประธานเครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ จ.จันทบุรี กล่าว
นายสุจินต์ ดึงย์ไตรภพ รัฐมนตรีสวัสดิการชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ปากพูน กล่าวว่าการทำสวัสดิการต้องคิดเกินกรอบเรื่องเงิน แต่ยึดความดีเป็นตัวตั้ง และขณะนี้ทุกแห่งคิดแค่ค่าชดเชยกรณีเกิดแก่เจ็บตาย แต่หากจะพูดถึงการอภิวัฒน์ประเทศไทย สวัสดิการสังคมต้องปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องความดีบูรณาการเข้าไปด้วย เพราะฐานคิดสวัสดิการคือการให้ไม่ใช่แค่รับ
“ปากพูนใช้การบูรณาการ 4 กองทุนคือ กองทุนสวัสดิการ ธนาคารความดี ธนาคารเวลา และร้านค้าเวลาดี ใช้ความดีสะสมแต้มมาแลกเป็นเงินออม เด็กๆสามารถนำแต้มส่วนหนึ่งไปแลกอุปกรณ์เครื่องเขียน ชุดนักเรียนที่ร้านค้าเวลาดี และจะหักแต้มส่วนหนึ่งไปสมทบกับเด็กคนอื่นๆไปแลกของบริจาคให้กับคนด้อยโอกาสอื่นๆ เท่ากับปลูกจิตสาธารณะให้เด็กๆด้วย” นายสุจินต์ กล่าว
นายไพบูลย์ นุ้ยพิน รองนายก อบต.บ้านควน อ.หลังสวน จ.ชุมพร กล่าวว่าสิ่งสำคัญในการสร้างสวัสดิการเต็มพื้นที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงิน แต่เป็นระบบการจัดการที่ยั่งยืน เช่น บ้านควนทำมา 3 ปี เงินไม่มาก แต่หากมองในแง่ของชุมชนเล็กๆถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะทำในเชิงสร้างบำนาญ มีการทำธนาคารต้นไม้ควบคู่ ให้ทุกคนที่ต้องการเข้ากลุ่มปลูกต้นไม่เพื่อสะสมเป็นเงินออม และให้เด็กที่เกิดใหม่ได้ต้นไม้เป็นเงินขวัญถุงเพื่อสร้างมูลค่าในอนาคต
“การตั้งสวัสดิการเพื่อเอาเงินของรัฐ อย่างที่เป็นกระแสทุกวันนี้ไม่มีทางยั่งยืน เพราะไม่ได้เกิดจากฐานคิดของประชาชนในหมู่บ้าน” นายไพบูลย์ กล่าว.