ตัดวงจรค้ามนุษย์ หยุดให้เงิน ‘ขอทาน’ ร่ำรวยบนทางบุญ (คลิป)
‘อิศรา’ ลงพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยฯ -ราชประสงค์ พบยังมี ‘คนขอทาน’ มูลนิธิกระจกเงา หวังรัฐจัดระเบียบยั่งยืน เร่งตัดวงจรค้ามนุษย์ เเนะหยุดให้เงิน
แม้ปัจจุบันจำนวน ‘คนขอทาน’ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ จะลดลง อันเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายการจัดระเบียบของภาครัฐอย่างจริงจัง โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัญหาดังกล่าวยังไม่หมดไปเสียทีเดียว
เพราะคนไทยยังมีลักษณะนิสัย ‘สงสาร’ คอยหยิบยื่นและแบ่งปันเงินบางส่วนให้ ‘คนขอทาน’ โดยลืมไปว่า พฤติกรรมเหล่านั้นเป็นการส่งเสริมให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย
ทีมข่าวอิศรา ลงพื้นที่ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ใจกลางกรุงเทพฯ พบคนขอทานบนสะพานลอยฝั่งเกาะราชวิถีข้ามไปยังเกาะพหลโยธินกำลังหลับตาตบมือเป็นจังหวะคลอเคล้าด้วยเสียงเพลง มีกระป๋องขึ้นสนิมคอยรับเงินอยู่ตรงหน้า ด้านข้างมีกระเป๋า พร้อมกับน้ำ
ห่างออกไปไม่มาก ตีนสะพานลอยฝั่งเกาะพหลโยธิน มีผู้หญิงหัวโล้น นั่งกอดกล่องรับบริจาค มีป้ายเขียนเป็นผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน เมื่อเข้าไปสอบถาม ทำให้เราทราบว่า เธอมานั่งขอทานตั้งแต่ช่วงสายของวัน และจะนั่งอยู่ตรงนี้จนถึงช่วงเย็น
ทีมข่าวเฝ้าติดตามพฤติกรรม พบว่า เธอมาเพียงคนเดียว เพราะเมื่อเลิกขอทาน เธอได้แวะทานก๋วยเตี๋ยว และขึ้นรถโดยสารปรับอากาศสาย 97 กลับ
วันต่อมา ทีมข่าวลงพื้นที่เดิมอีกครั้ง พบว่า ทั้งสองคนยังคงขอทานอยู่ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ แต่เปลี่ยนจุดการยืนและนั่ง
เช่นเดียวกับราชประสงค์ ย่านธุรกิจชื่อดัง พบคนขอทานนั่งเรียงห่างกันพอประมาณบนฟุตปาธหน้าศูนย์การค้าชื่อดัง ทีมข่าวทำทีนำเงินและอาหารไปให้ พร้อมสอบถามกับชายขอทานคนหนึ่ง ก่อนจะทราบว่า มานั่งขอทานตั้งแต่ 10.00 น. และคาดว่าจะเลิกในเวลา 17.00 น.
เราเฝ้าติดตามพฤติกรรมของชายขอทานรายนี้ ในเวลาไม่ถึง 10 นาที มีคนให้เงินอยู่ตลอด จนกระทั่งชายขอทานรู้ตัวว่ากำลังถูกแอบถ่าย และลุกขึ้นเดินหนีไป
‘วิธนะพัฒน์ รัตนาวลีพงษ์’ หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา กล่าวถึงปัญหาขอทานในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นเด็กจากขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งมักพบมาจาก ‘กัมพูชา’ โดยใช้เส้นทางผ่านช่องอรัญประเทศ จ.สระแก้ว เดินทางด้วยรถไฟ รถตู้ หรือรถโดยสารสาธารณะอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่
“เด็กขอทานส่วนใหญ่จะเป็นเด็กกัมพูชา นายหน้าจะไปจัดหาตั้งแต่เด็กแรกเกิด - 12 ปี เพื่อเข้าสู่วงจร ให้มานั่งขอทานตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเย็น บางคนขอทานนานติดต่อกันถึง 12 ชั่วโมง” เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา กล่าว และว่า เด็กขอทานหนึ่งคนจะขอได้ 300-1,000 บาทต่อวัน ดังนั้นพอรายได้สูงมาก จึงเกิดขบวนการนายหน้าซื้อหรือเช่าเด็กจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเข้ามาขอทาน
เด็กจากประเทศกัมพูชาบางคนจะมีความพิการ ซึ่งไม่ใช่ความพิการจากการถูกตัดแขนตัดขา แต่เกิดจากในประเทศกัมพูชาบางพื้นที่มีระเบิดเก็บกู้ไม่หมดเป็นจำนวนมากตามแนวชายแดน ดังนั้นเมื่อเด็กบางคนเข้าไปหาของป่ากับครอบครัว และเหยียบกับระเบิดเข้า จึงทำให้ร่างกายมีความพิการ นายหน้าจะไปเลือกเด็กลักษณะนี้ที่ร่างกายไม่ค่อยสมบูรณ์มาขอทาน
หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน ยังกล่าวว่า นอกจากนี้เด็กต้องขอทานยังมีสาเหตุจากความยากจนจริง ๆ ซึ่งเป็นผลจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง บางคนมีรายได้จากการประกอบอาชีพไม่เพียงพอในการเลี้ยงดูตนเองหรือบางคนพิการไม่สามารถเข้าสู่ระบบการทำงานได้ จึงตัดสินใจเลือกเข้าสู่วงจรการขอทาน
ข้อมูลยังพบว่า มีเด็กถูกแสวงหาผลประโยชน์จากคนในครอบครัวของเด็กเองด้วย พ่อแม่ไม่ยอมไปทำงาน มีการใช้สารเสพติด โดยใช้เด็กไปขอทานหรือขายสินค้าต้นทุนต่ำเพื่อนำรายได้กลับมาให้ครอบครัว
เขากล่าวว่า ในปัจจุบัน พม.เป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาคนขอทานในประเทศไทยโดยมีการออกนโยบายจัดระเบียบคนขอทาน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ประมาณช่วงปี 2557 ในการลงไปช่วยเหลือคนขอทานข้างถนน
“ที่ผ่านมานโยบายนี้ทำให้คนขอทานตามข้างถนนลดลงจริง แต่ในอนาคตภาครัฐควรจะไปมุ่งเน้นจับกุมกลุ่มที่เป็นผู้นำขอทานเข้ามาแสวงหาประโยชน์หรือว่ากลุ่มนายหน้าค้ามนุษย์ที่มีอยู่ตามแนวชายแดน เพราะตอนนี้ภาครัฐอาจจะไปมุ่งเน้นการช่วยเหลือขอทาน ให้เข้าสู่การสร้างอาชีพ ซึ่งอาจยังไม่เพียงพอ เพราะตราบใดที่เราไม่เข้าไปจัดการขบวนการค้ามนุษย์ก็จะมีการลักลอบพาคนอื่นเข้ามาขอทานเพิ่มขึ้น”
...คนในสังคมต้องมีแนวคิดว่าการให้เงินกับขอทานถือเป็นการส่งเสริมขบวนการค้ามนุษย์ ดังนั้นหากพบเห็นขอทานควรจะหยุดพฤติกรรมการให้เงิน เพื่อไม่เป็นการส่งเสริมให้ผู้อื่นมาทำการขอทาน หรือโทรศัพท์แจ้งเบาะแสที่เบอร์ 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม. เพื่อให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องดูแลต่อไป .
..................................................................................
หมายเหตุ:คำว่า ‘ขอทาน’ ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 มาตรา 13 บัญญัติว่า การกระทําอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการขอทาน
(1) การขอเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อเลี้ยงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการขอด้วยวาจา ข้อความ หรือการแสดงกิริยาอาการใด
(2) การกระทําด้วยวิธีการใดให้ผู้อื่นเกิดความสงสารและส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินให้
การแสดงความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรีหรือการแสดงอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินหรือ ทรัพย์สินจากผู้ชมหรือผู้ฟัง การขอเงินหรือทรัพย์สินกันฐานญาติมิตร หรือการเรี่ยไรตามกฎหมายว่าด้วย การควบคุมการเรี่ยไร ไม่ถือว่าเป็นการขอทานตามพระราชบัญญัตินี้
อ่านประกอบ:กม.คุมขอทาน ประกาศราชกิจจาฯ แล้ว โทษคุกไม่เกิน 3 ปี นายหน้าผู้แสวงหาประโยชน์
ยอดขอทานรบ."บิ๊กตู่"ล่าสุด 1,567 ราย ต่างด้าว 436 ราย"กทม."ครองแชมป์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/