บทวิเคราะห์บีบีซีอังกฤษ : กกต.โดนด่ายับจัดเลือกตั้ง - รบ.ใหม่ เสี่ยงสภาวะอัมพาตในสภา!
"...แม้ว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้ทางรัฐบาลทหารสามารถแต่งตั้ง 250 ส.ว. เพื่อที่จะทำหน้าที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ แต่อย่างไรก็ตามผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นทางการที่ออกมานั้น ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าที่นั่งส่วนใหญ่ใน สภาผู้แทนราษฎร ตกเป็นของพันธมิตร 7 พรรคการเมือง ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคพลังประชารัฐยังขาดเสียงที่สนับสนุนเพื่อจะเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอยู่..."
ฝ่ายใดจะได้เป็นกลุ่มจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคพลังประชารัฐ
คือ ประเด็นสำคัญที่คนทั่วโลกกำลังจับตามองประเทศไทย ในห้วงเวลานี้
ล่าสุด สำนักข่าวบีบีซี อังกฤษ ได้เผยแพร่วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประเทศระบุว่า ผ่านไปเกือบจะหนึ่งสัปดาห์แล้ว สำหรับการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา
แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะได้จัดตั้งรัฐบาล!
แม้ว่าเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการออกมาแล้วว่า พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลทหารนั้นได้คะแนนเสียงป๊อปปูลาร์โหวตมากที่สุดก็ตาม
ส่วนผลคะแนนอย่างเป็นทางการคงต้องไปรอวันที่ 9 พ.ค.
แต่ทว่าการนับคะแนนของ กกต. นั้นก็เต็มไปด้วยข้อกังหาในประเด็นเรื่องความไม่โปร่งใส โดยเฉพาประเด็นการตั้งคำถามว่าทำไมการประกาศผลคะแนนถึงค่อนข้างนาน?
เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งช่วงปี 2554 ที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งค่อนข้างเร็ว
แต่การเลือกตั้งในครั้งนี้ กกต.กลับประสบปัญหาในการนำเอาจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตทั้ง 350 ไปขึ้นบนตารางแสดงผล ว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรค จะมีจำนวน ส.ส.เท่าไร
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการหยุดแสดงตัวเลขผลคะแนนแบบกะทันหัน ไม่สามารถแสดงผลคะแนนได้ โดย กกต.โทษตัวเลขที่มีปัญหาว่าเป็นเพราะการรายงานข่าวของสื่อมวลชน
ก่อนที่จะไปแถลงผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 100 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา
ผลปรากฎว่าพรรคพลังประชารัฐที่มีคะแนนสูงถึง 8.4 ล้านเสียง
ส่วนพรรคฝ่ายตรงข้าม คือพรรคเพื่อไทย ที่เป็นเครือข่ายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ 7.9 ล้านเสียง
แต่ก็ยังสร้างความกระจ่างต่อสังคมไม่ได้ว่า ทำไม กกต.ซึ่งได้รับงบประมาณ และมีเวลาเตรียมตัวตั้งนาน ถึงยังประสบปัญหาการนับคะแนนดังกล่าวอีก
แม้จะมีความพยายามอ้างว่ามีการแฮคระบบไอทีในวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็ตาม?
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งอีก เพราะตามที่ได้เรียนไปเบื้องต้นแล้วว่า กกต.ได้แถลงผลการเลือกตั้งว่ามีผู้ใช้สิทธิจำนวน 65 เปอร์เซ็นต์ ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
แต่อยู่ดีๆตัวเลขนี้กลับพุ่งไปที่ 75 เปอร์เซ็นต์ในการแถลงของ กกต.เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่าน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีใครคอยอยู่เบื้องหลังบงการตัวเลขการนับคะแนนนี้หรือไม่ ส่งผลทำให้ขณะนี้มีประชาชนที่ร่วมกันลงชื่อให้ถอดถอน กกต.ทั้ง 7 คน พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 8 แสนคนแล้ว
ขณะที่องค์กรต่างชาติที่เฝ้าจับตาดูการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ได้วิจารณ์ กกต. อย่างรุนแรงในประเด็นเรื่องการขาดประสิทธิภาพในการจัดการการเลือกตั้ง
@ แล้วใครละจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลได้
แน่นอนว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้นจะยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งผ่านพ้นวันที่ 9 พ.ค.ซึ่งเป็นวันที่กกต.จะประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการ ซึ่งช่วงเวลาระหว่างนี้ จะเป็นช่วงเวลาที่ กกต.สามารถให้ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดงกับผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งได้ รวมไปถึงจัดการเลือกตั้งใหม่ในบางท้องที่ก็สามารถทำได้ ถ้าหากจำเป็น
ซึ่งในช่วงเวลาก่อนถึงวันที่ 9 พ.ค. นับเป็นช่วงเวลาแห่งการเดิมพันครั้งสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่
แม้ว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้ทางรัฐบาลทหารสามารถแต่งตั้ง 250 ส.ว. เพื่อที่จะทำหน้าที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไปได้
แต่อย่างไรก็ตามผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นทางการที่ออกมานั้น ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าที่นั่งส่วนใหญ่ใน สภาผู้แทนราษฎร ตกเป็นของพันธมิตร 7 พรรคการเมือง ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคพลังประชารัฐยังขาดเสียงที่สนับสนุนเพื่อจะเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอยู่
สถานการณ์นี้ก็หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์นั้นแม้จะสามารถเอาชนะในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่รัฐบาลใหม่จะตกอยู่ในสภาวะอัมพาตในเวทีรัฐสภาโดยสิ้นเชิง
ดังนั้น ในตอนนี้จึงปรากฏภาพการต่อรองที่นั่งทางการเมืองกันอย่างดุเดือดกับพรรคการเมืองที่ยังมีจุดยืนไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนฝ่ายไหน อาทิ พรรคภูมิใจไทยที่ได้ที่นั่ง ส.ส.ประมาณ 50 ที่นั่งขึ้นไป
@ การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นธรรมหรือไม่
เครือข่าย ANFREL หรือ Asian Network for Free Elections ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่าเครือข่ายแห่งเอเชียว่าด้วยการเลือกตั้งอันสุจริตและเที่ยงธรรมแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นเครือข่ายนานาชาติที่ติดตามการเลือกตั้งของประเทศไทยมาโดยตลอด ได้วิพากษ์การเลือกตั้งครั้งนี้เอาไว้ชัดเจนว่าไม่ใช่การเลือกตั้งที่อิสระและยุติธรรม และยังได้วิจารณ์ด้วยว่าการเลือกตั้งนั้นมีลักษณะการเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
โดยมีรายงานว่ามีการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ไปยังผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งที่น้อยมาก และยังมีการจำกัดสิทธิในการแสดงออกเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย
แม้คนไทยเป็นจำนวนมากจะตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานอันน่าเชื่อถือพอที่จะพิสูจน์ได้ แม้ว่าจะมีการรายงานถึงความไม่ชอบมาพากลในหลายกรณีก็ตาม
อย่างไรก็ดี ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งนั้น ยังมีความเชื่อว่าผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการที่ปรากฎออกมาเบื้องต้นนั้นสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปแล้ว
แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยก็คือ กกต.นั้นเสียความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมากจากการเลือกตั้งครั้งนี้ และยังถูกจับตามองอย่างต่อเนื่องจากหลายภาคส่วน
ดังนั้น ในช่วงสัปดาห์นับจากนี้ไป จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ กกต. จะต้องแสดงออกถึงจุดยืนในการทำงาน จัดการกับข้อร้องเรียนต่างๆ ด้วยความยุติธรรมและความโปร่งใส ด้วยความคาดหวังที่ว่า กกต.นั้น จะสามารถจัดจำนวนกับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จำนวน 150 คน ได้อย่างสุจริต
@ คนไทยจะยอมรับผลการเลือกตั้งได้หรือไม่
แน่นอนว่ามีคำถามตามมาถึงการประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่แสดงความผิดหวังอย่างรุนแรงต่อผลการเลือกตั้งที่ออกมา และต่อกรณีที่พรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่งมากเท่านี้
ขณะที่ในท้องที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ให้การสนับสนุนนายทักษิณ ก็เริ่มที่จะมีท่าทีถึงความระส่ำระส่ายเกิดขึ้นมาบ้างแล้ว อันสืบเนื่องมาจากขีดความสามารถของพรรคเพื่อไทยที่เริ่มดูท่าจะลดน้อยถอยลงไป
สิ่งที่จะต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิด ก็คือภายใน 6 สัปดาห์นับจากนี้ จะมีปัจจัยใหม่ๆ ที่จะไปขัดขวางแนวร่วมพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลทหารในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่
หรือปัจจัยใหม่ๆที่ว่านี้ก็อาจจะเป็นสิ่งที่จะหยุดยั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ให้ได้บริหารประเทศต่อไปได้เช่นกัน
ถ้าหาก กกต. ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งจนเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขที่นั่ง ส.ส. ไปเป็นจำนวนมาก จากเดิมที่มีการคาดการณ์เอาไว้ ณ ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งการคำนวณที่นั่ง ส.ส.กันใหม่ หรือจากการลงโทษผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส. ที่กระทำผิดกฎการเลือกตั้ง ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แน่นอนว่าจะเกิดการคัดค้านอย่างรุนแรงตามมาจากภาคประชาชน
และเช่นเดียวกัน ถ้ากลุ่มขั้วที่สนับสนุนทหาร ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าว ส.ส.ให้ย้ายข้างมาสนับสนุนได้ ก็จะเกิดความโกรธแค้นในสังคมอีกเช่นกัน
(เรียบเรียงจาก:https://www.bbc.com/news/world-asia-47743481)
ทั้งหมดนี่คือ มุมมองของสื่อต่างชาติ ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มสถานการณ์ประเทศไทย ที่ค่อนข้างจะน่าเป็นห่วง และเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญ ร่วมกันหาทางออก ป้องกัน ยับยั้ง ไม่ให้เกิดเหตุร้ายกับประเทศซ้ำรอยเหมือนในอดีตที่ผ่านมาได้อีก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/