วช.เจาะลึก6ยุทธศาสตร์วิจัยชาติแนะชุมชนพัฒนาพลังงานทางเลือกนำของดีสู้เออีซี
เวทีประชุมวิจัยแห่งชาติเจาะลึก6ยุทธศาสตร์เน้นเป้าหมายใช้ประโยชน์ได้จริง จี้รัฐเร่งสร้างสามัคคีทำโลจิสติกส์แข่งลาว-กัมพูชา แนะชุมชนพัฒนาพลังงานทางเลือกรักษาสวล.นำจุดเด่นใช้ของดีท้องถิ่นแข่งขันอาเซียน
วันที่ 4 ก.ค. 55 ที่โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดประชุมวิพากษ์ร่างยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติใน 6 หัวข้อประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การวิจัยและการพัฒนาของการเป็นประเทศในประชาคมอาเซียน (เออีซี) การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการพลังงาน ความหลากหลายทางชีวภาพสิ่งแวดล้อมและการวิจัยในพื้นที่สูง โดย ศ.นพ.สิทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการสภาวิจัย กล่าวว่า วช.ในฐานะหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยการวิจัยได้จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติและยุทธศาสตร์การวิจัยส่วนภูมิภาค เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทาง โดยเล็งเห็นความสำคัญการวิจัยแบบมุ่งเป้าเจาะลึกเพื่อเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างยั่งยืน
“วช.มุ่งหวังที่จะได้ยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติรายประเด็นแบบมุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศโดยเร่งด่วนในกรอบ 5 ปีระหว่างปีพ.ศ.2555-25559 ที่จะเป็นพลังสำคัญในการแก้ปัญหา สร้างความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”
เลขาธิการสภาวิจัย กล่าวต่อและให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การจัดทำยุทธศาสตร์เออีซี เพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ภาครัฐ การศึกษา ธุรกิจ และอุตสาหกรรมส่วนการบริหารจัดการน้ำก็เพื่อให้ได้ยุทธศาสตร์การบริหารที่ทั่วถึงเป็นธรรมและยั่งยืน พัฒนาแหล่งน้ำตามศักยภาพให้มีความสมดุล ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างบูรณาการ ป้องกันและบรรเทาภัยที่เกิดจากน้ำ ขณะที่ยุทธศาสตร์ด้านพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานของไทย การพึ่งพาตนเอง สามารถพัฒนาพลังงานใหม่ ลดการนำเข้าเพื่อการนำพาประเทศสู่การเป็นผู้นำพลังงานสะอาด ยุทธศาสตร์การวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายฯ สร้างกลไกการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์จากการพัฒนา นำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนและประเทศ
“สำหรับยุทธศาสตร์ในด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ และเทคโนโลยี สอดรับการบริหารจัดการ การป้องกัน บำบัดและฟื้นฟูสภาวะแวดล้อม ส่วนยุทธศาสตร์สุดท้ายคือเรื่องการวิจัยพื้นที่สูง เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น รักษาคุณค่าและสร้างประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูง เพิ่มช่องทางสร้างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจได้”ศ.นพ.สิทธิพร กล่าว
ด้าน พล.อ.วิชิต สารทรานนท์ กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ กล่าวในมิติของยุทธศาสตร์เออีซีที่กำลังได้รับความสนใจจากประชาชนทั้งประเทศ เพื่อเตรียมเข้าร่วมประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้าว่า การทำงานของชุมชนต้องคำนึงถึงจุดเด่น ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวหรือการเกษตรให้ทำเป็นหัวใจสำคัญ ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่เช่นนั้นการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะเป็นการเข้าร่วมเปล่าประโยชน์ ทำให้เกิดความเดือดร้อน เมื่อสินค้าต่างประเทศเข้ามาตีตลาดจะกลายเป็นภาวะข้าวของแพง เกิดความวุ่นวายกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการปฏิรูปหลายๆอย่าง รวมทั้งรัฐต้องสร้างความสามัคคีของคนในชาติ เพื่อให้ไทยเป็นผู้นำ ไม่เช่นนั้นแนวโน้มที่อินโดนีเซียจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำอาเซียนก็เป็นจริงแน่นอน
“คนทำงานวิจัยมีความรู้มากมายแต่ไม่มีส่วนร่วมกับภาครัฐ ทำงานวิจัยแล้วไม่มีใครเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนา ดังนั้นทำอย่างไรที่รัฐจะเข้ามาส่งเสริมบทบาทและนำงานไปใช้ ซึ่งต้องเร่งทำไม่เช่นนั้นอีก 2 ปีไทยไม่มีทางก้าวทันลาว หรือเขมร โดยเฉพาะตอนนี้ลาว เขมรมีการลงทุนเรื่องโลจิสติกส์กันคึกโครมแล้วแต่ไทยยังไม่มีการสร้าง ยังไม่มีการขยับตัวในเรื่องนี้” กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ กล่าว
ขณะที่ ดร.วสันต์ จอมภักดี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิพากษ์การจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำและข้อเสนอแนะ กล่าวว่า สำหรับการวิจัยเรื่องน้ำควรกำหนดการวิจัยลักษณะบูรณาการ การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เน้นการอยู่ร่วมกันกับน้ำเหมือนในอดีตที่ไม่ใช่มองน้ำเป็นภัย พัฒนาอย่างสมดุล โดยให้ความสำคัญกับต้นน้ำ แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ อุทกภัย น้ำเสีย พัฒนาโครงสร้างการจัดการน้ำอย่างมีระบบ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำบนดินใต้ดิน นำเทคโนโลยีสร้างองค์ความรู้ พัฒนาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ปรับปรุงระบบกระจายน้ำพื้นที่ขาดแคลนให้ทั่วถึงศึกษาวิจัยแก้มลิงธรรมชาติและที่สร้างขึ้น ป้องกันพื้นที่กัดเซาะ ปรับปรุงการเกษตรในพื้นที่รับน้ำนองสร้างเครื่องมือตรวจวัดดินโคลนถล่มป้องกันความเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม โดยการมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เสนอแนะในเรื่องศาสตร์ด้านพลังงานว่า ควรเพิ่มประสิทธิภาพอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปรับปรุงประสิทธิภาพการผันน้ำ ปรับปรุงมุ่งเน้นสู่การพัฒนาพลังงานในชุมชน ปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิต ลดค่าใช้จ่าย พัฒนาเตาเผาขยะชุมชน เพื่อการบริหารจัดการขยะในชุมชนโดยให้เทศบาท อบต.เข้ามาดูแลในการบริหารจัดการโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งให้ท้องถิ่นผลิตชีวะมวลในชุมชนให้มีประสิทธิภาพ ทั้งการหมัก การเผาไหม้ ควรทำให้มีการวิจัยเพื่อพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งผลิตพลังงานหมุนเวียนที่เป็นทางเลือกที่เหมาะสม มุ่งเน้นพัฒนาสายพันธุ์พืชที่สามารถนำไปพัฒนาผลิตพลังงานได้ เช่น สบู่ดำ อีกทั้งวิจัยและพัฒนาพลังงานกังหันลม กังหันน้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพัฒนาแก๊สชีวภาพจากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อลดโลกร้อน แสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ที่เหมาะสม