อดีตรอง ผจก.ธกส.ชี้ชุมชนไม่เคยรวยจากนโยบายรัฐ ยิ่งปล่อยกู้ยิ่งพอกหนี้
“เอ็นนู” ชี้รัฐพัฒนาด้วยพิมพ์เขียวเดียวทุกพื้นที่ไม่ได้ แนะเริ่มจากเศรษฐกิจครัวเรือนขยับสู่หมู่บ้านสานเป็นเครือข่าย “ดร.นวลน้อย”มองกระจายอำนาจคิดดี-ปฏิบัติเหลว สร้างฐานการเมืองท้องถิ่นใช้งบแทนชาวบ้าน ชุมชนต้นแบบแนะแนวสัมมาชีพ ศูนย์ข้าวครบวงจร-ฟื้นตลาดโบราณ
วันที่ 2 มี.ค. 54 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ ร่วมกับคณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดงาน “ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย” โดยมีการเสวนา “ร่วมอภิวัฒน์ประเทศไทย: ชุมชนท้องถิ่นจัดการเศรษฐกิจตนเอง”
นายรัฐพล ดุลวรรธนะ รองประธานคณะกรรมการโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า วิถีชุมชนท้องถิ่นเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เพราะรัฐบาลไม่ปล่อยให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง แต่ระยะหลังชุมชนเริ่มตื่นตัวและเข้มแข็งขึ้น ตนเชื่อมั่นว่าหากแต่ละท้องถิ่นสามารถเชื่อมกันได้ อีก 5 ปีข้างหน้าจะมีบทบาทกำหนดอนาคตประเทศแทนรัฐบาล
“ทุกวันนี้มีท้องถิ่นที่พึ่งตนเองอยู่มาก ถ้าทำฐานให้เชื่อมกันเป็นเครือข่ายได้หมด จะได้เห็นกันว่ารัฐส่วนกลางที่ใช้ระบบบริหารแบบเดิมกับท้องถิ่น ใครจะยืนอยู่ปากเหวก่อนกัน” นายรัฐพล กล่าว
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า รัฐบาลทุกสมัยต้องการคะแนนเสียง ดังนั้นนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนที่ลงไปจึงทำในลักษณะคิดแทนชาวบ้าน ฝันว่าอาชีพที่สนับสนุนจะทำให้เกิดความร่ำรวย สั่งธนาคารรัฐอย่าง ธ.ก.ส.เอาเงินลงไปช่วยแล้วจบ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าชาวบ้านไม่ร่ำรวยขึ้น แต่กลายเป็นหนี้ซ้ำซาก ทั้งนี้แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน จะใช้พิมพ์เขียวใบเดียวกันไม่ได้
“สิ่งที่แก้ปัญหาได้และได้รับการพิสูจน์แล้วจากเกษตรกรจำนวนไม่น้อยคือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่บอกว่าชนบทจะดีต้องเริ่มที่ครัวเรือนให้พอยู่พอกินให้ได้ก่อน ค่อยรวมเป็นหมู่บ้านหรือชุมชนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและขยับมาสร้างเครือข่าย”
นายเอ็นนู กล่าวต่อไปว่าเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ชุมชนจัดการเศรษฐกิจตนเองได้คือ แผนปฏิบัติการ ซึ่งควรเป็นเนื้อเดียวกันทั้งแผนชุมชนและท้องถิ่น โดยผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เพราะมีหลักการตามรัฐธรรมนูญและงบประมาณระดับหนึ่ง สามารถจัดเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่สำคัญคือเป็นหน่วยที่อยู่ในพื้นที่ทำงานต่อเนื่องได้ แต่ต้องมีโจทย์และคำตอบที่สนองต่อชุมชน เกิดแผนปฏิบัติการที่แก้ปัญหาเป็นรูปธรรม เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเกิดกลไกอัตโนมัติที่นำไปใช้ในการแก้ปัญหาอื่นๆต่อไป
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจนอกระบบ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทบาท อปท.ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนว่า ต้องยอมรับว่าทรัพยากรส่วนกลางที่ลงไปยังท้องถิ่นตามนโยบายกระจายอำนาจนั้นมีแนวคิดดี แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ดีอย่างที่ชาวบ้านต้องการ แต่กลับสร้างอำนาจท้องถิ่นในมือของคนบางกลุ่มและซึ่งไม่ฟังเสียงชาวบ้าน
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวว่า การสร้างกลุ่มเศรษฐกิจชุมชนให้ยั่งยืน ต้องฟื้นฟูภูมิปัญญาชุมชนที่มีอยู่มาต่อยอดพัฒนา แต่ปัญหาคือ อปท.ส่วนใหญ่ไม่สนใจ ทำงานแบบผักชีโรยหน้าแล้วสร้างภาพว่าชุมชนมีส่วนร่วม เอางบไปทำกิจกรรมแล้วจบ รวบแผนที่ชุมชนเสนอไว้ในแผน อปท.เพื่อจัดการงบประมาณ แต่ทำได้จริงแค่ 30% และบอกไม่ไดว่างบถูกใช้จริงอย่างไร
นายธาดา อำพิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)อุทัยเก่า จ.อุทัยธานี กล่าวถึงรูปธรรมการพัฒนาในพื้นที่ว่า อบต.ได้เข้าไปช่วยตรวจสอบปัญหาชาวบ้านร่วมกับทีมอาสาสมัครหมู่บ้าน ใช้บัญชีครัวเรือนเป็นเครื่องมือ ทำให้ค้นพบว่า ชาวบ้านมีปัญหาหนี้สินกว่า 400 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าสารเคมีการเกษตร จึงได้ร่วมประชุมหาทางออกกับชุมชน แนะนำให้หมู่บ้านที่มีศักยภาพทำปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และขยายฐานอาชีพตามความเหมาะสมของแต่ละหมู่บ้าน
นางสุวรรณา เมืองพระฝาง หัวหน้าสถานีอนามัย ต.นาบัว อ. จ.พิษณุโลก กล่าวว่างานพัฒนาในพื้นที่เริ่มจากเวทีวิชาการชาวบ้านเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนปัญหา และแบ่งงานกันทำ นำไปสู่การประกาศนโยบายสาธารณะปีละ 1 เรื่องเพื่อสะท้อนปัญหาและความต้องการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังนำบัญชีครัวเรือนที่แต่ละครอบครัวทำมารวมกันทั้งหมู่บ้านแล้วคืนกลับเป็นฐานข้อมูลชุมชน และยังมีการปลูกฝังให้เยาวชนหัวทำบัญชีครัวเรือนเพื่อสร้างนิสัยในการใช้เงินที่ดี
“เวลามีนโยบายจากรัฐลงไป คนนาบัวไม่ได้ปฏิเสธ แต่เลือกวิธีปฏิบัติเอง เช่น เราทำตัวเลขมูลค่าการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนเพื่อตั้งคำถามไปที่กรมป่าไม้ว่า ถ้าเอาป่าตรงนี้เราไป จะช่วยเราอย่างไร ถ้าตอบไม่ได้ ก็ควรปล่อยให้ชุมชนดูแลป่าเอง” นางสุวรรณา
จากเวทีแลกเปลี่ยนการสร้างสัมมาชีพในชุมชน นายสิริชัย เหรียญทองชัย กรรมการศูนย์ข้าวครบวงจร อบต.คอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่าปัญหาดั้งเดิมคือเกษตรกรเชื่อว่าการใช้สารเคมีทำให้ผลผลิตดีและรวดเร็ว แต่กลุ่มเริ่มทำเป็นแบบอย่างให้เห็นข้อดีของการทำนาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ผลิตเอง ในที่สุดเกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด กลุ่มสารชีวภัณฑ์ โรงสีข้าวชุมชน กลุ่มเพาะกล้า กลุ่มผลิตเม็ดพันธุ์ข้าว และเป็นวิสาหกิจชุมชนบ้านคลองกล้วย ทั้งนี้การสร้างกิจกรรมเรื่องข้าวครบมิติทำให้กลุ่มสามารถตั้งราคาขายเองได้ แก้ปัญหาพ่อค้าคนกลางกดราคา
นายมนัส ตั๊นงาน ที่ปรึกษาตลาดโบราณนครเนื่องเขต อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงการร่วมแรงร่วมใจของชุมชนพลิกฟื้นตลาดเก่าขึ้นมา เพื่อสร้างอาชีพรองรับให้ลูกหลานกลับคืนท้องถิ่น และทำให้เยาวชนในพื้นที่ได้ทำกิจกรรม รู้จักค้าขาย มีรายได้ ปัญหายาเสพติดก็ลดลง ซึ่งปัจจุบันตลาดแห่งนี้เปิดบริการนักท่องเที่ยวแค่วันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่ชุมชนกำลังพยายามผลักดันให้เปิดบริการทุกวัน.