เปิดทีโออาร์ระบบ Rapid Report กกต.ช่วงลงเสียงประชามติ59 ก่อนเลือกตั้งปี 62 เจอปัญหาเพียบ
“…ผู้รับจ้างต้องดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ ออกแบบ และพัฒนาโปรแกรมสำหรับระบบบริหารจัดการแอปพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฟนเพื่อรายงานผลคะแนนออกเสียงผ่านเว็บไซต์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของสำนักงาน กกต. เช่น จำนวนบัตร จำนวนผู้มีสิทธิทั้งชายและหญิง มีการระบุด้วยว่า จำนวนบัตรดี + จำนวนบัตรเสีย/บัตรเสียทั้งฉบับ ต้องเท่ากับ จำนวนบัตรที่ใช้ และระบบต้องแจ้งเตือนเมื่อมีข้อมูลผิดพลาด และมีระบบให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบบันทึก และ/หรือ แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องได้…”
ปัญหาเกี่ยวกับระบบการนับคะแนนผลการเลือกตั้งของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูในสังคม
เบื้องต้น นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. ยอมรับว่า ระบบดังกล่าวเคยล่มมาแล้ว 3 ครั้ง รวมถึงในวันนับคะแนนเลือกตั้งด้วย คาดว่าเกิดสาเหตุเกิดจากการถูก Hack และ Human Error (ความผิดพลาดของคน) อย่างไรก็ดีกำลังหาสาเหตุที่แท้จริงอยู่ คาดว่าจะทราบผลภายใน 2 วัน (อ่านประกอบ : 9 พ.ค.ประกาศผลเลือกตั้งทางการ! กกต. ยันระบบนับคะแนนล่ม เหตุโดนแฮ็ค-คนทำผิดพลาด)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2562 สำนักงาน กกต. ร่วมมือในการรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ผ่านระบบ Rapid Report โดยการประสานความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือสำนักงานพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เดิม และสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ในการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อย่างไม่เป็นทางการ ผ่านแอปพลิเคชัน Rapid Report เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ (อ้างอิงข้อมูลจาก เว็บไซต์สำนักงาน กกต.)
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ระบบ Rapid Report นั้น ถูกใช้ตั้งแต่สมัยการลงคะแนนเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 โดยขณะนั้นสำนักงาน กกต. จ้างพัฒนาระบบงานตามโครงการพัฒนานวัตกรรมการเลือกตั้ง และการออกเสียงประชามติ กิจกรรมการเตรียมระบบ ECT Rapid Report (จัดทำแอปพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฟน เพื่อรายงานผลคะแนนออกเสียงประชามติ) โดยประกาศราคากลางอยู่ที่ 197,950 บาท อ้างอิงแหล่งที่มาราคากลางจาก 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท พงษ์อุดม อินโนเวชั่น ซิสเต็มส์ จำกัด บริษัท สยามซอฟแวร์ โซลูชั่น จำกัด และบริษัท มินพินอินเตอร์แอคชั่น จำกัด
โดยก่อนหน้าการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เดิม ดำเนินโครงการจ้างพัฒนานวัตกรรมการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ กิจกรรมการพัฒนาระบบการรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2560 โดยบริษัท สยามซอฟแวร์ โซลูชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ด้วยวงเงิน 2.7 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2560 (อ่านประกอบ : ก่อนระบบล่ม! กกต.ร่วม สนง.พัฒนา รบ. ดิจิทัล ปรับปรุงแอปนับคะแนน-เอกชนได้งาน 2.7 ล.)
ขณะที่ในการพัฒนาปรับปรุงระบบ Rapid Report ในช่วงทำประชามติปี 2559 ที่ระบุราคากลางอยู่ที่ 197,950 บาทนั้น ยังตรวจสอบไม่พบว่า บริษัทใดเป็นผู้ชนะการประกวดราคาครั้งนั้น
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ‘เนื้อใน’ ของระบบ Rapid Report เป็นอย่างไร ต้องรายงานอะไรบ้าง ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเอกสารร่างขอบเขตงาน (TOR) ของระบบ Rapid Report ที่ใช้ในการทำประชามติปี 2559 มานำเสนอให้ทราบ ดังนี้
หลักการและเหตุผลของสำนักงาน กกต. ในการจัดทำระบบ Rapid Report สรุปได้ว่า มติที่ประชุม กกต. ครั้งที่ 25/2558 เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2558 ให้สำนักงาน กกต. เตรียมความพร้อมในการดำเนินงานการจัดให้มีการออกเสียงประชามติไว้เป็นการล่วงหน้า เพื่อเป็นเครื่องมือในการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ รวมทั้งสามารถติดตามผลการรวมผลคะแนนของหน่วยออกเสียงในระดับอำเภอเพื่อให้ทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
เนื่องจากการรายงานผลประชามติเมื่อปี 2550 (ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550) สำนักงาน กกต. จัดทำโปรแกรมแบบ Web Base Application ให้สำนักงาน กกต.จังหวัดบันทึกข้อมูลรวมศูนย์ประมวลผลระดับอำเภอผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งต้องรอจนกว่ากรรมการประจำหน่วยออกเสียงจะเดินทางมาส่งเอกสาร บางหน่วยอยู่ห่างไกลใช้เวลาเดินทางนาน บางหน่วยอยู่ใกล้แต่มาส่งผลคะแนนช้า จึงไม่มีเครื่องมือติดตามผลการรวมคะแนนของหน่วยออกเสียง ไม่ทราบว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร และเป็นสาเหตุทำให้การรวมผลคะแนนล่าช้า
ปัจจุบันสมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือสื่อสารในชีวิตประจำวัน ที่เป็นที่นิยม และเข้าถึงได้ง่ายทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนทั่วไป สามารถจัดทำแอปพลิเคชั่นใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ สำนรักงาน กกต. จึงจัดทำโครงการ ECT Rapid Report ขึ้นดังกล่าว
ในส่วน TOR ระบุว่า ผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ ออกแบบ และพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฟนเพื่อรายงานผลคะแนน โดยสามารถบันทึกผลคะแนนเป็นรายหน่วยได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ระบบการบันทึกข้อมูล ต้องมีข้อมูลอย่างน้อยคือ ลำดับหน่วยที่ออกเสียง สถานที่ จำนวนผู้มีสิทธิ จำนวนผู้มาใช้สิทธิ จำนวนคะแนน เป็นต้น
ที่สำคัญต้องมี ‘หมายเหตุ’ สำหรับระบุรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการนับคะแนน มีระบบแก้ไขข้อมูลที่บันทึกและส่งรายงานแล้ว ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าว ให้มีข้อความแจ้งเตือนข้อผิดพลาดให้ผู้ใช้งานสามารถยืนยันการบันทึกข้อมูล หรือกลับไปแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดได้
ส่วนระบบการตรวจสอบ ต้องสามารถตรวจสอบความถูกต้องของการบันทึกข้อมูลตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ เช่น ผลคะแนน จำนวนผู้มาใช้สิทธิ เป็นต้น
ผู้รับจ้างต้องดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ ออกแบบ และพัฒนาโปรแกรมสำหรับระบบบริหารจัดการแอปพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฟนเพื่อรายงานผลคะแนนออกเสียงผ่านเว็บไซต์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของสำนักงาน กกต. เช่น จำนวนบัตร จำนวนผู้มีสิทธิทั้งชายและหญิง
มีการระบุด้วยว่า จำนวนบัตรดี + จำนวนบัตรเสีย/บัตรเสียทั้งฉบับ ต้องเท่ากับ จำนวนบัตรที่ใช้ และระบบต้องแจ้งเตือนเมื่อมีข้อมูลผิดพลาด และมีระบบให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบบันทึก และ/หรือ แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องได้
สำหรับฐานข้อมูลนั้น ระบบต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้น ผู้รับจ้างต้องดำเนินการติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายที่สำนักงาน กกต. จัดเตรียมไว้ให้ รวมทั้งให้เชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยออกเสียงที่สำนักงาน กกต. จัดเตรียมไว้ให้ด้วย (ดูเอกสาร TOR ท้ายรายงาน)
นี่คือสาระสำคัญเกี่ยวกับ TOR ของระบบ Rapid Report ที่ถูกใช้ในช่วงการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 ส่วนระบบที่ได้รับการปรับปรุงนำมาใช้ในนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 เขียน TOR อย่างไร เบื้องต้นยังตรวจสอบไม่พบ
อย่างไรก็ดีในช่วงการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 มีรายงานข่าวระบุว่า สื่อแต่ละสำนักที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลคะแนนดิบของสำนักงาน กกต. เพื่อนำไปรายงานผลในการเลือกตั้งนั้น ต้องเสียค่าใช้จ่ายหลักแสนบาท เพื่อเป็นค่าดำเนินการ
ในเว็บไซต์สำนักงาน กกต. ระบุว่า การรายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการในการเลือกตั้งครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายสื่อมวลชน 30 สำนัก ประกอบด้วย สถานีโทรทัศน์ระบบดิจิตอล จำนวน 23 สถานี และ 7 พันธมิตร สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และเคเบิ้ลทีวี ประกอบด้วย ททบ.5, สทท.11, ไทยพีบีเอส, ช่อง 3 แฟมิลี่, ทีเอ็นเอ็น 24, นิวทีวี, สปริงนิวส์, ไบรท์ทีวี, วอยซ์ทีวี, เนชั่นทีวี, เวิร์คพอยท์, จีเอ็มเอ็ม 25, สปริง 26, ช่อง 8, ช่อง 3 เอสดี, โมโน, อสมท, ช่องวัน, ไทยรัฐทีวี, ช่อง 3 เอชดี, อมรินทร์ทีวี, ช่อง 7 เอชดี, พีพีทีวีเอชดี 36, นสพ.บางกอกโพสต์, กรุงเทพธุรกิจ, เมเนเจอร์ออนไลน์, กระปุกดอทคอม, สนุกดอทคอม, เดอะสแตนดาร์ด, 77 ข่าวเด็ด และเคเบิ้ลทีวี Five Channel จะรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (อย่างไม่เป็นทางการ) ภายหลังการปิดหีบลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง (อ้างอิงข้อมูลจาก เว็บไซต์สำนักงาน กกต.)
ส่วนสาเหตุอะไรกันแน่ ทำให้ระบบ Rapid Report รายงานผลคะแนนอย่างมีปัญหา คงต้องรอผลสรุปการสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/