ใต้ล่างแพ้ประชาชาติ...ใต้บน-กทม. ปชป.พ่ายลุงตู่?
อีกหนึ่งประเด็นร้อนที่กลายเป็นหัวข้อวิจารณ์ทางการเมืองอย่างกว้างขวาง ก็คือภาวะตกต่ำสุดขีดของ "พรรคประชาธิปัตย์"
จากสถานะว่าที่พรรคตัวแปรสำคัญที่สุดหลังเลือกตั้ง ถึงขั้นเคยวาดฝันเป็น "ขั้วที่ 3" ถึงจะไม่ชนะคว้าอันดับ 1 จากเขตเลือกตั้ง ก็ยังมีลุ้นดัน "เดอะมาร์ค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เข้าวินเป็นนายกฯอีกรอบ
แต่เมื่อผลคะแนนออกมา แทบตกเก้าอี้ เพราะประชาธิปัตย์ไม่ได้กลายเป็นแค่ "พรรคต่ำร้อย" ธรรมดาๆ เท่านั้น แต่เป็นพรรคเล็กยิ่งกว่าพรรคขนาดกลางเสียอีก จำนวน ส.ส.รวมเกือบๆ จะแพ้พรรคภูมิใจไทย แถมยังตามหลังพรรคตั้งใหม่เมื่อวานซืนอย่าง "อนาคตใหม่" เกือบเท่าตัว
นี่คือชะตากรรมของประชาธิปัตย์ในวันนี้ ทำให้นายอภิสิทธิ์ต้องประกาศลาออกทันทีในคืนวันเลือกตั้ง ณ ที่ทำการพรรค ต่อหน้ารูปปั้นพระแม่ธรณีบีบมวยผม
ต้องยอมรับว่าการตัดสินใจของนายอภิสิทธิ์ถือเป็นความกล้าหาญ และถือเป็นแบบอย่างให้นักการเมืองรุ่นหลังได้ปฏิบัติตามในแง่ของความรับผิดชอบต่อคำพุดและสัญญาประชาคมที่ตนประกาศไว้เอง ไม่ใช่สักแต่เล่นบท "พลิ้ว" หรือลื่นเหมือน "ปลาไหล" ในทุกสถานการณ์
แน่นอนว่าบรรดาแฟนคลับถึงกับร่ำไห้ บ้างก็ว่าน้ำที่พระแม่ธรณีบีบมวยผมบีบออกมา เป็นเหมือน "น้ำตา" จากคนที่รักประชาธิปัตย์ และรักนายอภิสิทธิ์เลยทีเดียว
สาเหตุของความพ่ายแพ้ที่เป็นสาเหตุพื้นๆ ที่เรียกว่า "รู้ๆ กันอยู่" มีอยู่ 3-4 ข้อ คือ
1.ปัญหาขัดแย้งแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมีการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคก่อนเลือกตั้ง การแข่งขันชิงหัวหน้าพรรคทำให้พรรคไม่เป็นเอกภาพ และยังมีปัญหาเรื่องการจัดตัว ส.ส.ลงสู้ศึกเลือกตั้ง ซึ่งมีข่าวว่ามีการสกัดฝ่ายที่ไม่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ (ตอนหยั่งเสียงเลือกหัวหน้า) ไม่ให้ลงสมัคร แต่ส่ง "ทีมเพื่อนอภิสิทธิ์" ลงแทน ทำให้คนที่ได้สิทธิ์ลงสมัคร ไม่ใช่ "ขุนพลที่ดีที่สุด" ในการสู้ศึกใหญ่
2.การวางตัวผู้สมัครในระดับภาคและระดับเขต พึ่งพา "มือเก่า" ทางการเมืองมากเกินไป ทั้งๆ ที่กระแสการเมืองเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะกระแสคนรุ่นใหม่ในเขตเมือง แถมยังมีการเล่นพรรคเล่นพวก เขี่ยฝ่ายตรงข้ามไม่ให้ลงสมัคร เอาคนของตัวเองมาเสียบแทน บางเขตส่ง "ละอ่อนทางการเมือง" ลงสู้ ทำให้พ่ายแพ้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ปรากฏการณ์นี้เห็นชัดที่จังหวัดสงขลา โดยเฉพาะเขต 1 ขณะที่ในภาพรวมทั้งจังหวัดประชาธิปัตย์หายไป 5 ที่นั่งจาก 8 ที่นั่ง
3.พื้นที่ชายแดนใต้เจอกระแสพรรคประชาชาติ และพลังพิเศษของพรรคพลังประชารัฐเบียดตกขอบ ทำให้เก้าอี้ ส.ส.หายไปถึง 9 ที่นั่ง
4.การประกาศจุดยืน "ไม่หนุนลุงตู่" ของนายอภิสิทธิ์ บวกกับกระแสพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ประชาธิปัตย์สูญพันธุ์ใน กทม. เก้าอี้ ส.ส.หายไป 20 กว่าที่นั่ง และน่าเสียดายที่นักการเมืองรุ่นใหม่น้ำดีมีความรู้ เช่น "หมอเอ้ก" คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ "ไอติม" พริษฐ์ วัชรสินธุ ต้องกลายเป็นแค่อดีตผู้สมัคร
นี่คือเหตุผลพื้นๆ ที่ทราบๆ กันอยู่ แต่ยังมีเหตุผลลึกๆ ที่ทำให้ประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ในอีกหลายๆ พื้นที่ของภาคใต้ เช่น พัทลุง สตูล ภูเก็ต ระนอง นครศรีธรรมราช รวมทั้งสงขลา หรือแม้กระทั่งจังหวัดตรัง บ้านเกิด "นายหัวชวน" มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ประชาธิปัตย์ไม่ได้แพ้พรรคคู่แข่งอย่างเพื่อไทย อนาคตใหม่ หรือประชาชาติ (เหมือนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) แต่แพ้ให้กับพลังประชารัฐ และภูมิใจไทย
มีสุ้มเสียงจาก "คนใน" ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอดีต ส.ส.ใต้ผู้คร่ำหวอดเกมการเมือง ระบุว่า ปชป.โดนพลังประชารัฐกับภูมิใจไทยแท็กทีมโจมตี ทำให้ร่วงอย่างที่เห็น
หากมองปรากฏการณ์นี้ เทียบกับการเมืองภาพใหญ่ จะเห็นว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมา เสียงรวมของ "ฝั่งหนุนลุงตู่" ยังเท่าเดิม ถ้าย้อนอดีตกลับไปช่วงที่นายอภิสิทธิ์ยังไม่ประกาศลอยแพลุงตู่ โพลล์ตอนนั้น เก้าอี้ ส.ส.จะอยู่ที่ระดับ 80-85 ที่นั่ง ขณะที่พลังประชารัฐและภูมิใจไทยตามหลังประชาธิปัตย์
แต่เมื่อนายอภิสิทธิ์ประกาศไม่หนุนลุงตู่ ประชาธิปัตย์ก็โดนทุบ แต่เก้าอี้ ส.ส.ไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ที่ฝั่งลุงตู่ เพราะเสียเก้าอี้่ให้พลังประชารัฐกับภูมิใจไทยทั้งหมด (รวมทั้งกรุงเทพฯบางส่วน ขณะที่อีกบางส่วนเหนือความคาดหมายจากกระแสอนาคตใหม่) ฉะนั้นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงแน่ๆ ในพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายอภิสิทธิ์ต้องเป็นฝ่ายไป ถูกเขี่ยให้พ้นทาง และหัวหน้าพรรคคนใหม่กับกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จะเปลี่ยนท่าทีของพรรคให้หนุนลุงตู่เป็นนายกฯ หรือพูดให้กว้างกว่านั้นคือ จับมือกับขั้วพลังประชารัฐอย่างแนบแน่น มั่นคง
นี่คือเกมการเมืองที่ต้องบอกว่าเล่นกันโหดจริงๆ และสะท้อนให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว ภูมิใจไทยจับมือกันแน่นกับพลังประชารัฐ โดยสะท้อนผ่านชัยชนะของ ส.ส.เขตในพื้นที่ภาคใต้
ฉะนั้นไม่ต้องบอกก็พอจะเดาได้ว่า ภูมิใจไทยจะยื่นข้างไหนระหว่างขั้วการเมืองใหญ่ 2 ขั้ว
ส่วนสาเหตุของความพ่ายแพ้ในพื้นที่พิเศษอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งๆ ที่ประชาธิปัตย์เคยครองแชมป์มาแล้วหลายครั้ง ในอย่างน้อยๆ ก็ต้องได้ ส.ส.ราวๆ ครึ่งหนึ่งนั้น จะว่าไปก็มีสัญญาณมาก่อนแล้วจากการเปิดปราศรัยแต่ละครั้งของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีแฟนคลับไปเชียร์ค่อนข้างบางตา หากเทียบกับพรรคคู่แข่งอย่างประชาชาติ และพลังประชารัฐ (ในส่วนของพลังประชารัฐลงไปเปิดปราศรัยใหญ่เพียงหนเดียวเท่านั้น และมุ่งตรงสู่เป้าหมายคือจังหวัดนราธิวาส)
โดยเหตุปัจจัยหลักๆ ของความเสื่อมถอยสรุปได้ดังนี้
1.ประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่มีผลงานเด่นชัด อดีต ส.ส.ไม่ค่อยดูแลพื้นที่ แถมยังค่อนข้างประมาท คิดว่าจะได้รับเลือกตั้งเหมือนทุกครั้ง ทำให้ลงพื้นที่หาเสียงน้อย
2.ผู้สมัครของพรรคคู่แข่งอย่างพลังประชารัฐและประชาชาติ บางส่วนเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ก็จริง แต่กลับกลายเป็นดี เพราะประชาชนอยากลองของใหม่ เนื่องจากเบื่อของเดิม
3.แกนนำพรรคไม่ค่อยลงพื้นที่ไปหาเสียงสนับสนุนมากเท่าที่ควร อาจเป็นการวางยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด เพราะไปมุ่งเน้นภาคเหนือกับอีสานมากเป็นพิเศษ จนไม่ได้ทุ่มเทเพื่อรักษาฐานที่มั่นของตนเองเอาไว้
4.คำประกาศไม่สนับสนุนลุงตู่ของนายอภิสิทธิ์ ทำให้แฟนเก่าของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่เปลี่ยนใจไปเทเสียงให้พรรคพลังประชารัฐ เพราะเชื่อว่าบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถคานดุล หรือคัดง้างกับฝั่งที่มีแนวคิดเอนเอียงเป็นประโยชน์กับผู้เห็นต่างจากรัฐได้
5.การเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หนนี้ มีผู้สมัครมากเป็นพิเศษ พรรคการเมืองขนาดใหญ่แห่ส่งผู้สมัครเพื่อหวังคะแนนเสียงตกน้ำ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกแย่งชิงหัวคะแนนและฐานคะแนนเดิม
6.ยุทธศาสตร์การหาเสียงของพรรคประชาชาติตรงเป้าและมีความชัดเจน เน้นความเป็นมุสลิมและการเป็นพรรคของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
ทั้งหมดนี้คือบทเรียนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ที่แกนนำพรรคต้องหยิบไปทบทวนเพื่อก้าวข้ามความผิดพลาดครั้งนี้ และฟื้นฟูพรรคให้กลับมาเป็นทางเลือกของประชาชนคนไทย และคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดีกว่าเดิม!
---------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคณ : ภาพจากเฟซบุ๊ค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ