สำรวจข้อพิรุธ เลือกตั้ง 24 มี.ค. ซื้อสิทธิ์ขายเสียงเพียบ-ประกาศบัตรเสียผิด-ทหารโผล่คูหา?
"...สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้สำรวจข้อมูลปัญหาข้อพิรุธความไม่ชอบมาพากลในการจัดการเลือก ที่ปรากฎจากสื่อมวลชนกระแสหลัก และในโลกออนไลน์ นับแต่ตั้งช่วงการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 มาจนถึงช่วงบ่ายวันที่ 25 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา สามารถจำแจกแยกประเด็นของปัญหาความไม่ชอบมาพากล ออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.ประเด็นการซื้อสิทธิ์ขายเสียงตามพื้นที่ต่างๆ 2. ประเด็นเรื่องข้อผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ของ กกต.ที่ประจำตามคูหาต่างๆ และ 3. ประเด็นความผิดพลาดรวมไปถึงการดำเนินงานของ กกต.ส่วนกลางเอง..."
ผลการนับคะแนนเลือกตั้ง วันที่ 24 มี.ค. 2562 อย่างไม่เป็นทางการ 95% รวม 350 เขต 77 จังหวัด ประกาศออกมาเป็นทางการแล้ว โดยพรรคพลังประชารัฐ ได้จำนวน ส.ส. 96 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทย 138 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 33 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ 30 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 39 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 6 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนา 1 ที่นั่ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 6 ที่นั่ง (อ่านประกอบ : ผลเลือกตั้ง ส.ส.เขตไม่เป็นทางการ 95% เพื่อไทย 138 พปชร. 96 ภท. 39 ปชป. 33 อนค. 30)
แต่ดูเหมือนว่าข้อมูลปัญหาความไม่ชอบมาพากลในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ จะทยอยออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้สำรวจข้อมูลปัญหาข้อพิรุธความไม่ชอบมาพากลในการจัดการเลือก ที่ปรากฎจากสื่อมวลชนกระแสหลัก และในโลกออนไลน์ นับแต่ตั้งช่วงการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 มาจนถึงช่วงบ่ายวันที่ 25 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา
สามารถจำแจกแยกประเด็นของปัญหาความไม่ชอบมาพากล ออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.ประเด็นการซื้อสิทธิ์ขายเสียงตามพื้นที่ต่างๆ 2. ประเด็นเรื่องข้อผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ของ กกต.ที่ประจำตามคูหาต่างๆ และ 3. ประเด็นความผิดพลาดรวมไปถึงการดำเนินงานของ กกต.ส่วนกลางเอง
เริ่มกันที่ประเด็นที่ 1. เรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงตามพื้นที่ต่างๆ
ข้อมูลที่ปรากฎให้เห็นมีดังนี้ คือ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ จ.ชลบุรี นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย นายพายุ เนื่องจำนงค์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายภิญโญ ตั๊นวิเศษ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และนายสมชาย เนื่องจำนงค์ ผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ เขต 4 อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เข้าแจ้งความพร้อมหลักฐานอ้างว่าจับหัวคะแนนของพรรคพลังประชารัฐได้
โดยหลักฐานที่ 4 พรรคการเมืองเขต 4 ชลบุรีนำไปแจ้งความ คือ คลิปวิดีโอที่อ้างว่า ชายที่อยู่ในคลิปเป็นหัวคะแนนของของนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ผู้สมัครเบอร์ 1 เขต 4 ชลบุรี ได้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยมีการชักชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเสียง ขณะนี้ตำรวจภูธรอำเภอบ้านบึงนำหลักฐานส่งให้ กกต.กลางที่กรุงเทพมหานครแล้ว
ขณะที่ นายพายุ เนื่องจำนงค์ ผู้สมัคร ส.ส.ประชาธิปัตย์ เขต 4 จ.ชลบุรี ระบุว่า ช่วงแรกคิดว่าเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์ แต่ตัวแทนกลุ่มผู้สมัครหน่วย 12 เห็นว่ามีพฤติกรรมผิดปกติ จึงเข้าไปสอบถามพบว่า มีการชี้นำให้คนเลือกผู้สมัครเบอร์หนึ่ง
ขณะที่ ผลการนับคะแนนไม่เป็นทางการในขณะนี้ พบว่า นายสรวุฒิ มีคะแนนเป็นอันดับ 1 ของเขต 4 ชลบุรี แบ่งเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอบ้านบึง อำเภอหนองใหญ่ อำเภอบ่อทอง มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวม 118,981 คน และจากข้อมูลทะเบียนราษฎร์พบว่าที่นี่มีคนที่ใช้นามสกุลเนื่องจำนงค์กว่า 2,000 คน
ข้ามจังหวัดมาที่นครปฐม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวนางสมลักษณ์ อายุ 33 ปี ชาว ต.ดอนยายหอม อ.เมืองนครปฐม และนายสมจิตต์ อายุ 55 ปี พร้อมของกลางเงินสดจำนวนหนึ่ง โดยมีนายครรชิต คุ้มทรัพย์ ผู้สังเกตการณ์และเฝ้าระวังการซื้อเสียงเลือกตั้ง แก่ผู้สมัครพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เขต 4 เป็นผู้เสียหาย นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครปฐมดำเนินคดี ข้อหา “จูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครอื่น ด้วยวิธีการจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินแก่ประชาชน” ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 คนให้การรับสารภาพ
เบื้องต้น นางสมลักษณ์ กล่าวว่า ยอมรับว่าได้รับเงินจำนวน 300 บาท จากนายสมจิตต์ เพื่อที่ให้ตนไปลงคะแนนเลือกผู้สมัครส.ส.ของพรรคการเมืองหนึ่งจริง
ขณะนายสมจิตต์ ให้การรับสารภาพว่า ตนได้รับเงินมาจากหัวคะแนนชื่อนายวัฒน์ ไม่ทราบนามสกุล เพื่อนำมาซื้อเสียงในหมู่บ้าน โดยตนรับเงินมาหัวละ 400 บาท แต่ซื้อเสียงเพียงหัวละ 300 บาท โดยผู้รับเงินจะต้องไปลงคะแนนเลือกผู้สมัคร ส.ส.หมายเลขที่ได้ตกลงกันไว้ อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาก็มีข้อมูลปรากฎว่าหัวคะแนนที่โดนจับกุมดังกล่าวนั้นเกี่ยวข้องกับพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย (รป.)
ด้านนายดำรงค์ พิเดช ออกมาปฏิเสธว่า ไม่ทราบในเรื่องรายละเอียดการซื้อเสียงดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ ทางพรรคคงไม่สามารถไปกำกับดูแลได้หมด
ประเด็นที่ 2. เรื่องความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ณ คูหาเลือกตั้งเอง
กรณีแรกนั้น สืบเนื่องมาจากมีผู้นำคลิป เกี่ยวกับการนับคะแนนเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งหนึ่งในเขตบางกะปิ กรุงเทพฯ มาเผยแพร่ ปรากฎเนื้อหาว่า เกี่ยวกับเรื่องการกากบาทบัตรเลือกตั้ง
โดยมีเจ้าหน้า ได้หยิบบัตรเลือกตั้งใบหนึ่งขึ้นมา ผู้ใช้สิทธิกากบาทเลือก พรรคอนาคตใหม่ แต่ว่ากากบาทผิดตำแหน่ง กากบาทใส่ตัวเลขที่อยู่ด้านหน้าชื่อพรรค ทำให้เจ้าหน้าที่ประกาศออกมาชัดเจนว่า "บัตรเสีย" ต่อมาได้หยิบบัตรเลือกตั้งอีกใบขึ้นมา ผู้ใช้สิทธิกากบาทเลือก พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นการกากบาทที่ผิดตำแหน่งเช่นเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่กลับประกาศว่า "บัตรดี"
ส่วนอีกประเด็นนั้น ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @iChatchaiii ได้มีการเผยแพร่คลิปไม่เหมาะสมในการเลือกตั้ง62 หลังจากพบว่ามีทหารนายหนึ่งยืนดูเพื่อนกากบัตรเลือกตั้งในคูหา
โดยภาพดังกล่าวถูกจับได้ระหว่างที่ทีมข่าวไทยรัฐ ทำการถ่ายสอดสดบรรยากาศการเลือกตั้ง ที่หน่วยเลือกตั้ง 33-34 เขตพญาไท ซึ่งเผยให้เห็นว่าระหว่างที่มีทหารนายหนึ่งกากบาทเลือกตั้งอยู่ในคูหานั้น ได้มีทหารนายหนึ่งเดินไปดูการกากบาทโดยไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาห้ามปรามหรือติเตียนแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 3 ข้อผิดพลาดที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของ กกต.ส่วนกลาง
เริ่มกันที่ประเด็นเรื่องการแสดงผลคะแนนออนไลน์ของผู้สมัคร ส.ส. ในแต่ละพื้นที่ อาทิในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เขต โดยเมื่อเวลา 22.50 ของวันที่ 24 มี.ค. นั้นปรากฏข้อมูลว่านายวรพงศ์ โสมัจฉา ผู้สมัครเลือกตั้งจากพรรคอนาคตใหม่มีคะแนนอยู่ที่ 31,764 คะแนน ขณะที่นายเกษม ศุภรานนท์ มีคะแนนอยู่ที่ 19,879 คะแนน แต่พอมาถึงเวลา 1.02 น. ของวันที่ 25 มี.ค. ก็ปรากฎว่านายวรพงศ์ มีคะแนนลดลงไปอยู่ที่ 20,503 คะแนน ขณะที่นายเกษม ศุภรานนท์ มีคะแนนอยู่ที่ 22,795 คะแนน
แต่ประเด็นที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ในขณะนี้ คือ ปัญหาบัตรเสียจากประเทศนิวซีแลนด์ โดยเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. แถลงหลังปิดหีบลงคะแนนเลือกตั้งทั่วประเทศในเวลา 17.00 น. ว่า กกต.ได้รับรายงานว่าบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร จากประเทศนิวซีแลนด์ ประมาณ 1,500 ใบ ถูกส่งมาไม่ทันเวลา ตามกฎหมายต้องถือว่าเป็นบัตรเสีย แต่ต้องมีกระบวนการสั่งการ โดยในวันพรุ่งนี้ (25 มี.ค.) ทางสำนักงานฯจะเสนอ กกต.ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาวินิจฉัย สำหรับสาเหตุล่าช้าเบื้องต้นทราบว่า เป็นการขนส่งโดยสายการบิน 3 สายการบิน ซึ่งเครื่องบินต้องต่อเครื่องและมีปัญหาเครื่องบินดีเลย์ โดยบัตรถูกจัดส่งออกมาพร้อมกับประเทศอื่นๆ ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. ปกติต้องมาถึง 23 มี.ค. แต่ปรากฏว่าบัตรเพิ่งถูกส่งมาถึงวันที่ 24 มี.ค. ทำให้ไม่สามารถจัดส่งไปยัง 350 เขตเลือกตั้งได้
ขณะที่ทางสถานเอกอัครราชทูตประเทศไทยประจำกรุงเวลลิงตัน ของนิวซีแลนด์ ได้แถลงการณ์ยืนยันว่า ได้มีการส่งบัตรเลือกตั้งด้วยการขนส่งทางอากาศไปแล้วตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. และคาดว่าจะถึงในวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอยู่นอกเหนือการควบคุมของสถานทูตไทยประจำกรุงเวลลิงตัน (อ่านประกอบ : สถานทูตไทยในนิวซีเเลนด์ ยันส่งบัตร ลต.ออกจากกรุงเวลลิงตัน ตั้งเเต่ 18 มี.ค.)
ซึ่งในช่วงเวลา 14.30 น. วันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. และนายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. ได้ออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ และการรายงานผลอย่างเป็นทางการในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนในการชี้แจงข้อเท็จจริง จะยังไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหา ความไม่โปร่งใส เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง แต่ละกรณีตามที่นำเสนอข้อมูลไป
โดยเรื่องการเผยแพร่ผลนับคะแนนเลือกตั้งผ่านสื่อเมื่อคืนวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา นั้น นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมาสำนักงาน กกต. ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล จับมือกับองค์กรสื่อ 36 สถานี ทำระบบแรพพิทรีพอร์ต เพื่อป้อนข้อมูลดิบให้แก่เซิร์ฟเวอร์ที่สื่อตั้งขึ้น และสื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนา นำเสนอกราฟฟิก โดยปริมาณคะแนนที่ไม่เท่ากันในแต่ละช่อง เป็นเพราะศักยภาพของแต่ละสถานีในการดึงข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ดังกล่าว
“สำนักงาน กกต. ทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และสื่อมวลชนทั้งหลาย แต่ กกต. ป้อนข้อมูลดิบให้เท่านั้น ส่วนการนำเสนอเป็นเรื่องแต่ละสถานี แต่ละช่อง ส่วนการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องอ่านกฎหมายให้เข้าใจ มีบางช่องนำเสนอคะแนนสวิงไปมา ทั้งนี้สำนักงาน กกต. จะทำหนังสือสอบถามนายกสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล เพื่อให้ช่วยสำนักงาน กกต. อธิบายเรื่องนี้ด้วย เพราะสิ่งที่แต่ละสื่อ แต่ละช่องวิจารณ์กัน อยากให้ถามพวกเดียวกันก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น เรานำเสนอข้อเท็จจริงให้สื่อ 100% และไม่ได้กั๊กข้อมูล” นายณัฏฐ์ กล่าว
ส่วนกรณีบัตรเลือกตั้งที่หลายสื่อเผยแพร่แถลงการณ์ของเอกอัครราชทูตเวลลิงตัน นิวซีแลนด์ นั้น นายณัฏฐ์ กล่าวว่า ถุงบรรจุบัตรเลือกตั้งดังกล่าวถูกส่งจากนิวซีแลนด์ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. 2562 และถึงไทยเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. วันที่ 23 มี.ค. 2562 ส่วนความล่าช้าที่เกิดขึ้น เลขาธิการ กกต. จะเรียนถามปลัดกระทรวงการต่างประเทศว่า เหตุเกิดเพราะอะไร โดยถุงบรรจุบัตรเลือกตั้งนี้ จะถูกส่งมอบให้สำนักงาน กกต. ในวันที่ 26 มี.ค. 2562 และจะนำประเด็นนี้เรียนต่อที่ประชุม กกต. เพื่อพิจารณาตามมาตรา 114 แห่ง พ.ร.บ.กกต. ว่าจะนับเป็นคะแนนหรือไม่ อย่างไร
ทั้งหมดนี่ เป็นผลการสำรวจข้อมูลปัญหาข้อพิรุธความไม่ชอบมาพากลในการจัดการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา ที่สำนักข่าวอิศรา รวบรวมมาได้ ส่วนหน้าที่การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กกต. ผลแต่ละเรื่องจะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/