พีเน็ตแถลงกกต.ขาดประสบการณ์-ไร้ความสามารถจัดเลือกตั้งให้เกิดประสิทธิภาพ
พีเน็ตแถลงหลังสอดส่องดูการเลือกตั้ง 24 มีนาฯ ระบุ กกต.ขาดประสบการณ์-ไร้ความสามารถจัดเลือกตั้งให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ มีปัญหาเกิดขึ้นในหลายกรณี ไม่มีอาสาสมัครสังเกตการณ์ ประชาชนใช้สิทธิต่ำกว่าที่คาดหวัง และกกต.ไม่ได้มีมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเลือกตั้ง
วันที่ 25 มีนาคม มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ออกแถลงเรื่อง กกต. 62 : ทางตันปฏิรูปประเทศไทย
มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ได้ประมวลผลรายงานจากเครือข่ายพีเน็ตในพื้นที่ 63 จังหวัดในทุกภูมิภาค ซึ่งได้รับการสนับสนุนการทำงานจากสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบลทั่วประเทศ และได้เริ่มปฏิบัติงานสอดส่องดูแลสังเกตการณ์ นับตั้งแต่ที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศบังคับใช้ โดยได้ส่งรายงานมาที่มูลนิธิองค์กรกลาง ฯ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการสังเกตการณ์การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง การสังเกตการณ์กระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา การเปิดรับผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การปราศรัยหาเสียงของผู้สมัคร และพรรคการเมืองต่าง ๆ การสอดส่องดูแลการเลือกตั้งล่วงหน้า และการสอดส่องดูแลการเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562
มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย จึงขอรายงานผลซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต่อผู้สมัครและพรรคการเมือง และต่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง พอสรุป ได้ดังนี้
1. ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ได้รับเลือกเข้ามารับผิดชอบการเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้ง 6 - 7 เดือน ขาดประสบการณ์และไร้ความสามารถในการจัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่กฎหมายให้อำนาจ กกต. เพิ่มมากขึ้นอย่างสำคัญในหลายมาตรการ ซึ่ง กกต. ไม่สามารถนำมาใช้อย่างเต็มที่ อีกทั้งงบประมาณที่ได้รับเพิ่มขึ้นมาก ก็ไม่สามารถนำไปใช้อย่างประหยัดและคุ้มค่า
1.1 กกต.ไม่สามารถออกระเบียบหลักเกณฑ์ ในการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชน องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งระบบใหม่ การตรวจสอบการเลือกตั้ง อีกทั้งหลักเกณฑ์สำคัญที่จะต้องเกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวน เช่น เรื่องรางวัลนำจับ กำหนดให้มีขึ้นในช่วงก่อนวันเลือกตั้งเพียง 1 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งไม่ทันการณ์และไม่น่าจะเกิดประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้ง
1.2 การจัดการเลือกตั้งมีปัญหาเกิดขึ้นในหลายกรณีไม่ว่าจะเป็นในช่วงการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ขาดการเตรียมความพร้อมอย่างมีประสิทธิภาพ มีบัตรเลือกตั้งจำนวนมากไม่สามารถส่งให้ถึงทันการนับคะแนน ทำให้กลายเป็นบัตรเสีย ในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้ามีปัญหาอย่างมีนัยยะสำคัญในเรื่องของการแจกบัตรเลือกตั้งให้กับผู้มาใช้สิทธิ์ผิดเขตในหลายพื้นที่ การจัดการเลือกตั้งในวันเลือกตั้งมีปัญหาที่แสดงถึงความไร้มาตรฐานแตกต่างจากการทำงานในอดีตที่ผ่านมา อาทิ ความแม่นยำของกรรมการประจำหน่วยในการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดการเตรียมความพร้อมที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในการอบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง รวมทั้งการนับคะแนน ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของการเลือกตั้ง
1.3 ไม่มีอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้ง ทำให้เป็นช่องให้เกิดการทุจริตในหน่วยเลือกตั้งได้โดยง่าย ในหลายกรณี พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐ ไปควบคุมการลงคะแนนของผู้มาใช้สิทธิ
1.4 มีประชาชนมาใช้สิทธิต่ำกว่าที่ กกต. คาดหวังอย่างมาก ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการขาดการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ ขาดการส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำความเข้าใจ เพื่อให้ประชาชนเกิดความสนใจการมาใช้สิทธิและใช้สิทธิได้อย่างถูกต้อง
1.5 กกต. ไม่ได้มีมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเลือกตั้ง ทั้งที่มีข่าวการซื้อสิทธิขายเสียงในหลายพื้นที่ อีกทั้ง ยังมิได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก ที่ส่อว่าจะเป็นการทุจริตการเลือกตั้ง ไม่มีการสนธิกำลัง ระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในหลายเรื่อง กกต. น่าจะใช้ “ใบส้ม” เพื่อเป็นมาตรการยับยั้งการทุจริตในวันเลือกตั้ง
2. ต่อผู้สมัครและพรรคการเมือง
ผู้สมัครและพรรคการเมืองบางพรรค อาศัยอิทธิพลของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ การทุ่มเงินซื้อเสียงทั้งในช่วงการปราศรัยหาเสียงและในช่วงคืนก่อนใกล้เลือกตั้งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน อย่างไรก็ตาม ในการรณรงค์หาเสียง พรรคการเมืองได้มีพัฒนาการ ด้วยการนำเสนอนโยบายและมาตรการที่เป็นขั้นตอนรายละเอียดที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต อีกทั้งรูปแบบการนำเสนอด้วยการดีเบตช่วยให้ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งใช้ประกอบการตัดสินใจลงคะแนนเสียงได้อย่างมีคุณภาพ
3. ต่อผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
มูลนิธิองค์กรกลาง ฯ ขอแสดงความยินดีกับประชาชนผู้มาใช้สิทธิ์ที่มีความตื่นตัวและในหลายพื้นที่สามารถใช้สิทธิ์ได้ตามเจตจำนงของตนเอง โดยปราศจากอิทธิพลและการจูงใจต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ในหลายกรณีพบว่าประชาชนยังขาดความเข้าใจในระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ขาดความเข้าใจการลงคะแนนที่ถูกต้องทำให้มีปัญหาบัตรเสียเกิดขึ้นจำนวนมาก ขณะที่ระบบการเลือกตั้งใหม่กำหนดให้ทุกคะแนนมีค่า คะแนนเสียงที่กลายเป็นบัตรเสียจึงมีผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งโดยรวมอย่างมีนัยยะสำคัญ
มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) จึงเห็นว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ ยังไม่เป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม และเสรี เท่าที่พึงจำเป็นต่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทย