ปรากฎการณ์เลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 'พปชร.-อนาคตใหม่' แจ้งเกิด-ปชป.พ่าย 'อภิสิทธิ์' ลาออก
“…แต่กลับตาลปัตร นายอภิสิทธิ์ เดินเกมพลาด ในช่วงโค้งสุดท้าย ที่ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกอบกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตคนเคยรัก ‘ปลุกผีทักษิณ’ สร้างภาพกลัวให้คนภาคใต้อีกครั้ง เขียนภาพให้เห็นว่า นายอภิสิทธิ์ อาจจะจับมือกับนายทักษิณ จนคะแนนในภาคใต้แปรปรวนไปหมด พรรคพลังประชารัฐเข้าวินในหลายพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงหลักของพรรคประชาธิปัตย์…”
การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ 24 มี.ค.2562 จบลงไปเรียบร้อยแล้ว
ส่วนผลการเลือกตั้งที่ปรากฎออกมา มีหลายปรากฎการณ์สำคัญที่ต้องถูกจารึกเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วยเช่นกัน
ปรากฎการณ์ 'หลายพรรคดัง บางพรรคดับ'
เพราะคะแนนเสียงมีการพลิกขั้วเกิดขึ้น ประชาชนเทคะแนนให้ 2 พรรคน้องใหม่ ทั้ง ‘พลังประชารัฐ’ และ ‘อนาคตใหม่’ แบบไม่เคยเห็นมาก่อน สวนทางกับพรรคเก่าแก่อย่าง ‘ประชาธิปัตย์’ และแชมป์เก่าอย่าง ‘เพื่อไทย’ ได้ที่นั่ง ส.ส. ลดลงฮวบฮาบ ไม่เป็นดั่งที่เซียนการเมืองคาดการณ์ไว้
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ไม่เด่นไม่ดัง แต่มาวินหลายเขต เฉลี่ยคะแนน ส.ส. ทั้งเขตและปาร์ตี้ลิสต์เชื่อว่าน่าจะทะลุ 50 ที่นั่ง เป็นพรรคตัวแปรหลัก ในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ นักการเมืองดัง ที่อยู่เบื้องหลังฉากการเลือกตั้งของพรรคภูมิใจไทย มีแต้มต่อนำไปใช้ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีได้ทันที
คำถามคือ ทำไมแชมป์เก่าอย่างเพื่อไทย ที่มั่นใจในว่า จะกวาด ส.ส. เกิน 200 ที่นั่ง จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย ถึงได้ที่นั่งต่ำกว่าเป้าอย่างมาก
อาจเป็นเพราะว่าการเดินเกมของ ‘นายใหญ่’ ค่อนข้างพลาด ที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย เพียง 250 เขต โดยปันพื้นที่ให้กับพรรคไทยรักษาชาติ ที่ถูกมองว่าเป็น ‘แบงก์ย่อย’ ในยุทธศาสตร์ ‘แตกแบงก์พัน’ แต่กลับต้องเจออุบัติเหตุทางการเมืองเสียก่อน ทำให้การคำนวณ ส.ส. ต้องเปลี่ยนไป
ที่สำคัญอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ‘ย้ายข้าง’ ไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐจำนวนมาก ผู้สมัครในพื้นที่หลายเขต จากมวยต่อ กลับกลายเป็นมวยรอง ส่งผลให้คะแนนไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ หากสังเกตคะแนนรวม ส.ส. แม้พรรคเพื่อไทยจะได้ที่นั่งมากกว่าพรรคพลังประชารัฐ แต่จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิกาเลือกให้พรรคพลังประชารัฐมากกว่าเกือบ 5 แสนคะแนน
ทำให้เห็นว่า ในเขตที่พรรคเพื่อไทยชนะ มักจะเบียดกับพรรคพลังประชารัฐแบบสูสี ตรงกันข้ามในเขตที่พรรคพลังประชารัฐชนะ มักมีคะแนนทิ้งห่างพรรคเพื่อไทยสูงมาก
ปัจจัยสำคัญอื่นคือ การที่พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัคร ส.ส. แค่ 250 เขต ทำให้คะแนนรวมทั้งประเทศ แพ้พรรคพลังประชารัฐที่ส่งครบ 350 เขต ในส่วนนี้เหมือนกับมอบความชอบธรรมให้กับพรรคพลังประชารัฐว่ามีคะแนนนิยมสูงกว่าพรรคเพื่อไทย
ยุทธศาสตร์ของ ‘นายใหญ่’ ที่ผิดพลาด อาจถูกเก็บไปเป็นบทเรียน ค่อยกลับมาสู้ต่ออีกครั้งในอีก 4 ปีข้างหน้า
ปรากฎการณ์ 'พรรคอนาคตใหม่' ผงาดเวทีการเมือง
ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ จากที่ประเมินกันว่าได้ ส.ส. ระดับต่ำกว่า 40 ที่นั่ง กลับพุ่งแรงในหลายพื้นที่ เพราะได้อานิสงค์จากที่พรรคไทยรักษาชาติถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ จ.แพร่ เป็นพื้นที่ของนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตผู้สมัคร ส.ส.ไทยรักษาชาติ เปลี่ยนเกมจากโหวตโน ให้เทคะแนนมายังพรรคอนาคตใหม่ ส่งผลให้อนาคตใหม่กวาด ส.ส.แพร่ ทั้งจังหวัด
นอกจากนี้พรรคอนาคตใหม่ ยังจับจุดขยายอิทธิพลจากโลกโซเชียลมีเดีย ลงสู่พื้นที่จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากที่มีเพียงกระแสในโลกออนไลน์ แปรเปลี่ยนมาเป็นคะแนนในโลกชีวิตจริง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เบียดเอาชนะผู้สมัครรุ่นเก๋าในหลายพื้นที่ รวมถึงหลายเขตใน กทม.
หลังจากนี้ต้องจับตาบทบาทของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีพาวเวอร์และกระแสที่ดีกว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคน หากจับมือกันเป็นฝ่ายค้าน มีความเป็นไปได้สูงที่ ‘ขั้วนายใหญ่’ จะเปลี่ยนตัวเล่นใหม่ ให้ธนาธรเป็นผู้นำฝ่ายค้าน เพราะหากเป็นตัวชูโรงให้อภิปรายในเรื่องต่าง ๆ กระแสโซเชียลมีเดีย ที่พรรคอนาคตใหม่มีต้นทุนเดิมอยู่ก็จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้มาก
ปรากฎการณ์ 'พรรคประชาธิปัตย์' แพ้ อภิสิทธิ์ ลาออก
ข้ามฟากมาพรรคประชาธิปัตย์ เสียหน้าอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ จากพรรคที่คาดว่าจะได้ ‘ปริ่มร้อย’ และเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล มีอำนาจต่อรองกับพรรคแกนนำหลักได้ จนมีข่าวคราวว่า พรรคเพื่อไทย หากจะเปลี่ยนเกมเล่นก็หันมาชูนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่กลับตาลปัตร นายอภิสิทธิ์ เดินเกมพลาด ในช่วงโค้งสุดท้าย ที่ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกอบกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตคนเคยรัก ‘ปลุกผีทักษิณ’ สร้างภาพกลัวให้คนภาคใต้อีกครั้ง เขียนภาพให้เห็นว่า นายอภิสิทธิ์ อาจจะจับมือกับนายทักษิณ จนคะแนนในภาคใต้แปรปรวนไปหมด พรรคพลังประชารัฐเข้าวินในหลายพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงหลักของพรรคประชาธิปัตย์
ยังมีปัจจัยเรื่องคนภายในพรรคประชาธิปัตย์ทะเลาะกันเอง แบ่งฟาก ‘เลือดแท้-เลือดเทียม’ ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะต้องยอมรับว่าศึกชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ระหว่างนายอภิสิทธิ์กับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ทำให้พรรคแตกเป็นเสี่ยง ๆ เป็นปัจจัยทำให้ภาคใต้ ถูกแบ่งแยกอย่างชัดเจน
แม้คะแนนจะไม่เทไปทางพรรครวมพลังประชาชาติไทยของนายสุเทพ แต่กลับเทมาที่พรรคพลังประชารัฐ แสดงให้เห็นว่า ความนิยมในตัวของ ‘บิ๊กตู่’ มีมากกว่านายอภิสิทธิ์ และอาจจะมีมากกว่านายชวน หลีกภัย เสียแล้วก็เป็นได้ ?
วาทกรรมทิ่มแทงหัวใจคนใต้ที่บอกว่า ประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ ถูกทำลายโดยสิ้นเชิง
นอกจากเสียหน้าภาคใต้แล้ว ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ ส.ส. ใน กทม. เลยแม้แต่เขตเดียว ทั้งที่ผู้สมัครก็เป็นอดีต ส.ส. มาหลายสมัยเกือบทุกพื้นที่ มีแค่หน้าใหม่ก็แค่ประปราย
เหตุผลหลักเพราะคนกรุง เกรงว่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้นอีก เศรษฐกิจเดินต่อไม่ได้ แถมในโลกโซเชียล ยังทำกระแสสู้พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้อีก ปัจจัยทั้งหมด ส่งผลให้ อภิสิทธิ์-ประชาธิปัตย์ ต้องแยกทางกันเดิน
และเส้นทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์แทบที่จะจบสิ้นไปพร้อมกับความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์จากการเลือกตั้งครั้งนี้
เลือกตั้ง 24 มีนา 62 จึงนับเป็นปรากฎการณ์สำคัญที่ต้องถูกจารึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อย่างแท้จริง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ผลเลือกตั้งไม่เป็นทางการเฉพาะ ส.ส.เขต เพื่อไทย 129 พปชร.102 ภท.เบียดแซง ปชป.
ผลคะแนนไม่เป็นทางการ พปชร.นำ 7.3 ล.- 'อุตตม' รับต่อสายคุยบางพรรคจัดตั้งรบ.แล้ว
กกต.รับบัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์โมฆะมาไม่ทันปิดหีบ-ประกาศผล ส.ส.ทางการใน 60 วัน
สรุปเลือกตั้ง'62 ฉีกบัตร 21 จว.-ร้องผู้สมัครทำผิด กม. 58 เรื่อง มีซื้อเสียง-สวมสิทธิ
พท.-พปชร.-ปชป. เเถลงขอบคุณคนไทยหลังปิดหีบ
51 ล้านคน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศ กกต.เชื่อ 9 ชม.ลงคะแนนทัน