กรณีตัวอย่าง! ศึกษาคำสั่งศาลฎีกาฯวินิจฉัยห้ามผู้สมัคร ส.ส.ถือหุ้น-ประกอบกิจการสื่อ
ยกคดีตัวอย่าง! ศึกษาคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง 1144/2562 วินิจฉัยชัดห้ามผู้สมัคร ส.ส. ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์-สื่อมวลชน แม้อ้างว่าไม่ได้ตีพิมพ์เกิน 2 ปี ก็ไม่มีผล ขัด รธน. มาตรา 98 (3) และ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) ก่อนกรณีถกเถียงปมหุ้น บ.วี-ลัค มีเดีย ‘ธนาธร’
กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในสังคม
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนางรวิพรรณ จุงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา โอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด รวม 900,000 หุ้น มูลค่า 9 ล้านบาท ให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562 หรือก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 2562 เพียง 3 วัน (อ่านประกอบ : ‘ธนาธร-เมีย’ โอน บ.วี-ลัค มีเดีย 900,000 หุ้น ให้แม่ ก่อนเลือกตั้ง 3 วัน)
อย่างไรก็ดีเมื่อช่วงเย็นวันที่ 23 มี.ค. 2562 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โพสต์ข้อความพร้อมโชว์เอกสารการโอนหุ้นชี้แจงกรณีนี้ผ่านทวิตเตอร์ (Twitter) ระบุว่า จากกรณีที่ตนถูกกล่าวหาว่าถือบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อาจขาดคุณสมบัติการลงเลือกตั้ง ขอชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน ตนและภรรยาโอนหุ้นไปตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา 1 เดือนก่อนการยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะมีปัญหาทางกฎหมายในเรื่องนี้ (อ่านประกอบ : ‘ธนาธร’โชว์เอกสารโอนหุ้น บ.วี-ลัคฯให้ ‘แม่’ 1 เดือนก่อนสมัคร ส.ส.-ไม่หวั่นมีปัญหาทางกฎหมาย)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นเช่นไร ต้องรอให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการกฎหมาย
โดยในวันที่ 25 มี.ค. 2562 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เตรียมยื่นเรื่องร้องเรียนแก่ กกต. เพื่อขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนี้ โดยระบุว่า กรณีผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มีหุ้นอยู่ในธุรกิจสิ่งพิมพ์หรือสื่อมวลชน อาจถือได้ว่าอาจเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (3) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) บัญญัติว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ระบุไว้ (อ้างอิงข่าวจาก แนวหน้าออนไลน์)
ทั้งนี้นายศรีสุวรรณ ได้อ้างอิงคำสั่งของศาล ฎีกาด้วยว่า เคยมีคำสั่งลักษณะนี้ไปแล้ว ตามคำสั่งศาลฎีกาที่ 1144/2562 และ 1228/2562 ลงวันที่ 7 มี.ค. 2562
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org หยิบยกคำสั่งศาลฎีกาที่ 1144/2562 เพื่อนำมาเสนอเป็นกรณีตัวอย่างเกี่ยวกับกรณีผู้สมัคร ส.ส. ถือหุ้นในธุรกิจสื่อมวลชน ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2562 นายอนุสรณ์ เกษมวรรณ ผู้ร้อง ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 1 กทม. ผู้คัดค้าน
โดยผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ 1 กทม. ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยอ้างว่าผู้ร้อง ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42 เนื่องจากมีหุ้นสื่อมวลชน แต่ผู้ร้องไม่มีหุ้นสื่อมวลชน จึงมิได้เป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านเพิ่มชื่อผู้ร้องในรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ก่อนประกาศรายชื่อผู้สมัคร ผู้คัดค้านได้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครแล้ว ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกิจการของรายการจดแจ้งการพิมพ์ชื่อสื่อกลางสภาไทย มีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ข่าวสารเศรษฐกิจและการเมือง ผู้ร้องจึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) ขอให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาพิจารณาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 บัญญัติว่า ‘บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. … (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ …’
และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42 บัญญัติเช่นเดียวกันว่า ‘บุคคลผู้มีลักษณะต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. … (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ …’
ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จึงเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ มิได้
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำคัดค้าน เอกสารพยานหลักฐานแห่งคดี ประกอบกับที่ผู้ร้องแถลงรับข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สื่อกลางรัฐสภาไทย ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลอันมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. มาตรา 98 (3) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3)
ที่ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องไม่ได้พิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ดังกล่าวเป็นเวลาเกิน 2 ปี ถือว่าความเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ของผู้ร้องสิ้นสุดลงตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 45 นั้น เห็นว่า แม้กิจการของผู้ร้องมีการจดแจ้งการพิมพ์ไว้ตามกฎหมายดังกล่าว และต่อมาได้ได้มี พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ยกเลิกกฎหมายนั้นแล้วก็ตาม แต่มีบทเฉพาะกาลตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มาตรา 28 ให้ถือว่าหนังสือพิมพ์ซึ่งได้เข้าแจ้งความแก่เจ้าพนักงานการพิมพ์ตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 เป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้จดแจ้งการพิมพ์ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ด้วย หากผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ผู้ใดประสงค์จะเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้งภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มาตรา 18
การที่ผู้ร้องเพียงแต่ไม่ได้พิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ โดยไม่ได้แจ้งยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้งการพิมพ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่มีผลทำให้ผู้ร้องพ้นจากความเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้
ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลอันมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (3) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) ที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ชอบแล้ว (ดูเอกสารประกอบ)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/