BRN สั่งห้ามร่วมกิจกรรมเลือกตั้ง แรงงานไทยในมาเลย์แห่กลับหย่อนบัตร
แรงงานไทยในมาเลเซียที่ไม่ได้ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร เดินทางกลับบ้านผ่านด่านเบตง จังหวัดยะลา เป็นจำนวนมาก เพื่อเตรียมหย่อนบัตรเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ 24 มี.ค.62 ขณะที่เพจบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ถึงชาวปาตานี ห้ามมีส่วนร่วมเลือกตั้งของไทย เพราะผิดหลักศาสนา
ด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง จังหวัดยะลา คลาคล่ำไปด้วยแรงงานไทยในมาเลเซียที่กำลังทยอยเดินทางผ่านพิธีการทางศุลกากร ตั้งแต่เช้าถึงเย็นของวันเสาร์ที่ 23 มี.ค.62 เพื่อกลับภูมิลำเนาซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เตรียมใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีขึ้นในวันรุ่งขึ้น
นายโซพี ดือราแม แรงงานไทยในมาเลเซีย เล่าว่า ทำงานร้านอาหารไทยในเมืองปีนัง โดยการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรที่ผ่านมาไม่ได้ไปใช้สิทธิ์ จึงได้ขออนุญาตเจ้าของร้านที่เป็นชาวมาเลเซีย เดินทางกลับบ้านที่จังหวัดปัตตานีเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.
"แรงงานไทยที่ทำงานร้านอาหารในประเทศมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ และรู้สึกตื่นเต้นกับการเลือกตั้งเพราะห่างหายไปนาน ผมคาดหวังว่าหลังผ่านการเลือกตั้งไป คงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประเทศไทยในภาพรวม" นายโซพี กล่าว
ขณะที่ พ.ต.ต.สุกรี ปลัดสามะ สารวัตรด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง บอกว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตม. อำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ พร้อมเพิ่มช่องบริการตรวจหนังสือเดินทางของแรงงานไทยที่กลับมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพื่อให้ทุกคนได้รับความสะดวก
สำหรับร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ซึ่งเรียกว่า "ร้านต้มยำ" นั้น หากมีเจ้าของร้านเป็นคนไทย ส่วนใหญ่ได้สั่งปิดร้านตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อน เพื่อให้ลูกจ้างและกุ๊กที่เป็นคนสามจังหวัดกลับมาเลือกตั้ง เนื่องจากเกรงว่าหากปิดร้านช่วงใกล้ๆ วันเลือกตั้ง จะหารถกลับไม่ได้ ถือเป็นกระแสตื่่นตัวเลือกตั้งที่สูงที่สุดในรอบหลายสิบปี บางร้านไม่เคยหยุดยาวขนาดนี้แม้แต่ช่วงเทศกาลฮารีรายอ
อีกด้านหนึ่งมีความเคลื่อนไหวของเพจเฟซบุ๊คที่อ้างว่าเป็นของ "บีอาร์เอ็น" ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์ถึงประชาชนมลายูปาตานี ประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย และสั่งห้ามประชาชนชาวมลายูมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้ง โดยอ้างว่าเป็นเรื่องผิดหลักศาสนา
"การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มี.ค.62 เป็นการแสดงละครการเมืองของไทย ซึ่งมีนักการเมืองจำนวนมากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสดงครั้งนี้ ขณะที่มีเสียงประชาชนชาวมลายูจำนวนมากตั้งคำถามเกี่ยวกับการสนับสนุนของ BRN ในการเลือกตั้ง BRN ได้สั่งห้ามเด็ดขาดในการมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้ง เพราะเป็นเรื่องผิดหลักศาสนา ทั้งหมดจึงเป็นกลอุบายของผู้ปกครองสยาม" ข้อความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ที่อ้างว่าเป็นของบีอาร์เอ็น ซึ่งเขียนเป็นภาษามลายู (ถอดความเป็นภาษาไทยคร่าวๆ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และทีมข่าวอิศรา)
คำแถลงของบีอารเอ็น ยังอ้างว่ากลุ่มขบวนการไม่ได้มีเป้าหมายหลักและเป้าหมายสุดท้ายเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับใครเป็นส่วนบุคคล บีอาร์เอ็นจึงไม่สนับสนุนการเมืองของเจ้าอาณานิคม (หมายถึงไทย หรือสยาม)
ตอนท้ายคำแถลงที่อ้างว่าเป็นของบีอาร์เอ็น มีการติดแฮชแท็ก PATANI110 (#PATANI110) ซึ่งหมายถึงวาระครบรอบ 110 ปี สนธิสัญญาแองโกล-สยาม ที่บีอาร์เอ็นออกมารณรงค์ด้วยการพ่นสีตามสถานที่ต่างๆ และก่อเหตุรุนแรงหลายจุด อ้างว่าเป็นสนธิสัญญาที่ทำให้ "นครรัฐปาตานี" ตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของไทยอย่างสมบูรณ์
ก่อนหน้านี้ มีข่าวและข้อความแชร์ทางแอพพลิเคชั่นไลน์ อ้างตัวเป็นแกนนำบีอาร์เอ็น ชักชวนให้ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปโหวตโน หรือ กาช่องไม่ลงคะแนนให้ใคร
จนถึงขณะนี้ไม่มีใครยืนยันได้ว่า แนวทางการรณรงค์แนวทางไหนที่เป็นของบีอาร์เอ็นอย่างแท้จริง แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน มเอไม่นานนี้มา สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS ยังได้ออกแถลงการณ์หัวข้อ "การเลือกตั้งสู่การกำหนดชะตากรรม" หรือ Election to Determination โดยมีสาระสำคัญให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการกำหนดชะตากรรมตนเอง และกำหนดอนาคตของปาตานี พร้อมณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งและสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็ตามแต่ และไม่เลือกพรรคที่ต้องการสืบทอดอำนาจของ คสช.