กทม.แอคชั่น! พลิกแนวทางจัดการ ‘ตรอกสาเก’ ล้างภาพแหล่งค้าประเวณี
“หากจัดโซนแล้ว ตรงนี้เป็นแหล่งค้าประเวณีใครจะกล้าเข้าไป ทุกวันนี้ทำในที่ลับ มาใช้บริการลับ ถ้าเราไปเปิดเผยใครจะกล้าเข้าไป สังคมต้องตำหนิคนที่เข้าไปใช้บริการอยู่แล้ว ซึ่งต้องมองหลายรูปแบบ ประเทศอื่นทำได้ แต่ก็มีไม่กี่ประเทศ ถ้าจะมีต้องคิดให้หนัก ครอบครัวจะอยู่ย่างไร พ่อแม่พี่น้องจะเอาหน้าตาไปไว้ไหน พี่ป้าน้าอาจะทำอย่างไร ซึ่งต้องคิด อยากตีตั๋วแล้วนามสกุลคุณล่ะจะทำอย่างไร มันถูกเหยียบหยามดูหมิ่นไปหมด เรื่องเหล่านี้ต้องคิดให้รอบคอบ”
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ลงพื้นที่ตรอกสาเก เขตพระนคร กรุงเทพฯ พบหญิงค้าประเวณีจำนวนมาก โดยข้อมูลจากมูลนิธิอิสรชน ระบุปัจจุบันมีผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนทั้งชายและหญิงตลอด 24 ชั่วโมง ประมาณ 800 คนต่อวัน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาปากท้องเป็นหลัก
(อ่านประกอบ:ตีเเผ่มุมมืด 'นางเงา' ตรอกสาเก -ความหวังของคนขายเรือนร่างกับการเปิดกว้างให้อาชีพถูก กม.)
นายไพรฑูรย์ ขัมภรัตน์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาข้อเท็จจริง และกฎหมายที่ใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในและพื้นที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งได้ติดตามปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เปิดเผยถึงปัญหาที่พบในพื้นที่ตรอกสาเกที่มีมาอย่างยาวนานว่า ปัจจุบันมีอยู่ 3 เรื่อง ปัญหาแรกคือคนขอทาน ต่อมาคือคนไร้ที่พึ่ง และสุดท้ายคือปัญหาการค้าประเวณี
“ปัญหาการค้าประเวณีคือเรื่องใหญ่มาก เราเข้าใจว่าการค้าประเวณีเกิดจากหลายๆ เรื่อง ทั้ง เศรษฐกิจ สังคม ความยากจน ไม่มีงานทำ หางานไม่ได้ ไม่รู้จะทำอะไรก็มาประกอบอาชีพนี้ จากการชักชวนกันมาของพรรคพวก เพื่อนฝูง จากที่รายงานข่าวว่า มีประมาณ 800 กว่าคน หมุนเวียนกันอยู่อย่างนี้ เป็นจำนวนที่มากพอสมควร และหนักเกินไป”
จึงต้องทำความเข้าใจกับอาชีพนี้ ด้วยหลักของความเมตตาธรรม ไม่ใช่กฎหมาย
นายไพรฑูรย์ กล่าวว่า ปัจจุบันได้เข้ามาทำความเข้าใจกับคน 3 กลุ่มในพื้นที่ตรอกสาเก (คนขอทาน คนไร้ที่พึ่ง คนขายบริการ) 1 เดือนแล้ว โดยสาเหตุที่เข้ามาจัดการในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ คือสถานที่ในบริเวณนี้ล้วนแต่เป็นสถานที่สำคัญ ทั้งพระบรมหาราชวัง วัดวาอารามต่าง ๆ สวยงามตระการตา ก่อตั้งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่กลับถูกบดบังในเรื่องแบบนี้ ประชาชนคนอื่นก็ไม่กล้าเข้ามา
“อยากมาเที่ยวก็มาไม่ได้ เพราะกลัวจะหาว่าเป็นคนกลุ่มนั้น ตรงนี้เองที่เราคิดว่าสถานที่มีส่วนเกี่ยงข้อง”
อีกอย่างคือ ตรอกสาเกเป็นตรอกสาธารณะ ซึ่งคำว่า “สาธารณะ” ใครก็ต้องเข้ามาได้ แต่การที่ถูกยึดพื้นที่โดยคนกลุ่มนี้อยู่ ซึ่งการประกอบอาชีพแบบนี้ ในพื้นที่ตรอกสาเกทำโดยเปิดเผย ซึ่งถามว่ามีไหมในประเทศอื่นๆ หรือที่อื่นในประเทศไทย นั่นก็มี แต่เขามีในที่ลับ แอบทำ แต่เราเดินเร่ขายกันเลยในถนน ไปๆ มาๆ มีโรงแรมที่ใกล้อย่างนี้อีก มันไม่ได้
การแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ มีการดำเนินการโดย หน่วยทหารเขตพระนคร เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร กรมสวัสดิการเด็ก และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาช่วยกัน ซึ่งเมื่อพบตัวกลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำอะไร แต่เป็นการคุยกัน เราไม่ใช้กฎหมาย ใช้หลักของความเมตตาธรรมมาทำความเข้าใจ
“ตอนนี้พบว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนลดลง คลองหลอดแทบจะไม่มี แต่เข้ามาอยู่ในตรอกสาเก ทีนี้เราก็พยายามทำความเข้าใจ ซึ่งจำนวนลดน้อยลง คิดว่าระยะหนึ่งทุกคนเข้าใจถึงความต้องการด้านภาพลักษณ์ของประเทศ ผมว่าเขาจะให้ความร่วมมือ ทุกคนรักประเทศไทย เพราะเราไม่ได้ไปบอกว่าเลิกรานะ เพียงแต่เราต้องการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศให้สวยงาม”
วิธีการเข้ามาแก้ไขปัญหา คือ การปรับปรุงสถานที่ให้สวยงามและดีขึ้น เชื่อว่าเมื่อปรับปรุงสถานที่ดีขึ้นแล้วจะไม่มาอยู่
ประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาข้อเท็จจริงฯ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ปรับปรุงพื้นที่ตรอกสาเกให้ดีขึ้นแล้ว น้ำสะอาด ตอนนี้จะจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยจะให้สำนักงานท่องเที่ยวเข้ามาศึกษาดูการเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวว่าสามารถทำส่วนใดได้บ้าง เริ่มจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วัดเทพธิดารามวรวิหาร วัดราชนัดดารามวรวิหาร วัดมหรรณพารามวรวิหาร และพระบรมมหาราชวัง ซึ่งตรอกสาเกเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่จะต้องผ่าน เพราะมีความสวยงาม นักท่องเที่ยวจะใช้เส้นทางเดินบนถนนราชดำเนินไม่ได้ เพราะไม่ปลอดภัย
เน้นย้ำว่า จะทำสิ่งเหล่านี้ได้ ต้องดูแลจัดการให้คนทั้ง 3 กลุ่มออกไปก่อน โดยเฉพาะกลุ่มการค้าประเวณี ซึ่งเข้ามาดูแลจัดการด้วยวิธีการค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีคำว่าเด็ดขาด ขอให้จำนวนลดลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งว่าไม่มี แม้จะต้องใช้เวลาเป็นปี เราก็ต้องยอม อย่าลืมว่าคนกลุ่มนี้ก็คือคน อยู่ๆ จะให้ไปเลย จะเอาอะไรกิน
อย่างไรก็ดี เราตั้งเป้าหมายไว้ว่า ถ้าสถานที่แห่งนี้ปรับภูมิทัศน์ดีแล้ว มีกล้อง CCTV ปรับไฟแสงสว่างให้ดี ปรับพื้นที่ทางเท้าให้สะอาดและดูดี ก็คงไม่มายืนแล้ว ซึ่งเราคิดอย่างนั้น พยายามใช้หลักในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่มากกว่า ดีกว่าไปขับไล่ไสส่ง เอาเป็นว่าค่อยๆ ไป แต่ขณะนี้ลดลง
พร้อมทั้ง การจะลดปัญหาการขายบริการ สำคัญที่สุดคือ ต้องมุ่งไปดูที่ผู้ใช้บริการด้วย เพราะการค้าประเวณีไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงผิดอย่างเดียว ผู้ชายก็ผิดด้วย มีโทษขั้นต่ำตั้งแต่ 1-3 ปี ปรับ 6 หมื่นบาท แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการเข้าไปดูแลในการควบคุมผู้ใช้บริการ ดังนั้นจึงอยากฝากให้สื่อมวลชนช่วยกันนำเสนอข่าวสารในด้านของผู้ใช้บริการด้วย ให้ผู้ใช้บริการตระหนักว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย
แล้วทำไมไม่จัดโซนดูแลคนกลุ่มนี้ ทำให้การค้าประเวณีเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย
เมื่อถามว่าควรจะต้องมีการจัดโซนดูแลคนกลุ่มนี้ นายไพรฑูรย์ มองว่าไม่ควรมีจะดีกว่า ควรคิดหลายเรื่อง ไม่ใช่ว่าฉันอยากจัดก็จัด ยังมีกฎหมายอีกมากมาย ทั้งกฎหมายการแฝงตัว กฎหมายเปลี่ยนชื่อ กฎหมายเปลี่ยนสถานะก็ต้องมี ถ้าหากต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายจริง ๆ ต้องทำกันอีกมาก
“หากจัดโซนแล้ว ตรงนี้เป็นแหล่งค้าประเวณีใครจะกล้าเข้าไป ทุกวันนี้ทำในที่ลับ มาใช้บริการลับ ถ้าเราไปเปิดเผยใครจะกล้าเข้าไป สังคมต้องตำหนิคนที่เข้าไปใช้บริการอยู่แล้ว ซึ่งต้องมองหลายรูปแบบ ประเทศอื่นทำได้ แต่ก็มีไม่กี่ประเทศ ถ้าจะมีต้องคิดให้หนัก ครอบครัวจะอยู่ย่างไร พ่อแม่พี่น้องจะเอาหน้าตาไปไว้ไหน พี่ป้าน้าอาจะทำอย่างไร ซึ่งต้องคิด อยากตีตั๋วแล้วนามสกุลคุณล่ะจะทำอย่างไร มันถูกเหยียบหยามดูหมิ่นไปหมด เรื่องเหล่านี้ต้องคิดให้รอบคอบ”
ทั้งนี้ หากจะให้เลิกประกอบอาชีพนี้เลย ยังมองว่าเป็นเรื่องที่ยาก ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ไม่มีงานทำ อยู่ที่ว่าจะจัดกันอย่างไร อยู่กันแบบไหนเท่านั้นเอง ถึงจะทำให้ถูกกฎหมาย สังคมก็ต้องคัดค้านว่าอีกมาก
นายไพรฑูรย์ ยังมีความหวังว่า สักวันหนึ่ง ผู้คนจะรู้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญ และจำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ด้วยการเลิกประกอบอาชีพและรักพื้นที่ตรงนี้ และตอนนี้ได้หาแนวทางแก้ไขร่วมกันกับชุมชน โดยให้คนในพื้นที่ช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่ให้มีการค้าประเวณี ขอทาน และคนไร้ที่พึ่ง ในชุมชน
“ถ้าเราจัดคลองดี มีน้ำใสสะอาด เหมาะแก่การท่องเที่ยว ประชาชนไม่ทิ้งขยะลงคลอง หลายๆ อย่างจะดีขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันให้การท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา คนในพื้นที่ก็จะมีรายได้ ถึงเวลานั้นการค้าประเวณีอาจจะไม่มีความจำเป็นแล้ว เพราะอาจจะเปลี่ยนอาชีพมาจำหน่ายขายของต่าง ๆ ให้กับนักท่องเที่ยว” ผู้แทน กทม. กล่าวทิ้งท้ายอย่างมีความหวัง .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/