วิเคราะห์รายเขต...11 เก้าอี้ ส.ส.ชายแดนใต้พรรคไหนเข้าวิน
ไม่ถึงร้อยเมตรสุดท้ายก็จะถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 8 ปี
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 11 เขต เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่คาดเดาผลยาก แต่ที่แน่ๆ คือ "กูรูการเมือง" ค่อนข้างมั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะเสียแชมป์ หรืออย่างน้อยก็ไม่สามารถครองเก้าอี้ ส.ส.มากที่สุดเกือบ 100% เหมือนการเลือกตั้งใหญ่ 2-3 ครั้งที่ผ่านมา
แต่อาจจะถึงยุคพรรคประชาชาติครองพื้นที่!
จากการประเมินล่าสุด พื้นที่ชายแดนใต้มีผู้สมัคร ส.ส.จากหลายสิบพรรค แต่พรรคที่มีโอกาสชิงเก้าอี้ ส.ส.ในระบบแบ่งเขต น่าจะมีแค่ 5 พรรคเท่านั้น คือ ประชาธิปัตย์ ประชาชาติ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และรวมพลังประชาชาติไทย ส่วนพรรคอนาคตใหม่ที่มีกระแสแรงในหมู่วัยรุ่นและเยาวชน น่าจะได้เฉพาะคะแนนตกน้ำไปเติมเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์
เมื่อเจาะลึกแนวโน้มรายเขต ก็มีโอกาสสูงที่ตัวเลขจะออกมาเช่นนั้น เริ่มจาก...
ยะลาจับตา "น้องวันนอร์" อยู่หรือไป?
ยะลา เขต 1 อำเภอเมืองยะลา ยกเว้น ต.บุดี ต.เปาะเส้ง และ ต.บันนังสาเรง กับ อ.ยะหา เฉพาะ ต.ยะหา ต.ตาชี และ ต.บาโงยซิแน เป็นการต่อสู้กันระหว่าง นายภูริพงศ์ พงษ์สุวรรณศิริ จากพรรคประชาธิปัตย์ กับ นายสัญญา สุวรรณโพธิ์ จากพรรคประชาชาติ
นายภูริพงศ์ มีฐานเสียงหนาแน่นจาก นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ อดีต ส.ส.เก่าหลายสมัยผู้เป็นบิดา ประกอบกับเขตนี้มีชุมชนไทยพุทธและชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนมาก ทำให้ยังครองความได้เปรียบไว้ได้ ส่วนนายสัญญาได้รับแรงสนับสนุนจาก "นายกอ๋า" พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศบาลนครยะลา รวมกับฐานเสียงของวาดะห์ในพื้นที่รอบนอก และฐานเสียงในกลุ่มนักศึกษา ทำให้คะแนนภาพรวมสูสีกันมาก
ขณะที่ตัวสอดแทรกอย่าง อาดีลัน อาลีอิสเฮาะ อดีตประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมสาขาจังหวัดยะลา ที่สวมเสื้อพลังประชารัฐลงสู้ศึก ยังยากที่จะเบียดแทรกขึ้นมาได้
ยะลา เขต 2 อ.รามัน อ.ยะหา เฉพาะ ต.ปะแต ต.ละแอ ต.กาตอง และ ต.บาโร๊ะ กับ อ.กาบัง อ.เมืองยะลา เฉพาะ ต.บุดี ต.เปาะเส้ง และ ต.บันนังสาเรง เป็นสนามช้างชนช้างระหว่าง นายริดวาน มะเตะ จากพรรคภูมิใจไทย กับ นายซูการ์โน มะทา จากพรรคประชาชาติ เรียกว่าเป็นศึกของ "สองบ้านใหญ่" ในยะลาก็ไม่ผิด
นายริดวาน มะเตะ เป็นอดีตสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา (ส.อบจ.ยะลา) เขตอำเภอรามัน เป็นลูกชายของ นายมะโซ๊ะ มะเตะ หรือ "กำนันเปาะจิ" นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตะโละหะลอ ผู้กว้างขวางในอำเภอรามัน มีหัวคะแนนครบทุกตำบล
ขณะที่ นายซูการ์โน มะทา อดีตประธานสโมสรฟุตบอลยะลาเอฟซี เป็นน้องชายของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ และแกนนำกลุ่มวาดะห์ โดยนายวันนอร์มีบารมีสูงมากในพื้นที่ เป็นนักการเมืองจากยะลาและสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดคนหนึ่ง เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา และรัฐมนตรีหลายกระทรวง การส่งน้องชายอย่างนายซูการ์โนลงสมัคร จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนนายวันนอร์ ทำให้เขตนี้ถึงอย่างไรก็แพ้ไม่ได้ กลายเป็นศึกใหญ่ที่คาดเดาผลยากอีกเขตหนึ่ง แม้หลายคนจะเชื่อว่านายริดวานจะเป็นต่อมาตลอดก็ตาม
ยะลา เขต 3 อ.เบตง อ.ธารโต อ.บันนังสตา และ อ.กรงปินัง ตัวเต็งเป็น นายณรงค์ ดูดิง อดีต ส.ส.หลายสมัยจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมีฐานเสียงมาก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่มานาน โดยเฉพาะชาวไทยพุทธ และชาวไทยเชื้อสายจีน ขณะที่พรรคประชาชาติส่ง นายอับดุลอายี สาแม็ง อดีต ส.ว. และอดีตนักการเมืองท้องถิ่นยะลา ทั้งยังเป็นคนสนิทของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ลงสู้ศึก ทำให้การแข่งขันค่อนข้างดุเดือด แต่นายณรงค์ในฐานะ ส.ส.เก่าเจ้าของพื้นที่ยังมีแต้มต่ออยู่พอสมควร
ปัตตานี ปชป.แผ่วปลาย - ประชาชาติมีเฮ
ปัตตานี เขต 1 อ.เมือง และ อ.ยะหริ่ง ยกเว้น ต.จะรัง ต.สาบัน ต.ตอหลัง ต.ตันหยงจึงงา ต.บาโลย ต.ตันหยงดาลอ ต.มะนังยง และ ต.หนองแรต ถือเป็นเขตที่ออกได้ทุกหน้า แม้ประชาธิปัตย์จะมี นายอันวาร์ สาและ เป็นแชมป์เก่า แต่ก็ไม่ใช่อดีต ส.ส.ที่มีฐานเสียงแข็งปึ้ก ชนกับใครก็ได้ แถมรอบนี้ยังต้องเจอกับ อรุณ เบญจลักษณ์ อดีต ส.ส.ปัตตานี เขต 1 พรรคภูมิใจไทย และอดีตนายก อบจ.ปัตตานี ซึ่งมีฐานเสียงในเขตเมืองค่อนข้างดี โดยคราวนี้หันไปสวมเสื้อรวมพลังประชาชาติไทย
นอกจากนั้นยังมี ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู อดีตผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จากพรรคประชาชาติ ลงมาชนเข้าอย่างจัง โดย อาจารย์วรวิทย์ ไม่ใช่ธรรมดา เพราะเคยเป็นอดีต ส.ว.เลือกตั้งของปัตตานี และมีชื่อเสียงในแวดวงวิชาการ รวมทั้งปัญญาชน
อีกคนคือ นายมูฮำมัดปาเรซ โลหะสัณฑ์ จากพรรคพลังประชารัฐ แม้ระยะหลังจะแผ่วลงไปบ้าง แต่ประมาทไม่ได้ เนื่องจากเป็นทั้งสื่อมวลชนและทำงานการเมืองท้องถิ่นมานาน เคยเป็นอดีต ส.จ.ปัตตานีด้วย หากผู้สมัครที่เหลือตัดคะแนนกันเอง ก็อาจมีลุ้นเบียดแทรกขึ้นมาได้
ปัตตานี เขต 2 อ.หนองจิก อ.โคกโพธิ์ และ อ.แม่ลาน ผู้สมัครที่มีภาษีมากที่สุดยังคงเป็น นายอิสมาแอล เบญอิบรอฮีม อดีต ส.ส.หลายสมัยจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมีฐานเสียงจากชาวไทยพุทธค่อนข้างแน่น คู่ชิงคือพรรคประชาชาติที่ส่ง นายมูฮำมัดอารีฟีน จะปะกิยา ซึ่งเคยเป็นอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ในอดีต หวนกลับมาทวงเก้าอี้ แต่ถ้าหวังพลิกชนะคงต้องเหนื่อยเป็นพิเศษ
ปัตตานี เขต 3 อ.กะพ้อ อ.ไม้แก่น อ.สายบุรี อ.ปะนาเระ และ อ.ยะหริ่ง เฉพาะ ต.จะรัง ต.สาบัน ต.ตอหลัง ต.ตันหยงจึงงา ต.บาโลย ต.ตันหยงดาลอ ต.มะนังยง และ ต.หนองแรต เขตนี้ค่อนข้างแบเบอร์ เมื่อ นายอนุมัติ ซูสารอ อดีต ส.ส.คนดังจากพรรคมาตุภูมิ เมื่อปี 54 ตัดสินใจสวมเสื้อพรรคประชาชาติ นายอนุมัติชื่อเสียงดี และฐานคะแนนแน่น จึงไม่น่ามีปัญหา ขณะที่คู่แข่งจากพรรคภูมิใจไทยอย่าง นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเต๊ะ อดีตสมาชิก อบจ. และทนายมุสลิม แม้กระดูกการเมืองจะไม่แข็งเท่า แต่ก็ได้รับแรงหนุนแบบเต็มร้อยจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ที่ต้องการปักธง ส.ส.พื้นที่ปัตตานีให้ได้ ทำให้เขตนี้จัดว่าดุเดือด
ปัตตานี เขต 4 อ.มายอ อ.ทุ่งยางแดง และ อ.ยะรัง เป็นอีกเขตหนึ่งที่พรรคประชาชาติน่าจะแบเบอร์ เพราะ นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ อดีต ส.ส.เมื่อปี 54 จากพรรคภูมิใจไทย ถอดเสื้อตัวเก่ามาสวมเสื้อประชาชาติ ทำใหฐานเสียงส่วนตัวที่แน่นอยู่แล้ว มีฐานเสียงวาดะห์เสริมเข้าไปอีก ส่วนคู่แข่งคือ นายอันวาร์ สะมาแอ จากพรรคพลังประชารัฐ เป็นอดีตนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ พลิกสถานการณ์ยากจริงๆ
นราธิวาส...พลังประชารัฐลุ้นปักธง
นราธิวาส เขต 1 อ.เมือง กับ อ.ตากใบ เขตนี้น่าจะเป็นเขตที่พรรคพลังประชารัฐปักธงที่ชายแดนใต้ได้สำเร็จ เมื่อ นายวัชระ ยาวอหะซัน อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ตัดสินใจสวมเสื้อ "พรรคลุงตู่" นายวัชระ มีฐานเสียงสนับสนุนในระดับ "แข็งโป๊ก" จาก นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน ผู้เป็นบิดา ซึ่งเป็น นายก อบจ.นราธิวาส คุมเครือข่ายหัวคะแนนและกลุ่มผลประโยชน์แทบจะเบ็ดเสร็จ ขณะที่นายวัชระยังมีฐานเสียงส่วนตัว เพราะเป็นผู้บริหารสโมสรฟุตบอลนราธิวาสยูไนเต็ดด้วย
แต่เส้นทางของนายวัชระ ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะต้องเผชิญหน้ากับ นายกูอาเซ็ม กูจินามิง อดีต ส.ส.พื้นที่นี้จากพรรคประชาธิปัตย์ โดย นายกูอาเซ็ม ทำงานการเมืองมายาวนาน และมีฐานเสียงหนาแน่นทั้ง อ.ตากใบ และ อ.เมือง หากพรรคพลังประชารัฐต้องการปักธง ต้องออกแรงมากเป็นพิเศษ
ส่วนผู้สมัครจากพรรค "ลุงกำนัน" รวมพลังประชาชาติไทย อย่าง ด.ต.มโณ วารีวานิช เพิ่งลงการเมืองครั้งแรก กระดูกการเมืองยังไม่แข็งพอ คงต้องรอปาฏิหาริย์
นราธิวาส เขต 2 อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง และ อ.สุไหงปาดี เป็นอีกเขตหนึ่งที่พรรคพลังประชารัฐมีโอกาสปักธงได้สำเร็จ แม้จะไม่ง่ายนักก็ตาม โดย "พรรคลุงตู่" ส่ง นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ลงชิงเก้าอี้ เพราะเดินหาเสียงมานาน และวางเครือข่ายค่อนข้างครอบคลุมพอสมควร ทั้งยังน่าจะมี "พลังพิเศษ" ช่วยในช่วงโค้งสุดท้าย
แต่คู่แข่งล้วนเป็นกระดูกชิ้นโต ได้แก่ นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ อดีต ส.ส.หลายสมัยจากค่ายประชาธิปัตย์ ที่คราวนี้แปรพักตร์ไปลงพรรคลุงกำนัน นายสุรเชษฐ์เป็นคนขยันลงพื้นที่ จึงมีลุ้น มองข้ามไม่ได้
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ แก้เกมด้วยการส่ง นายเจ๊ะซู ตาเหย็บ อดีต ส.จ.เขต อ.สุไหงโก-ลก ที่ไต่เต้ามาจากผู้ใหญ่บ้าน มาลุ้นชิงเก้าอี้ โดยนายเจ๊ะซูมีฐานเสียงแน่นที่เมืองชายแดนอย่างโก-ลก ทั้งนักการเมืองท้องถิ่นและกลุ่มธุรกิจ ขณะที่แกนนำพรรคก็ตั้งความหวัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เคยลงพื้นที่ช่วยหาเสียงด้วยตัวเอง งานนี้มีโอกาสเป็นตัวสอดแทรก เบียดเข้าวินได้เหมือนกัน
นราธิวาส เขต 3 อ.ระแงะ อ.จะแนะ อ.เจาะไอร้อง และ อ.สุคิริน เขตนี้เป็น "ศึก 3 เส้า" ตัวเต็งคือ นายกูเฮง ยาวอหะซัน ลูกชายอีกคนของ นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน นายก อบจ.นราธิวาส เคยเป็นอดีต ส.ส.ชาติไทยพัฒนา (สมัยที่ยังใช้ชื่อพรรคชาติไทย) เหมือนกับนายวัชระ พี่ชาย แต่เจ้าตัวตัดสินใจลงพรรคประชาชาติ ไม่ไหลไปพลังประชารัฐเหมือนวัชระ เดิมเคยอยู่ขั้วตรงข้ามกับกลุ่มวาดะห์มาตลอด แต่ครั้งนี้เมื่อเข้าร่วมกับพรรคประชาชาติ ทำให้ฐานเสียงคูณสอง
ติดอยู่อย่างเดียวคือมีปัญหากับผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นนายก อบจ.นราธิวาส ซึ่งฝั่งพ่อส่ง นางตัสนีม เจ๊ะตู อดีต ส.จ.เขต อ.เจาะไอร้อง ลงแข่งกับลูกตัวเองในนามพรรคพลังประชารัฐ แต่ต้องลุ้นว่าจะแรงพอที่จะเอาชนะคะแนนส่วนตัวของกูเฮง และเสียงสนับสนุนจากวาดะห์หรือไม่
คู่แข่งสำคัญอีกคนคือ นายรำรี มามะ จากพรรค "ลุงกำนัน" รวมพลังประชาชาติไทย เป็นอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์หลายสมัย มีฐานะเสียงทั้งจากนักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และนักธุรกิจ กระจายอยู่ทุกอำเภอในเขต 3 ทำให้คาดเดายากว่าใครจะเข้าเส้นชัย
นราธิวาส เขต 4 อ.บาเจาะ อ.ยี่งอ อ.รือเสาะ และ อ.ศรีสาคร เป็น "ศึก 3 เส้า" อีกเหมือนกัน โดย นายเจ๊ะอิลย๊าส โตะตาหยง ในสีเสื้อรวมพลังประชาชาติไทย ลูกชายของ เจะอามิง โตะตาหยง อดีต ส.ส.หลายสมัยค่ายประชาธิปัตย์ ที่คราวนี้หอบลูกย้ายเข้าชายคา "ลุงกำนัน" แต่ต้องเจอกับกระดูกชิ้นโตอย่าง นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ หรือ "ทนายแวยูแฮ" จากพรรคประชาชาติ อดีตประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จ.นราธิวาส ซึ่งมีฐานเสียงหนาแน่นจากกลุ่มนักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ โดยเฉพาะ อ.รือเสาะ
เท่านั้นยังไม่พอ ยังมี นายสุกรี มะเต๊ะ ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย ที่มีฐานเสียงทับซ้อนกับทนายแวยูแฮด้วย โดยเขต 4 นราธิวาส ว่ากันว่าต้องสู้กันถึงฎีกา
และนี่คือบทวิเคราะห์เจาะรายเขตจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนผลจะเป็นอย่างที่วิเคราะห์คาดการณ์หรือพลิกล็อคจนต้องอ้าปากค้าง...หลังปิดหีบ 5 โมงเย็นวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค.ก็จะได้รู้กัน!
---------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
สมรภูมิเลือกตั้งชายแดนใต้...5 พรรคเปิดศึกใหญ่ชิง 11 เก้าอี้ ส.ส.
รัฐเปิดแคมเปญลดเบี้ยปรับ กยศ. - ประชาชาติสร้างกระแสปลดหนี้ที่ชายแดนใต้
ควันหลง"สุเทพ"ลุยชายแดนใต้เบียด ปชป. - "ประชาชาติ"ชูแก้หนี้ กยศ.
ชายแดนใต้ผู้สมัคร ส.ส.ล้น เขตชนช้างอื้อ ฮือฮาตั้งเวทีปราศรัยถึงตี 1