ตามไปดูงานประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีเกาหลีใต้ เทียบเคียงไทย เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?
"...ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ยังได้มีการเปิดประมูลดิวตี้ฟรีสำหรับผู้โดยสารขาเข้า เพื่อบริการผู้ที่เพิ่งจะเดินทางมาถึงโดยเฉพาะ และเพิ่งมีการปิดการยื่นซองประมูลไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมานี้ โดย สัมปทานที่สนามบินอินชอนได้เปิดนั้นมีอยู่ 2 สัมปทาน ครอบคลุมพื้นประกอบการร้านในเทอร์มินอล 1 ประมาณ 380 ตารางเมตร และในเทอร์มินอล 2 ประมาณ 326 ตารางเมตร ส่วนเงื่อนไขผู้เข้าประมูลสัมปทานนั้น ระบุชัดเจนว่าต้องการให้แค่เอสเอ็มอี เข้ามามีส่วนร่วมในการประมูลสัมปทานเท่านั้น โดยตัดเอาผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจดิวตี้ฟรีมาก่อน อย่างเช่น Lotte, Shilla และ Shinsegae ออกจากการประมูลอย่างสิ้นเชิง..."
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา การเปิดประมูลสัมปทานร้านสินค้าปลอดอากรหรือดิวตี้ฟรี ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) (ทอท.) กลายเป็นประเด็นร้อนที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน
เนื่องจากปรากฎข้อทักท้วงว่า การดําเนินงานของ ทอท. ในการจัดทําข้อกําหนดและรายละเอียดการ ให้สิทธิประกอบกิจการจําหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยาน เชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และการบริหารโครงการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ โดยเลือกประมูลแบบสัญญาเดียว ส่อว่าจะมีลักษณะผูกขาด และอาจจะไม่สอดคล้องกับกฎหมายร่วมทุนที่มีการ ประกาศใช้ใหม่ (อ่านประกอบ :องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จี้บิ๊กตู่ ใช้ ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ ประมูลดิวตี้ฟรีใหม่-ป้องกันผูกขาด)
ขณะที่ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) (ทอท.) ออกมาแถลงข่าวยืนยันต่อสาธารณชนว่า "ทอท.ได้ดําเนินการจัดทําข้อกําหนดและรายละเอียดของทั้งสอง โครงการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องในทุกกระบวนการ โดยคํานึงประโยชน์สูงสุดของ ทอท.และประเทศที่จะได้รับ เป็นสําคัญ รวมถึงการที่จะดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 ที่กําหนดให้มีคนนอกร่วมอยู่ใน กระบวนการด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การดําเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบและชี้แจงต่อสาธารณชนได้ ทอท.จะรอฟังเหตุผลใหม่ๆก่อนเป็นระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้าหากมีข้อโต้แย้งด้วยเหตุผลใหม่ๆ ทอท.ก็พร้อมจะออกมาชี้แจง โดยคาดว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น จะสามารถชี้แจงข้อสงสัยต่างๆได้หมด และคาดว่าในเดือน ก.ย.น่าจะทราบผู้ชนะการประมูลพื้นที่ได้" (อ่านประกอบ :คำต่อคำ! นิตินัย แจงเหตุดันประมูลดิวตี้ฟรีใหม่ ยันจบดร.มารู้นิยามเรื่องผูกขาดดี, คำต่อคำ! นิตินัย แจงเหตุดันประมูลดิวตี้ฟรีใหม่ ยันจบดร.มารู้นิยามเรื่องผูกขาดดี)
อย่างไรก็ดี ในข้อทักท้วงเกี่ยวกับการเปิดประมูลสัมปทานร้านสินค้าปลอดอากรหรือดิวตี้ฟรี ของ ทอท. ในช่วงที่ผ่านมา นั้น ข้อมูลจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่นำรายได้ ยอดขายสินค้าปลอดภาษีและธุรกิจค้าปลีกในสนามบินต่างประเทศ มาเปรียบเทียบกับประเทศไทย ซึ่งพบว่าสูงถึง 5.7 เท่า โดยเป็นจำนวนเงินถึง 10.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 3.49 แสนล้านบาท นับเป็นข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
โดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) อ้างอิงข้อมูลจาก Generation research ระบุว่า ปี 2559 ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 32.6 ล้านคน (จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ค้างแรม) กลับสามารถสร้างรายได้จากการขายสินค้าปลอดภาษีอากรได้แค่ราว 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 6.1 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้มีจานวนผู้มาเยือนเพียง 16.9 ล้านคน แต่ยอดขายสินค้าปลอดภาษีและธุรกิจค้าปลีกในสนามบินสูงกว่าประเทศไทยถึง 5.7 เท่า โดยเป็นจำนวนเงินถึง 10.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 3.49 แสนล้านบาท
เมื่อพิจารณาข้อมูลต่างๆแล้ว ยังพบว่า ประเทศชาติได้ผลตอบแทนจากอุตสาหกรรมนี้ต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น เกาหลี สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และกว่าสิบปีที่ผ่านมามีข่าวไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับร้าานค้าปลอดภาษีอากรมากมาย ทั้งที่เป็นคดีความและเรื่องที่ถูกตรวจสอบโดยรัฐสภา สภาปฏิรูป สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป เช่น การจ่ายผลตอบแทนไม่เป็นไปตามสัญญา การตรวจสอบของเจ้าหน้ารัฐด้อยประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการไม่โปร่งใส เป็นต้น ขณะที่หลายประเทศสามารถสร้างจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ด้วยการช้อปปิ้งโดยเฉพาะสินค้าปลออดภาษีอากร นอกจากจะทำให้ตลาดท่องเที่ยวเติบโตแล้วยังสร้างรายได้ สร้างการจ้างงาน ให้ผลตอบแทนที่ดีแก่รัฐ จึงไม่สมควรที่จะเสียโอกาสเหล่านี้ไปอีก (อ่านประกอบ : หวั่นเร่งอนุมัติเอื้อทุนใหญ่ก่อนมีรบ.ใหม่! ACTจับตาประมูลดิวตี้ฟรี-ข้องใจรายได้ต่ำกว่าตปท.)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลการบริหารงานสัมปทานร้านสินค้าปลอดอากรหรือดิวตี้ฟรี ในเกาหลีใต้ เพิ่มเติม พบว่า เมื่อเดือน ก.พ. 2558 ที่ผ่านมา กรมศุลกากรเกาหลีใต้ Korea Customs Service (KCS) ได้ออกหนังสือเชิญชวนให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมประมูลร้านดิวตี้ฟรีจำนวน 4 แห่งในย่านดาวน์ทาวน์ แบ่งเป็นร้านดิวตี้ฟรี 3 แห่ง เปิดในบริเวณกรุงโซล และอีก 1 ร้านที่เหลือจะเปิดบริการที่ย่านเกาะเจจู ซึ่งเป็นเกาะท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ
โดยขั้นตอนการดำเนินงานมีการเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมการประมูล โดยร้านดิวตี้ฟรีในกรุงโซล 2 จาก 3 แห่งนั้น เป็นการเชิญชวนไปยังทุกบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขัน รวมไปถึงบริษัทต่างประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม การประกาศเชิญชวนของกรมศุลกากรเกาหลีใต้ มีการระบุเงื่อนไขว่าร้านดิวตี้ฟรีทุกร้านที่เข้าร่วมประมูลนั้นจะต้องเปิดร้านให้ทันภายใน 7 เดือน นับตั้งแต่ที่ได้รับใบอนุญาต ทำให้ถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ยื่นประมูลจากประเทศเกาหลีใต้มากกว่าเนื่องจากบริษัทเหล่านี้ มีทั้งปัจจัยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพร้อมแล้ว
ขณะที่สัมปทานร้านดิวตี้ฟรีอีก 2 แห่ง คือในกรุงโซล 1 แห่ง และบนเกาะเจจูอีก 1 แห่งนั้น ในเอกสารเชิญชวนของกรมศุลกากรเกาหลีใต้ระบุชัดเจนว่าจะสงวนไว้ให้สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่จะให้ผู้ประกอบการรายเล็กได้เข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจดิวตี้ฟรี ขณะที่ธุรกิจดิวตี้ฟรีของเกาหลีใต้นั้นมีผู้ครองตลาดรายใหญ่โดยบริษัท Chaebol ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติของเกาหลีใต้เอง
โดยระยะเวลาปิดให้ยื่นซองการประมูลนั้น คือ ในวันที่ 1 มิ.ย. 2558 ทำให้ผู้ยื่นซองประมูลมีเวลาเตรียมตัว 4 เดือนเพื่อเตรียมยื่นซอง ซึ่งกรณีนี้ก็เป็นที่คาดหวังว่าจะเป็นการช่วยให้ธุรกิจรายย่อยรวมไปถึงบริษัทอื่นๆที่ขาดประสบการณ์ในการยื่นซองประมูลนั้นได้เตรียมตัวที่จะเข้าร่วมการยื่นซองประมูลร้านดิวตี้ฟรีรายใหญ่
โดยผู้ที่ยื่นซองประมูลจะต้องส่วนข้อมูลแผนงานธุรกิจเบื้องต้นก่อน แต่ยังไม่จำเป็นต้องเสนอข้อเสนอทางการเงินในขั้นดังกล่าว
สำหรับขั้นตอนการประเมินผู้ยื่นซองประมูลนั้นใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 60 วัน และพอถึงสิ้นเดือน ก.ค. จึงมีการประกาศชื่อผู้ที่ชนะการประมูลร้านดิวตี้ฟรีในแต่ละแห่ง ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละแห่งที่ได้รับสัญญาการประมูลนั้นจะมีเวลาเตรียมตัวเพื่อเปิดร้านเป็นระยะเวลา 7 เดือน เพื่อจะเปิดหน้าร้านในช่วงสิ้นเดือน ก.พ. 2559
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเปิดประมูลสัมปทานนั้นจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นหลัก แต่ปัญหาก็คือผู้ประกอบการรายย่อยนั้นยังคงจะต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีรายใหญ่ อาทิ Lotte และ Shilla ซึ่งมีเส้นสายกับบริษัททัวร์เกาหลีใต้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดประมูลสัมทานดิวตี้ฟรีทีน่าสนใจอีกกรณีหนึ่งคือในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ยังได้มีการเปิดประมูลดิวตี้ฟรีสำหรับผู้โดยสารขาเข้า เพื่อบริการผู้ที่เพิ่งจะเดินทางมาถึงโดยเฉพาะ และเพิ่งมีการปิดการยื่นซองประมูลไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมานี้ โดย สัมปทานที่สนามบินอินชอนได้เปิดนั้นมีอยู่ 2 สัมปทาน ครอบคลุมพื้นประกอบการร้านในเทอร์มินอล 1 ประมาณ 380 ตารางเมตร และในเทอร์มินอล 2 ประมาณ 326 ตารางเมตร
ส่วนเงื่อนไขผู้เข้าประมูลสัมปทานนั้น ระบุชัดเจนว่าต้องการให้แค่เอสเอ็มอี เข้ามามีส่วนร่วมในการประมูลสัมปทานเท่านั้น โดยตัดเอาผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจดิวตี้ฟรีมาก่อน อย่างเช่น Lotte, Shilla และ Shinsegae ออกจากการประมูลอย่างสิ้นเชิง
โดยสนามบินอินชอนนั้นจะประเมินผู้ให้คะแนน 60 เปอร์เซ็นต์จากแผนงานทางธุรกิจ และอีก 40 เปอร์เซ็นต์จากเอกสารงบการเงิน ซึ่งหลังจากที่สนามบินได้ประเมินผู้ชนะการประมูลเบื้องต้นแล้วก็จะมีการส่งข้อมูลไปให้กับกรมศุลกากรเกาหลีใต้เพื่อคัดเลือกผู้ชนะอีกทีหนึ่ง ส่วนการให้คะแนนนั้นจะมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 1,000 คะแนน โดยสนามบินอินชอนจะมีส่วนร่วมในการให้คะแนนแค่ 250 คะแนนเท่านั้น ขณะที่กรมศุลกากรเกาหลีใต้จะให้คะแนนผู้ยื่นซองประมูลโดยดูจากสถานะหนี้สินของผู้ที่ยื่นประมูลเป็นสำคัญ
โดยผู้ที่ชนะการประมูลนั้นจะต้องแบ่งผลกำไรขั้นต่ำให้กับทางสนามบินตามประเภท สินค้า ได้แก่ น้ำหอม และเครื่องสำอาง แบ่งกำไร 21.7 เปอร์เซ็นต์ สินค้าทั่วไป 22.3 เปอร์เซ็นต์ สุรา 26.3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบนั้นได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับร้านดิวตี้ฟรีผู้โดยสารขาเข้า
(เรียบเรียงจาก:https://www.trbusiness.com/regional-news/asia-pacific/korean-customs-invites-four-new-downtown-shop-bids/72005, https://www.moodiedavittreport.com/incheon-airport-announces-bids-for-debut-arrivals-duty-free-stores/)
ทั้งหมดนี้ คือรายละเอียดการเปิดประมูลสัมปทานร้านดิวตี้ฟรี เบื้องต้นของประเทศเกาหลีใต้ ที่สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบในขณะนี้ ภายใต้ความพยายามของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ต้องการจะให้ธุรกิจรายเล็กนั้นได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด โดยมีหน่วยงานรัฐอย่างกรมศุลกากร เป็นผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการคัดเลือกดังกล่าวด้วย
ส่วนของประเทศไทยนั้น ข้อมูลกระบวนขั้นตอนการดำเนินงาน ดูเหมือนจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งในขั้นตอนการปฎิบัติ และนโยบายของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/