ผู้นำชาวบ้านชี้ปัญหา “สวัสดิการชุมชน” ยึดติดตัวเงินมากกว่าพัฒนาพื้นที่
ผู้นำชาวบ้านแจงปัญหาสวัสดิการชุมชน ยังยึดติดงบประมาณมากกว่ายกระดับการพัฒนาท้องถิ่น ชี้ชุมชนคือคำตอบความสำเร็จ แนะพัฒนากลไกจังหวัดให้เข้มแข็ง เชื่อมร้อยทุกกองทุน ทุกภาคส่วน
วันที่ 9 ก.พ.54 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) จัดสัมมนา “ความก้าวหน้าโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการควบคู่กระบวนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชน” ณ โรงแรมทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผอ.พอช. กล่าวว่าจากงานวิจัยพบว่าสวัสดิการชุมชนในหลายจังหวัดมีบทเรียนดีๆที่สามารถเป็นต้นแบบได้ เช่น จ.กำแพงเพชรสามารถรวมหน่วยงานต่างๆในพื้นที่มาทำข้อตกลงหรือเอ็มโอยูเพื่อขับเคลื่อนงานร่วมกันทั้งพัฒนาสังคมจังหวัด คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ พัฒนาการชุมชน สาธารณสุข โดยเคลื่อนงานสวัสดิการคู่กับสภาองค์กรชุมชน และมีการจัดสมัชชาสวัสดิการ หรือที่ราชบุรีมีการจัดโครงการผู้ว่าฯลงพื้นที่พบชุมชน
นายแก้ว สังข์ชู ผู้แทนอนุกรรมการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน กล่าวว่าทิศทางการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนด้วยกลไกจังหวัดที่ผ่านมาพบว่ายังมีปัญหาที่ชาวบ้านมุ่งเป้าไปที่งบประมาณสนับสนุนมากกว่าพัฒนาและยกระดับองค์กรชุมชนให้คิดเป็น หรือยังเห็นสวัสดิการชุมชนเป็นเป้าหมายแทนที่จะเป็นเครื่องมือเชื่อมคนให้มาจัดการเรื่องอื่นๆ
นายแก้ว กล่าวว่าทิศทางปี 54 กลไกจังหวัดต้องพัฒนายุทธศาสตร์การทำงานสวัสดิการให้มากขึ้น ออกแบบให้เห็นกระบวนการขับเคลื่อนใน 3 เรื่องคือ จัดการคน การบริหารจัดการที่ทำให้ชาวบ้านตื่นรู้มีส่วนร่วมตั้งแต่การกำหนดทิศทางถึงการปฏิบัติที่เหมาะสมกับแต่ละบริบทพื้นที่ และต้องมีการชื่อมโยงทุกภาคส่วน รวมทั้งเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างราชการและท้องถิ่น พร้อมทั้งขยายให้เกิดเครือข่ายสมัชชาสวัสดิการชุมชนที่สอดคล้องกับสวัสดิการระดับท้องถิ่น และเชื่อว่าความสำเร็จของงานสวัสดิการชุมชนที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ชาวบ้าน
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่าปีที่แล้วเกิดสวัสดิการ 3,471 กองทุน สมาชิกกว่า 1.1 ล้านคน มีเงินกว่า 6 ร้อยล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับคนที่ยังอยู่นอกระบบเข้าไม่ถึงบริการสังคมที่รัฐจัดให้ยังห่างกันมาก จึงมีความจำเป็นต้องขยายสวัสดิการชุมชนให้กว้างขวางเพื่อครอบคลุมมากกว่านี้
นายกฤษดา กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้กรมตั้งเป้าว่าให้กลุ่มสวัสดิการชุมชนที่โตระดับหนึ่งมีส่วนร่วมกำหนดแผนพัฒนาท้องถิ่น และทำให้มีคุณภาพครอบคลุมการจัดบริการสาธารณะของท้องถิ่น โดยถ่ายโอนบางภารกิจให้ชาวบ้านจัดการกันเอง เท่ากับเป็นการกระจายอำนาจให้ชุมชนจัดการตนเอง
“ต้องสร้างขบวนให้ชัด พื้นที่ที่จัดสวัสดิการแล้วอย่ามัวไปสาละวนอยู่กับการจัดการการเงินอย่างเดียว ต้องพัฒนาแกนนำ และขยายฐานภาคีการพัฒนาต่างๆ ทำข้อมูลให้ชัดโปร่งใสและวางระบบต่อเชื่อมกับคนอื่นให้ได้”
นายประยูร เผ่าเต็ม ตัวแทนโครงการวิจัยสวัสดิการ จ.พะเยา กล่าวถึงรูปธรรมการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชนในพื้นที่ว่า เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2544 ด้วยองค์กรชาวบ้าน 26 เครือข่าย ครอบคลุมทุกมิติก่อนรัฐบาลจะประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ปัจจุบันมี 63 กองทุน ปัจจัยสำคัญคือคณะกรรมการระดับจังหวัดมีความเข้มแข็ง มีการประเมินทบทวนหาจุดแข็งจุดอ่อน บวกกับฐานชาวบ้านที่แข็งแรง ทำให้งานสวัสดิการชุมชนเติบโต ล่าสุดได้รับรางวัลการมีส่วนร่วมยอดเยี่ยมจากสำนักงานคณะกรรมการนพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสถาบันพระปกเกล้า
ด้านนางรัชนี วชิรภูชัย ตัวแทนจากโครงการวิจัย จ.สิงห์บุรี กล่าวว่าการเปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกปี ทำให้งานสวัสดิการที่เคลื่อนมานานไม่ค่อยคืบหน้า จึงร่วมมือกับกองทุนทุกตำบล 44 แห่ง ตั้งคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดขึ้น ประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้านช่วยงานภาครัฐ กลั่นกรองเรื่องต่างๆ ก่อนเสนอผู้ว่าฯ ตั้งแต่กระบวนการของบสนับสนุน ตลอดจนการติดตามตรวจสอบ.