บกปภ.ช.ประชุมคอนเฟอเรนซ์ฯ ติดตามสถานการณ์น้ำ วางแนวแก้ไขภัยแล้งรอบด้าน
บกปภ.ช.ประชุมคอนเฟอเรนซ์ฯ ติดตามสถานการณ์น้ำ วางแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งรอบด้าน กลุ่มพยากรณ์ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ และกลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2562 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2562 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยัง 76 จังหวัดในการนี้ คณะองคมนตรี ได้แก่ นายพลากร สุวรรณรัฐ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุก พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา นายจรัลธาดา กรรณสูต พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ นายอำพน กิตติอำพน พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง รวมถึงพลเรือเอก ปวิตร จุลเทศ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ร่วมติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และขอให้ทุกภาคส่วนน้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ตรงจุดมาใช้ในการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงภัยและเตรียมมาตรการรองรับอย่างเหมาะสม พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับแต่ละสภาพพื้นที่ มุ่งเน้นการติดตามสภาพอากาศ และสำรวจแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก การเชื่อมโยงการบริหารการจัดน้ำในแต่ละลุ่มน้ำ การดูแลแหล่งกักเก็บน้ำในระดับหมู่บ้าน
ทั้งการขุดลอกคูคลอง สระน้ำ การกำจัดวัชพืช ดินโคลนตมในคลองส่งน้ำ และการจัดหาภาชนะกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ประจำครัวเรือน รวมถึงประสานจัดทำฝนหลวงเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง
พลเอก อนุพงษ์ เปิดเผยว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้บูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ผ่านกลไกการปฏิบัติ 3 กลุ่ม ดังนี้
1) กลุ่มพยากรณ์ ประกอบด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
2) กลุ่มบริหารจัดการน้ำ ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
3) กลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ แยกเป็น 1.หน่วยงานแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค 2. หน่วยงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ กระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ
กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเน้นการดำเนินแก้ไขปัญหาภัยแล้งเชิงรุกอย่างรอบด้าน ทั้งมาตรการรองรับปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบปริมาณน้ำต้นทุน และสำรวจความต้องการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ พร้อมจัดเตรียมทรัพยากรให้พร้อมรับมือภัยแล้ง ทั้งกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย รถบรรทุกน้ำ และเครื่องสูบน้ำ รวมถึงจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ เน้นน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ควบคู่กับการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมายทั้งในและนอกเขตการให้บริการน้ำประปา และพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกเกินแผนที่กำหนด อีกทั้งจัดหาน้ำจากทุกแหล่งรองรับการใช้น้ำ ด้วยการขุดลอกแหล่งน้ำเพิ่มเติม วางท่อสูบส่งน้ำ หรือจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำ ขุดเจาะบ่อบาดาล อีกทั้งแจ้งเตือนเกษตรกรงดปลูกพืชฤดูแล้ง เน้นสร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำ รวมถึงส่งเสริมการเกษตรที่ใช้น้ำน้อย ตลอดจนวางมาตรการดูแลความปลอดภัยด้านชีวิตและทรัพย์สิน อาทิ การป้องกันการลักขโมยเครื่องสูบน้ำ หรือเครื่องมือทางการเกษตร การป้องกันโรคระบาดและดูแลสุขภาพอนามัยในช่วงฤดูร้อน
ท้ายนี้ ขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำที่มีปริมาณจำกัดอย่างประหยัด คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เชื่อมั่นว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนผ่านกลไกประชารัฐ จะทำให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในทุกพื้นที่
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก marketingoops.com