มูลนิธิกระจกเงาจับมือกลุ่มทรู เปิดโครงการ “หาย (ไม่) ห่วง” ต่อยอดแอปพลิเคชัน Thai Missing
มูลนิธิกระจกเงา จับมือ กลุ่มทรู เปิดตัวโครงการ “หาย (ไม่) ห่วง” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สํานักงานตํารวจแห่งชาติ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บริษัท Energetic Electrical Engineering และบริษัท MEID จำกัด ร่วมพัฒนาและนำศักยภาพเทคโนโลยีสื่อสาร ต่อยอดแอปพลิเคชั่น ThaiMissing ให้สามารถสแกนข้อมูลผ่าน QR Code และ RFID (Radio Frequency Identification) บนสายรัดข้อมือ (wristband) ที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของผู้มีโอกาสพลัดหลงอาทิ ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม โรคหลงลืม กลุ่มโรคจิตเวช และผู้ป่วยที่มีอาการผิดปรกติของสมองอื่นๆ ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ
นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เผยว่า “สถิติรับแจ้งคนหาย ปี 2561 ทั้งสิ้น 906 ราย เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี 309 ราย ในขณะที่สาเหตุการหายตัวออกจากบ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คือ กลุ่มโรคสมองเสื่อมมีอาการหลงลืม โรคทางจิตเวช และกลุ่มพัฒนาการทางสมองที่พลัดหลงสูญหายออกจากบ้านในปี 2561 กว่า 531 ราย ถือเป็น 60% ของสาเหตุการหายตัวออกจากบ้าน ทั้งนี้แนวโน้มสถิติของคนหายในกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช และผู้อายุที่มีอาการหลงลืม คนหายพลัดหลงที่เป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคสมองเสื่อมมีอาการหลงลืม โรคทางจิตเวช ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มพัฒนาการทางสมองช้ามักเป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ลักษณะของคนหายในกลุ่มนี้จะเป็นการพลัดหลงออกจากบ้าน กลับบ้านไม่ถูก จดจำข้อมูลส่วนตัวไม่ได้ ซึ่งถือเป็นผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือ ปัญหาที่ผ่านมาพบว่า หลังจากผู้ป่วยพลัดหลงหายออกจากบ้าน จะพยายามหาทางกลับบ้านหรือไปในสถานที่ที่ตัวเองจดจำได้ในอดีต คนหายจะอยู่ในที่สาธารณะหรือใช้การโดยสารรถสาธารณะ คนหายบางรายมีบุคลิกภาพชัดเจนแสดงอาการป่วยหรือเป็นผู้สูงอายุ ก็มักจะมีพลเมืองดีเข้าไปสอบถามให้การช่วยเหลือนำส่งสถานีตำรวจ ปัญหาที่ตามมาส่วนใหญ่ คือ ผู้ป่วยไม่มีเอกสารติดตัว ให้ข้อมูลส่วนตัวไม่ได้ จึงไม่รู้ว่าคนหายเป็นใคร และผู้ป่วยบางรายที่พลัดหลงไม่แสดงอาการชัดเจนหรือในกลุ่มจิตเวช ซึ่งมีพฤติกรรมที่แสดงออกเช่น ตาขวาง พูดคนเดียว ซึ่งผู้พบเห็นอาจจะไม่กล้าเข้าไปให้การช่วยเหลือ
มูลนิธิกระจกเงา จึงได้ระดมความเห็นกับ ทรู คอร์ปอเรชั่น และภาคีเครือข่าย เพื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาช่วยแก้ไขปัญหา โดยร่วมกันพัฒนาสายรัดข้อมือ ที่มี QR Code และเลขรหัส ตลอดจนมีสัญลักษณ์ ภายใต้โครงการ “หาย (ไม่) ห่วง” มีระบบฐานข้อมูลที่ให้ญาติที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคสมองเสื่อม กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช และกลุ่มผู้ป่วยพัฒนาการทางสมองช้า มาลงทะเบียนรับสายรัดข้อมือให้ผู้ป่วยสวมใส่ หากเกิดเหตุพลัดหลง พลเมืองดีและเจ้าหน้าที่ผู้ให้การช่วยเหลือจะได้ทราบว่าผู้ป่วยเป็นใคร โดยข้อมูลของผู้ป่วยจะไม่ถูกเปิดเผย เนื่องจากฐานข้อมูลเป็นระบบปิด เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา จะประสานงานญาติโดยตรงเมื่อสายรัดข้อมูลเส้นที่ผู้ป่วยลงทะเบียนถูกสแกนและแจ้งเบาะแสเข้ามา ทั้งนี้ ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลสายรัดข้อมือดังกล่าว ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์รับทราบ หากมีผู้ป่วยที่สวมสายรัดข้อมูลถูกส่งตัวหลังพลเมืองให้การช่วยเหลือ จะได้ทราบว่าผู้ป่วยที่พลัดหลงเป็นใคร”
ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้ช่วยบริหารงาน ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมไทย โดยนำศักยภาพเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ มาร่วมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสังคม ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาความยากจน ปัญหามลพิษ สุขภาวะ รวมถึงปัญหาคน╦าย ซึ่งก่อนหน้านี้ กลุ่มทรู โดยรายการข่าว TNN 24 ได้ร่วมเผยแพร่ข้อมูลการติดตามคนหายเป็นประจำทุกวัน รวมทั้งร่วมลงพื้นที่ติดตามคนหายกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิกระจกเงาด้วย ต่อมาในปี 2559 กลุ่มทรู และมูลนิธิฯ ได้ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชั่น Thai Missing ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลคนหายที่มีการอัพเดทตลอดเวลา และยังเปิดให้คนในสังคมยุคใหม่ สามารถมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลและช่วยเหลือสังคม โดยแจ้งเบาะแสและส่งต่อข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือได้ทันที
ในปัจจุบันแนวโน้มคนหาย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยจากภาวะต่างๆ เช่น ผู้ป่วยจิตเภท บุคคลออทิสติก รวมถึงผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อมจดจำอะไรไม่ได้ ซึ่งส่งผลให้การติดตามยากลำบาก กลุ่มทรู และมูลนิธิกระจกเงา จึงได้ร่วมกันขยายผลแอปพลิเคชั่น Thai Missing เพื่อเพิ่มช่องทางและเป็นเครื่องมือในการติดตามคนหายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Energetic และ Start Up ของทรู คือบริษัท ME ID ร่วมกันพัฒนาและนำศักยภาพของเทคโนโลยี RFID และ QR Code มาช่วยในการติดตามบุคคลที่มีโอกาสพลัดหลง
อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของโครงการหาย (ไม่)ห่วง ไม่ใช่แค่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่หากเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ที่จะช่วยกันเฝ้าระวังสอดส่อง เมื่อพบเห็นคนที่ใส่ Wristband ที่มีตราสัญญลักษณ์ หาย (ไม่)ห่วง ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก โดยกลุ่มทรูจะร่วมสนับสนุนประชาสัมพันธ์เชิญชวนทั้งผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อรับสายรัดข้อมือ และจิตอาสา เฝ้าระวังคนหาย ดาวน์โหลด แอปพลิเคชั่น Thai Missing ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ของเครือฯ อีกด้วย”