“ยิ่งจนยิ่งจ่ายค่าสุขภาพแพง” เก็บ 30 บาทรักษาโรค 10 ก.ค.นี้ ชัด!
“รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเก็บเงินร่วมจ่ายในนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคแน่นอน เพื่อเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ หรือการรีแบรนด์นโยบาย ถ้ามีผู้ไม่ประสงค์จะจ่ายก็ไม่ต้องจ่ายได้”
ข้อความจากทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ปรากฏในอีเมลล์ผู้บริหาร 3 กองทุนสุขภาพ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา สะท้อนความพยายามรื้อฟื้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เพียงประโยชน์ทางการเมือง
13 มิ.ย.ที่ผ่านมา มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) เห็นชอบจัดเก็บเงินสมทบค่ารักษาพยาบาล 30 บาทจากผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) ตั้งแต่ 1 ส.ค.นี้
มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา
1.เห็นชอบนโยบายร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาทต่อครั้งบริการ โดยให้ประชาชนร่วมจ่าย 30 บาทเมื่อได้รับบริการจนสิ้นสุดและได้รับยา เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ส.ค.55 โดยระยะ 6 เดือนแรก (ส.ค. 55 - ม.ค.56) ให้ร่วมจ่าย 30 บาทเมื่อรับบริการจากหน่วยบริการขนาดใหญ่/ระดับจังหวัด (โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป) รวมทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดกลาโหม และสังกัดกรุงเทพมหานคร
2.ขอให้กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาเตรียมความพร้อมเชิงระบบและการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการขยายเวลาให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น รวมทั้งพัฒนา Telemedicine ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อเพิ่มคุณภาพบริการ รองรับการขยายการร่วมจ่าย 30 บาทในหน่วยบริการปฐมภูมิต่อไป และให้กระทรวงชี้แจงประชาชนและผู้ให้บริการอย่างทั่วถึงก่อนการดำเนินการ
3.มอบ สปสช.ติดตามประเมินผลการร่วมจ่ายค่าบริการช่วง 3 เดือนแรก และรายงานผลให้คณะกรรมการรับทราบต่อไป
วันดังกล่าว ที่ประชุมกำหนดหลักเกณฑ์จัดเก็บเฉพาะผู้ป่วยที่แพทย์สั่งจ่ายยา ส่วนผู้ยากไร้หรือผู้ที่เข้าเกณฑ์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่ารักษาใดๆ เบื้องต้นจะนำร่องเก็บเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่
ถือเป็นความชัดเจนครั้งแรก นับตั้งแต่วิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ประกาศเมื่อเข้ารับตำแหน่งว่าจะรื้อฟื้น 30 บาทรักษาทุกโรค และเป็นรูปธรรมที่สุดตั้งแต่รัฐบาลบริหารประเทศมา 10 เดือน
** สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำเสนอ.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการประชุมร่วม 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา
หลักการพื้นฐานของนโยบายร่วมจ่าย
1.สร้างการมีส่วนร่วมและเน้นการสร้างความมีศักดิ์ศรีของประชาชน
2.การร่วมจ่ายค่าบริการจะยกเว้นเมื่อไปรับบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และคนยากจนและผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล เพื่อให้เป็นตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 51 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”
3.หน่วยบริการขยายเวลาการให้บริการในช่วงบ่าย เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการและยกระดับคุณภาพบริการ พัมนาระบบบริการปฐมภูมิและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
คล้อยหลังเพียงสัปดาห์ วันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมสร้างความเท่าเทียม 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐว่า ปัจจุบันระบบและคุณภาพการให้บริการยังไม่พร้อม จึงให้บอร์ดสปสช.กลับไปทบทวนการออกมติเก็บ 30 บาท ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ส.ค.นี้
“เสนอให้โรงพยาบาลพิจารณาเองว่าจะเก็บ 30 บาทหรือไม่ นั่นหมายถึงภายหลังที่โรงพยาบาลมีการพัฒนาการให้บริการที่มีคุณภาพมากขึ้นแล้ว” คือข้อเสนอแนะจากนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์
คำถามคือ เหตุใดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่เอาด้วย
หนึ่งในเหตุผลอยู่ในบทสรุปผู้บริหาร:การพิจารณาความเหมาะสมของการใช้นโยบายเรียกเก็บเงิน 30 บาทต่อครั้ง ในการใช้บริการสุขภาพของผู้ป่วยในระบบบัตรทองโดย ภญ.อุษาวดี มาลีวงศ์ นักวิจัยอิสระ
บทสรุปดังกล่าวระบุแนวคิดการเก็บเงินร่วมจ่าย 30 บาทว่าก่อให้เกิดความเห็นที่สนับสนุนและคัดค้าน โดยกลุ่มสนับสนุนให้เหตุผลหลัก 2 ประการ 1.สถานพยาบาลรัฐขาดทุนจากการให้บริการผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นและเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่สถานพยาบาล 2.ป้องกันการใช้บริการสุขภาพเกินความจำเป็น
อย่างไรก็ตามเหตุผลทั้ง 2 ข้อข้างต้นกลับไม่มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ รายงานฉบับนี้จึงนำเสนอข้อมูลวิชาการที่รวบรวมจากรายงานการวิจัย นิพนธ์ต้นฉบับ เอกสารทางวิชาการ ฯลฯ แบ่งเป็น
1.สถานการณ์การคลังของสถานพยาบาลในสังกัด สธ. พบปัจจัยหลักที่ทำให้สถานพยาบาลในสังกัดส่วนหนึ่งขาดทุน อาจเนื่องจากการบริหารจัดการค่าตอบแทนของสถานพยาบาลเอง โดยเฉพาะในโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายค่ายานั้นมีอัตราการเพิ่มขึ้นที่ลดลงตามลำดับ
2.พฤติกรรมการใช้บริการสุขภาพและปัจจัยสนับสนุน จากข้อมูลการสำรวจเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปีงบประมาณ 2553 พบว่าอัตราป่วยอยู่ที่ 3.795 ครั้ง/คน/ปี ผู้ที่มีฐานะต่ำกว่าจะมีอัตราป่วยสูงกว่าผู้ที่มีฐานะสูงกว่า โดยเฉพาะผู้ที่มีฐานะยากจนที่สุดมีอัตราป่วย 5.485 ครั้ง/คน/ปี มากกว่ากลุ่มที่มีฐานะปานกลาง ร่ำรวย และร่ำรวยที่สุด ประมาณ 2 ครั้ง/คน/ปี
นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการใช้บริการสุขภาพในทุกสิทธิการรักษาเพิ่มขึ้นทั้งหมด และเมื่อพิจารณาเฉพาะการใช้บริการในสถานพยาบาลรัฐ พบว่าอัตราการใช้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของระบบบัตรทองจะต่ำกว่ารวมทุกสิทธิประมาณ 0.2 ครั้งต่อคนต่อปี
จากข้อมูลพบว่าแม้อัตราใช้บริการของผู้ป่วยบัตรทองเพิ่มขึ้นในแต่ละปี แต่เป็นไปอย่างสมเหตุผล ไม่มีการใช้บริการเกินจำเป็น ผลลัพธ์ทางสุขภาพยังดีขึ้น อัตราตายในโรคเรื้อรังผู้ป่วยระบบบัตรทองน้อยลง
ที่สำคัญข้อมูลทางวิชาการชี้ชัดว่ากลุ่มคนจนที่สุด มีสัดส่วนรายจ่ายด้านสุขภาพต่อรายได้มากกว่ากลุ่มที่มีฐานะร่ำรวยที่สุด ดังนั้นหากจะต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาล 30 บาท และรายจ่ายอื่นๆที่เกิดขึ้นจากการรับรักษาพยาบาล อาทิ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าขาดรายได้ ก็จะลำบาก
“คาดว่าจะเก็บค่าธรรมเนียมได้ประมาณ 1,900 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้เพียง 1.75% ของงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ต้องการทั้งหมด (อ้างอิงความต้องการของปี 2552) โดยที่กว่า 40% คือเงินที่เก็บจากผู้ป่วยที่มีฐานะยากจนที่สุดของประเทศ”
งานวิจัยระบุยิ่งเป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสุขภาพไทย
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข มองว่าข้อเสนอนายกรัฐมนตรีที่จะให้หน่วยบริการเรียกเก็บเงินร่วมจ่าย 30 บาทตามความสมัครใจนั้น โรงพยาบาลขนาดเล็กที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านคงจะไม่กล้าเก็บ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดปัญหากับคนไข้ที่ยากจนได้ และหากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนว่าจะเก็บ 30 บาทอย่างแน่นอน อยากเสนอให้รัฐบาลออกแบบการเก็บเงินให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว
นพ.พงศธร กล่าวต่อว่าในประเทศอังกฤษออกแบบระบบร่วมจ่ายเฉพาะค่ายา โดยอาจกำหนดเพดานว่าหากได้รับยาไม่เกิน 3 รายการ ต้องร่วมจ่าย 30 บาท หรือ 5 รายการ ต้องร่วมจ่าย 50 บาท ซึ่งการออกแบบในลักษณะนี้จะช่วยแก้ปัญหาการจ่ายยาและใช้ยาเกินความจำเป็น
ในไต้หวัน มีการออกแบบเก็บเงินร่วมจ่ายตามขนาดของสถานบริการ เช่น อาจเก็บเงินเฉพาะผู้ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือขนาดกลาง ซึ่งค่าใช้จ่ายก็จะลดลงตามลำดับ ส่วนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาหน่วยบริการขนาดเล็กจะให้การรักษาฟรี การออกแบบในลักษณะนี้ช่วยลดปัญหากระจุกตัวของผู้ป่วยในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และส่งเสริมให้ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยเข้ารับรักษายังหน่วยบริการใกล้บ้าน
“ที่รัฐบาลต้องตระหนักคืออัตราการใช้บริการทางการแพทย์ของประเทศไทยคือ 3 ครั้งต่อคนต่อปี ซึ่งน้อยกว่าต่างประเทศที่อยู่ประมาณ 8-9 ครั้งต่อคนต่อปี นั่นสะท้อนว่าหน่วยบริการยังมีน้อย หรือไม่เพียงพอต่อการเข้าถึงบริการ” นักวิชาการรายนี้ระบุด้าน
เลขาธิการ สปสช. นพ.วินัย สวัสดิวร ให้ความคืบหน้าการเก็บ 30 บาทว่าสัปดาห์นี้ คณะอนุกรรมการด้านบริหารยุทธศาสตร์ สปสช.ซึ่งมี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.เป็นประธาน จะประชุมพิจารณาข้อเสนอและแนวปฏิบัติภายหลังนายกฯเสนอแนะ จากนั้นจะนำมติเข้าสบอร์ดสปสช. 10 ก.ค.นี้
ขณะที่ นพ.ไพจิตร์ ให้รายละเอียดเพียงสั้นๆว่า จะประชุมภายวันที่ 4 ก.ค.นี้ แต่ประเด็นการหารือและแนวโน้มการเก็บ 30 บาทหรือไม่ ต้องรอมติจากที่ประชุม
………………………
“ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา” ตรวจสอบไปยังรายชื่อคณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าว พบว่า ไม่มีสัดส่วนผู้แทนภาคประชาชน หรือกลุ่มคนที่คัดค้านแนวทางการเก็บ 30 บาท มีเพียง นพ.ไพจิตร์ เป็นประธาน นพ.วินัย เป็นรองประธาน และคณะอนุกรรมการประกอบด้วยผู้แทนหน่วยราชการท้องถิ่นเท่านั้น