ศาลเข้มออกระเบียบทำคำพิพากษา ให้คู่ความคัดสำเนาได้ภายใน 7วัน
ศาลฎีกา ออกระเบียบฯ ให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนส่งร่างคำพิพากษา หรือคำสั่งให้เจ้าพนักงานศาลจัดพิมพ์ เพื่อให้คู่ความสามารถคัดถ่ายสำเนาได้ภายใน 7 วัน
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2562 นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ออกระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยระยะเวลาในการจัดพิมพ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น พ.ศ. 2562
โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 258 ง.ด้านกระบวนการยุติธรรม (1) บัญญัติให้มีการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม โดยกำหนดให้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า จึงเห็นควรกำหนดระยะเวลาในการจัดพิมพ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 ประธานศาลฎีกา จึงออกระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยระยะเวลาในการจัดพิมพ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น พ.ศ. 2562 "
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ 3 ในระเบียบนี้
"คำสั่ง" หมายความว่า คำสั่งศาลที่ทำในรูปแบบคำพิพากษา
"หัวหน้าส่วนราชการ" หมายความว่า อธิบดีผู้พิพากษาชั้นต้น และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล
ข้อ 4 เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา หรือคำสั่งให้คู่ความฟังแล้ว ให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนส่งร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เจ้าพนักงานศาลจัดพิมพ์คำพิพากษาหรือคำสั่งให้เรียบร้อย เพื่อให้คู่ความสามารถคัดถ่ายสำเนาได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา หรือคำสั่ง
ข้อ 5 ให้หัวหน้าส่วนราชการมีหน้าที่ตรวจสอบและติดตามให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และเจ้าพนักงานศาลในสังกัดส่งร่างคำพิพากษาหรือคำสั่งและจัดพิมพ์ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามข้อ 4
ข้อ 6 หากมีกรณีไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำนหดให้หัวหน้าส่วนราชการรายงานไปยังเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมระบุเหตุผลความจำเป็น เพื่อนำเสนอคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาต่อไป