กสม. หารือจุฬาฯ เตรียมถ่ายทอดความรู้บริหารความเสี่ยงจากการทุจริต
สำนักงาน กสม. หารือร่วมภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์ฯ จุฬาฯ เตรียมร่วมถ่ายทอดความรู้ด้านการบริหารความเสี่ยงจากการทุจริต - ป้องกันผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2562 นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยถึงการหารือร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พงศ์พรต ฉัตราภรณ์ หัวหน้าภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเป็นประธานการหารือ ในประเด็นการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ด้าน “การบริหารความเสี่ยงจากการทุจริต คอรัปชั่น และการฟอกเงิน เพื่อมิให้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงผู้บริโภคและผู้ประกอบการทางธุรกิจ” เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2562 ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยระบุว่า การทุจริตคอรัปชั่น เช่น การเรียกรับสินบน การยักยอกทรัพย์ การสร้างผลประโยชน์ทับซ้อน หรือ การตกแต่งตัวเลขรายงานทางการเงิน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริโภค หรือ ผู้ประกอบการธุรกิจ ในฐานะผู้เสียหาย หรือ เหยื่อผู้เคราะห์ร้าย จากการกระทำความผิดของผู้ทุจริต
ภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการถ่ายทอดความรู้ด้านการตรวจสอบทุจริตและการบริหารความเสี่ยงจากการทุจริต คอรัปชั่น และการฟอกเงิน จึงได้เข้าหารือกับประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเสนอให้มีการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับ "การบัญชีนิติการ (Forensic Accounting)" ซึ่งเป็นเครื่องมือพิสูจน์ทราบความเสี่ยงของการทุจริตและนำไปใช้ประกอบเป็นหลักฐานในกระบวนการยุติธรรม อันเป็นการช่วยป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
นายโสพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะกลไกหลักของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตระหนักและเห็นความสำคัญถึงผลกระทบของการทุจริตคอรัปชั่นที่อาจสร้างความเสียหายและก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว จึงเสนอแนวทางในการดำเนินงานร่วมกับภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้
1. สำนักงานฯ จะดำเนินการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ร่วมกับภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการตรวจสอบทุจริตและการบริหารความเสี่ยงจากการทุจริต อันจะเป็นการเชื่อมโยงให้เห็นถึงการทุจริตกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นการสร้างความตระหนักให้กับทุกภาคส่วนของสังคม
2. สำนักงานฯ จะประสานความร่วมมือไปยังศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคต่าง ๆ ของสำนักงานฯ และเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้ความรู้เรื่องดังกล่าวแก่คณาจารย์และบุคลากรในการจัดทำหลักสูตรหรือสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการทุจริตและสิทธิมนุษยชนอันเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่นิสิต นักศึกษา
3. ภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อไป