สำนักงานศาลยุติธรรมจับมือกรุงไทย พัฒนาระบบศาลดิจิทัล
สำนักงานศาลยุติธรรมเดินหน้าสู่การเป็น D-Court จับมือธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกันพัฒนาระบบศาลดิจิทัล
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2562 เวลา 09.30 น. ณ ห้อง Krungthai Innovation Lab ธนาคารกรุงไทย อาคารสำนักงานใหญ่ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การพัฒนาระบบศาลดิจิทัล เพื่อร่วมกันศึกษาและพัฒนาระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศของศาลยุติธรรม ขยายผลการให้บริการระบบการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) และการให้บริการอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อมุ่งสู่การให้บริการในลักษณะระบบศาลดิจิทัลในอนาคต
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าวว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารถือเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาและขับเคลื่อนองค์กรศาลยุติธรรมไปสู่เป้าหมาย ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรมและแผนแม่บทเทคโนโลยีศาลยุติธรรมในแต่ละยุคสมัย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอก เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว เที่ยงธรรม มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2560 สำนักงานศาลยุติธรรมได้จัดทำโปรแกรมระบบยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) สำหรับคดีแพ่งสามัญบางประเภท ได้แก่ คดีผู้บริโภค (ซื้อขาย เช่าทรัพย์ จำนอง จำนำ ค้ำประกัน กู้ยืมเงิน เช่าซื้อ และบัตรเครดิต) โดยเปิดให้บริการในศาลชั้นต้น จำนวน 14 ศาล เพื่อเป็นระบบทางเลือกให้แก่คู่ความ
ที่มีความพร้อมในการใช้งานโปรแกรม e-Filing
ปี พ.ศ. 2561 สำนักงานศาลยุติธรรมได้พัฒนาต่อยอดโปรแกรมดังกล่าวให้สามารถยื่นฟ้องตั้งต้นในคดีแพ่ง จำนวน 67 ประเภทคดี และขยายการให้บริการในศาลชั้นต้น รวมจำนวน 22 ศาล รวมทั้งขยายช่องทางการชำระเงินหลากหลายมากขึ้น เช่น การชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือเดบิต เคาน์เตอร์ของธนาคาร ตู้ ATM และอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง
ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาและขยายผลระบบ e-Filing เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ศาลชั้นต้นที่เป็นศาลชำนัญพิเศษและศาลพิเศษ พร้อมทั้งปรับปรุงพัฒนาระบบ e-Filing ให้มีขีดความสามารถในการให้บริการได้เพิ่มเติม เช่น การยื่นฟ้องคดีอาญา การขอหมายจับ หมายค้น การส่งคำคู่ความและเอกสารในลักษณะ e-form การจัดเก็บและให้บริการคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาเชื่อมต่อระบบ e-Filing ของสำนักงานศาลยุติธรรมเข้ากับ ระบบอิเล็กทรอนิกส์งานด้านยุติธรรมของหน่วยงานอื่นๆ และมีบริการทางเลือกในการเข้าถึงระบบ e-Filing ผ่านระบบงานคอมพิวเตอร์ทาง Website และ Mobile Application อื่นๆ และเพื่อให้การขับเคลื่อนศาลยุติธรรมไปสู่ศาลยุติธรรมดิจิทัลได้รวดเร็ว กว้างขวาง คู่ขนานกับการพัฒนาระบบงานและการให้บริการอย่างครบวงจร สำนักงานศาลยุติธรรม และบริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จึงได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การพัฒนาระบบศาลดิจิทัล ในวันนี้ เพื่อพัฒนาระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศของศาลยุติธรรม ให้สามารถรองรับการให้บริการแก่ประชาชนที่สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการมาติดต่อราชการศาลยุติธรรม โดยจะร่วมกันพัฒนารูปแบบ
การให้บริการ ดังนี้
- จัดสร้างระบบการลงทะเบียนสำหรับเจ้าหน้าที่ และผู้ใช้งานอย่างปลอดภัยได้มาตรฐานสากล
- พัฒนาระบบการยื่นคำฟ้องและคำคู่ความ (e-Filing) ผ่านระบบ Mobile Application เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกทั้งกับฝ่ายโจทก์และจำเลย ในการติดตามความเคลื่อนไหวของคดี
- ประสานเชื่อมต่อระบบ Web service เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในหน่วยงานของศาล และหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- พัฒนาระบบข้อมูลพื้นฐานเพื่อให้มีมาตรฐานในการใช้งาน และสามารถต่อยอดการใช้ระบบได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ เพื่อมุ่งสู่ความเป็น “ศาลดิจิทัล”
ทั้งนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมมีเป้าหมายที่จะดำเนินการติดตั้งและให้บริการแก่ประชาชนและคู่ความในการยื่นฟ้องและรับส่งเอกสารในคดีแพ่งทุกประเภท ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง จนการพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จสิ้น ให้ครอบคลุมศาลชั้นต้นทั่วประเทศภายในเดือนกันยายน 2562 ติดตั้งและให้บริการแก่ประชาชนและคู่ความในการยื่นฟ้องและรับส่งเอกสารในคดีอาญาทุกประเภทแก่ศาลชั้นต้นทั่วประเทศภายในเดือนเมษายน 2563 และติดตั้งและให้บริการประชาชนและคู่ความในการยื่นฟ้องและส่งคำคู่ความในศาลชำนัญพิเศษภายในเดือนกันยายน 2563 เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ นับเป็น การนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการคดีเพื่อบริการประชาชน ให้มีความสะดวกรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น และเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ศาลยุติธรรมไปสู่เป้าหมายในการเป็นศาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2563 หรือ D-Court 2020