เผาวัชพืช เตรียมพื้นที่เพาะปลูก จิสด้าชี้ปัจจัยหลักเกิดจุดความร้อนสะสม 9 จว.ภาคเหนือ
ข้อมูลดาวเทียม Terra และ Aqua ของระบบ MODIS ระบุ พบจุดความร้อน หรือ hotspot ทั้งประเทศ 1,030 จุด ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมเกาะติดสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน มาตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 โดยใช้ข้อมูลจากระบบดาวเทียม MODIS และ LANDSAT-8 สแกนหาจุดความร้อน (hotspot) รวมถึงร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ เพื่อส่งต่อข้อมูลสำคัญต่างๆ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ในการวางแผน ติดตาม สำรวจ ตรวจสอบในพื้นที่จริง เพื่อการบรรเทาและแก้ไขปัญหา ผ่านทาง http://fire.gistda.or.th
เฉพาะ 9 จังหวัดภาคเหนือนั้น จิสด้าวิเคราะห์แนวโน้มจุดความร้อนสะสม 9 จังหวัดภาคเหนือ เทียบกับปี 2561 ในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า จุดความร้อนปีนี้สูงกว่าปีที่แล้วกว่า 1,700 จุด และคาดว่าจะสูงกว่านี้อีก ซึ่งเป็นจำนวน HotSpot สะสมที่คาดการณ์
สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเป็นจุดความร้อนนั้น พบว่า ส่วนใหญ่มาจากการเผาเพื่อกำจัดวัชพืช สำหรับการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก และการหาของป่า เป็นต้น
ทั้งนี้ จิสด้าใช้หลักการวิเคราะห์แนวโน้มจุดความร้อน โดยดูจากสถิติจุดความร้อนย้อนหลัง ประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน ดัชนีภัยแล้ง ปริมาณน้ำฝนคาดการณ์ และที่สำคัญคือสถานการณ์ไฟป่าอันเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่เพิ่มสูงขึ้น
ล่าสุด วันที่ 12 มี.ค. ข้อมูลจากดาวเทียม Terra และ Aqua ของระบบ MODIS จีสด้าระบุว่า พบจุดความร้อน หรือ hotspot ทั้งประเทศ 1,030 จุด ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยข้อมูลภาพจากดาวเทียม ยังทำให้มองเห็นว่า จุดความร้อนที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่บ้านเราเท่านั้น ประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่น้อยหน้า โดยเฉพาะตอนบนของประเทศไทย มีการเผาที่ไม่แพ้กัน
เมื่อดูจุดความร้อนรายจังหวัด สะสมช่วงวันที่ 1 ม.ค.-12 มี.ค.2562 พบรวมทั้งสิ้น 3,445 จุด โดยพบในจังหวัดน่านมากสุด 656 จุด รองลงมา คือเชียงใหม่ 613 จุด, ลำปาง 561 จุด, ตาก 478 จุด, แม่ฮ่องสอน 279 จุด, แพร่ 248 จุด, ลำพูน 244 จุด, เชียงราย 205 จุด และพะเยา 161 จุดตามลำดับ