นักวิชาการชี้ปี 53 ทุกข์กระหน่ำ เลวร้ายที่สุดสำหรับเกษตรกร
นักวิชาการ คปร.เผยทุกข์หนักชาวบ้านรอบปี 53 คดีที่ดิน-วิกฤติน้ำท่วม-หนี้สินล้น เสนอทำ จม.เปิดผนึกถึงนายกฯ ตั้งโต๊ะรับซื้อข้าว แก้ปัญหาด่วนราคาตกหลังภัยพิบัติ นักสิทธิมนุษยชนชี้ปัญหาแบ่งสีสร้างรอยร้าวชุมชน วิพากษ์สื่อกระแสหลัก-วิทยุชุมชน มีพื้นที่สิทธิชาวบ้านต่ำ
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ คณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า ในรอบปีที่ผ่านมาปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านเกิดจาก 3 เรื่องใหญ่ เรื่องแรกคือคดีที่ดิน ที่ชาวบ้านถูกจับข้อหาบุกรุกที่ดินรัฐทั้งที่อยู่อาศัยทำกินมาก่อนประกาศเขตป่าสงวนป่าอนุรักษ์ ถูกตัดสินจำคุกแล้ว 500 ราย และอยู่ระหว่างคดีอีกเป็นหมื่นราย ซึ่งล่าสุดวันที่ 5 ธ.ค.ได้รับการปล่อยตัว 18 ราย เรื่องนี้สะท้อนว่ากระบวนการยุติกรรมไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน
เรื่องที่สอง คือภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายให้พื้นที่การเกษตรกกว่า 8 ล้านไร่ นับว่าเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดของเกษตรกร บางคนไม่ได้รับค่าชดเชยตามเกณฑ์ เพราะท่วมไม่หมดแต่เหลือที่ทำกินเล็กน้อย ผลผลิตก็ลดลง หนำซ้ำราคาข้าวยังตก ขายข้าวไม่ได้ โรงสีบางแห่งไม่รับซื้อ บางแห่งกดราคา ทำให้ต้องเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัว
เรื่องที่สามคือหนี้สิน ปีนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแทบจะไม่คืบหน้าเลย เพราะรัฐบาลใช้วิธีการให้ธนาคารและสถาบันการเงินไปจัดการหนี้สินเกษตรกรเองโดยไม่ผ่านกองทุนฯ แทนที่จะตัดต้นครึ่งหนึ่งยกดอกทั้งหมดตามเงื่อนไข ทำให้เกษตรกรเป็นล้านๆ ครอบครัวต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย
ดร.เพิ่มศักดิ์ เสนอว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขเฉพาะหน้าคือ ปัญหาราคาข้าวหลังประสบภัยพิบัติ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่เกวียนละ 6,300 บาท ได้เงินส่วนต่างราคาประเมิน 1,000 บาท รวมแล้ว 7,000 กว่าบาท สมมุติมีที่นา 20 ไร่ แต่พื้นที่ทำนาได้จริงเหลือน้อย ทำและขายได้ 5 เกวียน เท่ากับปีหนึ่งได้ 30,000 กว่าบาท ตกเดือนละ 2,000 บาท ชาวนาจึงอยู่ไม่รอด
“อยากให้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้มาตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวตามหลักการของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่รับซื้อในราคานำตลาดในจังหวัดที่ประสบปัญหา เช่น จ.ปราจีนบุรี ที่ต้องการให้ช่วยเหลือข้าวอีกประมาณ 2 หมื่นตันโดยด่วน” ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว
ส่วน นายจรัล พากเพียร อนุกรรมการสื่อสารสิทธิมนุษยชนเพื่อการสาธารณะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองภาพชุมชนไทยในรอบ 1 ปีว่าเกิดความขัดแย้งหลายเรื่อง ทั้งการเมืองที่มีการแบ่งแยกสี ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่ดิน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการได้รับข้อมูลไม่เท่ากันของชาวบ้าน แต่ขณะเดียวกันก็มีผลสะท้อนทำให้ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะออกมาปกป้องสิทธิของตนเองมากขึ้น เช่น ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆรู้จักรวมตัวกันหาข้อมูลและต่อสู้เรียกร้องสิทธิชุมชนที่ควรได้รับตามรัฐธรรมนูญ และหลายแห่งยังหันกลับไปดึงวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ดีกลับมาดูแลชุมชน
นายจรัล ยังมองบทบาทของสื่อว่านำเสนอเนื้อหาด้านสิทธิชุมชนน้อยมาก โดยเฉพาะวิทยุชุมชนซึ่งถือว่าเป็นสื่อท้องถิ่นที่เข้าถึงชาวบ้านมากที่สุด
“เรามีสื่อมากมาย ทั้งระดับประเทศ ระดับโลก ระดับชุมชน มีเทคโนโลยีมีเครื่องมือ แต่ไม่มีเนื้อหาสาระใส่เข้าไปเพื่อให้คนได้เรียนว่าสิทธิชุมชนเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในวิถีชีวิต หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้มันหายไป เพราะความมุ่งแต่จะเอากำไร ส่วนวิทยุชุมชนเพื่อชุมชนเองจริงๆก็มีอยู่น้อยมาก” นายจรัล กล่าว.