ถอดรหัส PATANI 110 กับสนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม รับรองอธิปไตยไทยเหนือปาตานี?
ปรากฏการณ์ใช้สีสเปรย์พ่นตามสถานที่สาธารณะด้วยถ้อยคำต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นมาเนิ่นนาน ควบคู่กับการก่อเหตุรุนแรงรูปแบบอื่น...
ถ้อยคำที่ถูกพ่นบนถนน ราวสะพาน ป้ายบอกทาง หรือตามกำแพง ส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้อง "เอกราชปาตานี" ที่เห็นบ่อยคือคำว่า PATANI MERDEKA บ้างก็อ่านทับศัพท์ว่า "ปาตานี เมอร์เดก้า" แต่สำเนียงมลายูถิ่นอ่านว่า "เมอร์เดกอ"
ส่วนถ้อยคำอื่นๆ ก็มีเช่นกัน แต่ไม่มากนัก เช่น บางครั้งมีการพ่นสีเป็นข้อความเยาะเย้ยถากถางเจ้าหน้าที่ และมักมาพร้อมกับป้ายผ้าที่เขียนข้อความยาวกว่าการพ่นสี มีทั้งที่สื่อสารถึงเจ้าหน้าที่ ถึงคนในพื้นที่ ถึงมาเลเซีย และถึงโลกมุสลิม
การก่อเหตุลักษณะนี้ฝ่ายความมั่นคงให้ค่าแค่ "การก่อกวน" ทั้งๆ ที่หลายๆ วลี หลายๆ ประโยค หลายๆ ข้อความ เป็นการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ หลายครั้งเป็นการแสดงภูมิรู้ของผู้กระทำ เพื่อยืนยันว่านี่ไม่ใช่ "โจรห้าร้อย" หรือ "โจรกระจอก" เหมือนที่บางคนเคยคิด แต่เป็นการขับเคลื่อนการต่อสู้ของ "ปัญญาชน"
อย่างข้อความล่าสุดที่ถูกพ่นบนถนน และราวสะพานในหลายพื้นที่ เช่น อ.ธารโต จ.ยะลา ช่วงปลายเดือน ก.พ. ต่อเนื่องต้นเดือน มี.ค.62 ซึ่งตรงกับปีคริสตศักราช 2019 ข้อความที่ว่านี้คือ PATANI 110 ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน
เมื่อภาพการ "ก่อกวน" ในมุมมองของเจ้าหน้าที่ถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีเสียงถามไถ่ว่า PATANI 110 คืออะไร มีความหมายอย่างไร และทำไมต้อง PATANI 110 ด้วย
ไถ่ถาม "ผู้รู้ในพื้นที่" ได้ข้อมูลว่า PATANI 110 เป็นความจงใจของผู้กระทำที่ต้องการสื่อความหมายถึงวาระครบรอบ 110 ปีของการลงนามใน "สนธิสัญญาแองโกล-สยาม" ระหว่างสยาม (ไทย) กับอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1909 หรือ พ.ศ.2452
ผู้รู้ในพื้นที่ อธิบายว่า สนธิสัญญาแองโกล-สยาม เป็นข้อตกลงปักปันเขตแดนระหว่างอังกฤษกับสยาม (ในยุคล่าอาณานิคม) โดยเป็นการลงนามกันระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสยาม (ในขณะนั้น) กับผู้สำเร็จราชการในมลายูของอังกฤษ
สาระสำคัญของสนธิสัญญา เป็นการแบ่งดินแดนมลายูออกเป็น 2 ส่วน แต่กลับเป็นการตกลงกันเพียง 2 ฝ่าย ไม่มีเจ้าผู้ครองนคร หรือรัฐต่างๆ ในดินแดนมลายูร่วมอยู่ด้วยเลย
เนื้อหาหลักๆ มีอยู่ 6 ข้อ คือ
1.เมืองมลายู เคดะห์ กลันตัน เปอร์ลิส ตรังกานู เกาะลังกาวี และบางส่วนของรามัน-ระแงะ ให้สยามมอบคืนแก่รัฐบาลอังกฤษ
2.บันทึกที่เคยลงนามกันระหว่างอังกฤษ-สยาม เมื่อ 6 เมษายน 1897 ให้ถือเป็นข้อตกลงลับต่อไป
3.สยามจะไม่มอบดินแดนใดๆ ให้แก่มหาอำนาจใดตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาตามข้อ 2
4.สยามสัญญาว่าจะให้ความยุติธรรมแก่พลเมืองชาวอังกฤษในสยาม ตลอดจนการรักษาความปลอดภัยแก่ตุลาการและที่ปรึกษาด้านกฏหมายที่เป็นชาวยุโรป หากจำเป็นจะต้องมีที่ดินไว้และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับชาวอังกฤษที่อยู่ในสยาม
5.รัฐมลายูของอังกฤษ จะรับผิดชอบในปัญหาหนี้สินที่หากจะมีอยู่ของเมืองมลายูที่สยามมอบให้อังกฤษ รวมทั้งเงินกู้ต่างๆ และงานก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ของสยาม
6.อังกฤษสัญญาว่าจะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองในดินแดนที่มอบให้กับสยาม เช่น สตูลและปาตานี
สนธิสัญญานี้่ลงนามกันเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2452 หรือ ค.ศ.1909 จึงมีอายุครบ 110 ปีในวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2019 หรือ พ.ศ.2562
สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับสนธิสัญญาแองโกล-สยาม ในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี พบว่ามีการเรียกสนธิสัญญานี้อีกชื่อหนึ่งว่า สนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม พ.ศ. 2452 (Anglo-Siamese Treaty of 1909) หรือ "สนธิสัญญาบางกอก" ลงนามกันที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2452 และรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมปีเดียวกัน สนธิสัญญาฉบับนี้มีทั้งสิ้น 8 ข้อ มีสาระสำคัญคือ
- สยามยกสิทธิการปกครองและบังคับบัญชาเหนือไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ
- หนี้สินต่างๆ ที่รัฐมลายูเหล่านั้นมีต่อรัฐบาลสยาม อังกฤษจะชดใช้ให้
- สิทธิสภาพนอกอาณาเขตของอังกฤษในแผ่นดินสยามเป็นอันยกเลิกไป
- อังกฤษรับรองซึ่งอธิปไตยของสยามเหนือปาตานี
- อังกฤษให้เงินกู้ให้แก่สยามจำนวน 4.63 ล้านปอนด์เพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้
- สยามควรปรึกษาอังกฤษ หากต้องการให้หรือจัดการสิทธิในเหมืองถ่านหิน ท่าเรือ และอู่เรือในมณฑลราชบุรีแก่ชาติอื่นๆ
สนธิสัญญานี้ทำให้สยามต้องสูญเสียดินแดนกว่า 38,000 ตารางกิโลเมตร โดยขณะนั้นอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช หรือ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5
ผลของสนธิสัญญา นอกจากทำให้ดินแดนมลายูถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนแล้ว ยังถูกมองว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ "ปาตานี" ตกอยู่ใต้อธิปไตยของสยามอย่างสมบูรณ์ จากเดิมที่เคยเป็นราชอาณาจักร หรือรัฐอิสระ ต่อด้วยการอยู่ในฐานะ "ประเทศราช" ของสยาม จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสยาม และสุดท้ายสถานะเป็นเพียงจังหวัดของประเทศไทย
ก่อนมีสนธิสัญญาแองโกล-สยาม มีความพยายามแยกสลายปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง คือ ปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง รามัน ยะลา สายบุรี และระแงะ แต่ละหัวเมืองมีเจ้าปกครองกันเอง จากนั้นก็มีการจัดระเบียบการปกครอง 7 หัวเมืองเสียใหม่ กระทั่งบังคับให้ยอมรับกฎหมายลักษณะการปกครองท้องที่ ทำให้ "รัฐปัตตานี" หรือ "ปาตานี" กลายเป็นส่วนหนึ่งของไทยโดยสมบูรณ์
การเปิดประเด็น PATANI 110 จึงมีความแหลมคมอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ปัจจุบัน และสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มขบวนการที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐของไทยมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และใช้องค์ความรู้ในการต่อสู้ ไม่ใช่สักแต่ใช้ความรุนแรงอย่างไร้ทิศทาง
"โฮป" (นามสมมติ) อดีตแกนนำบีอาร์เอ็นที่พำนักอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ บอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า สนธิสัญญาแองโกล-สยาม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน คนในขบวนการทุกคนรู้ปัญหาดี และรู้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาคใต้เป็นแบบปัจจุบัน
"เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีการพูดถึงเลยในขบวนการ เพราะจริงๆ แล้วมีการพูดถึงตลอดแบบลับๆ ในระดับแกนนำจะเข้าใจและรับรู้ แต่ประชาชนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่เคยถูกพูดถึงเลยตลอด 10 กว่าปีมานี้ แต่จริงๆ แล้วในขบวนการต่อสู้กับรัฐไทยรับรู้กันดี และสาเหตุที่ปีนี้มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ อาจเพราะว่าครบ 110 ปี และเป็นการย่ำเตือนให้ทุกฝ่ายได้รำลึกและตระหนักว่า เรื่องนี้ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหา ยังไม่ได้ถูกแก้ไข" โฮป กล่าว
ส่วนความเป็นไปได้ที่จะมีการก่อเหตุรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ หลังจากพ่นสี PATANI 110 โฮป ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ตอบยาก
"อาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ เพราะโดยปกติการแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ น้อยมากที่จะทำสำเร็จในวันครบรอบ (กรณีนี้คือ 10 มีนาคม) ฉะนั้นอาจทำก่อนหรือทำหลัง อยู่ที่โอกาสและจังหวะ" โฮป กล่าว
ขณะที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ ทุกหน่วยไม่ประมาท
"ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่มีการพูดถึงเรื่องนี้ คงเป็นเพราะหมดมุขอื่นแล้ว ขบวนการควักทุกวิถีทางออกมาหมดแล้ว จึงต้องย้อนไปหาเรื่องเก่าๆ เกินกว่าร้อยปีมาเป็นประเด็น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็พร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์อย่างเต็ม ส่วนกลุ่มที่ออกมาพ้นสีก็ถือว่าผิดตามกฏหมาย รวมถึงผู้ที่ให้ที่พักพิงหลบซ่อนก็จะมีความผิดด้วย เรายืนยันว่าจะบังคับใช้กฏหมายอย่างเต็มที่ต่อไป" โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าว
และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ฝ่ายความมั่นคงให้ค่าปรากฏการณ์นี้แค่...ก่อกวน!