“เปลี่ยนสภาพการจ้างงานหนีค่าแรง 300บ.” ข้อพิพาทที่รัฐต้องคลี่คลาย
เป็นประเด็นความขัดแย้งที่ยังหาข้อสรุปได้ยากระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง กรณีปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน และนี่เป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างที่สะท้อนและส่งสัญญาณเตือนปัญหาที่กำลังขยายตัว
เมื่อพูดถึงค่าแรงขั้นต่ำมักมีการโต้แย้งอย่างกว้างขวาง นายจ้างพูดถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น นักเศรษฐศาสตร์พูดถึงความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ขณะที่คนงานเองก็จะพูดถึงเรื่องค่าครองชีพ ปัจจัยพื้นฐานที่พวกเขาไม่เคยได้รับอย่างเพียงพอต่อการดำรงชีวิต
ในทัศนะของนักกฎหมาย ทนายความด้านแรงงาน และคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายอย่าง ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ มองว่าคือหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ที่ไม่ใช่ประกาศค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำแล้เวก็ปล่อยให้นายจ้าง ลูกจ้างไปวิวาทกัน กรณีอย่างนี้กระทรวงแรงงานจะต้องมีคณะกรรมการที่น่าเชื่อถือ มีความเข้าใจปัญหา เป็นมืออาชีพ มีกระบวนการทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหา อาจต้องลงไปดูว่าโรงงานไหนเจอปัญหาจริง หนักจริง รัฐก็อาจต้องแทรกแซงเข้ามาช่วยเหลือ ไม่เฉพาะแต่ลูกจ้าง รัฐต้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือนายจ้างด้วย ถ้าเห็นชัดว่าปรับตัวไม่ทันและเสียหายจากการนี้ น่าจะต้องเข้าไปประคับประคองหรือเอื้อเฟื้อประสานทำความเข้าใจ
“ใครไม่อยู่ในวิสัยเดือดร้อนจริงก็ต้องบังคับใช้กฎหมายจริงจังเข้มงวด ไม่ปล่อยให้แต่ละโรงงานพิพาทกันแบบนี้ ไม่เป็นผลดีและไม่สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการแรงงานในภาวะนี้ ลูกจ้างตอนนี้ก็อยู่ในฐานะที่ไม่มีเสบียงไม่มีฐานอะไรรองรับ ครอบครัวไม่มีเงินเก็บไม่มีแหล่งที่พึ่งไม่มีเงินกู้ พอถูกตัดสิทธิแรงงานก็จะเดือดร้อนมาก แล้วคนหนึ่งๆก็ต้องดูแลคนอื่นด้วย นี่คือความจริงที่เราไม่ค่อยพูดกัน”
หลังการประกาศปรับค่าแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมานี้ ข่าวการปิดตัวโรงงาน ข่าวการปลดพนักงาน หรือแม้กระทั่งการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนแรงงานด้วยเหตุผลเพื่อลดต้นทุนของสถานประกอบการมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
เช่น บริษัทเพิ่มพูนพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตสำลีปั่นหูแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นเตรียมปลดพนักงงานก่อนสิ้นปีนี้อย่างน้อย 200 คน ด้วยเหตุผลทนแบกรับต้นทุนไม่ไหวพร้อมเตรียมย้ายฐานการผลิตไปยัง สปป.ลาว
และเมื่อเร็วๆนี้ กลุ่มพนักงานโรงงานผลิตผลไม้กระป๋องของบริษัทโคลไทยแลนด์ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์กว่า 3,000 คนก็นัดหยุดงานเพื่อประท้วงมาตรการงดจ่ายค่าน้ำมันรถรับส่งพนักงาน แต่หลังจากนั้นมีการเจรจาหาข้อยุติได้ทั้งสองฝ่าย
ส่วนกรณีบริษัทมอลลิเก้เฮลท์แคร์ประเทศไทย ก็ดูจะเป็นกรณียืดเยื้อเรื่องการปรับเปลี่ยนสัญญาจ้างงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่คุกกรุ่นขึ้นทุกวันนับตั้งแต่กันยายนปีที่แล้ว ล่าสุดสมาชิกสหภาพแรงงานมอลลิเก้ เฮลท์ แคร์ เข้าพบกับผู้อำนวยการกลุ่มงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้ง เพื่อร้องเรียนปัญหานายจ้างลดสวัสดิการ รวมถึงเปลี่ยนแปลงข้อตกลงสภาพการจ้างโดยพลการ
ณัฐปภสร์ แก้วทอง ประธานสหภาพแรงงานมอลลิเก้เฮลท์แคร์ หนึ่งในผู้ไม่ยินยอมเซนต์ชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนสัญญาจ้างงาน บอกถึงเหตุผลครั้งนี้ว่าเพราะบริษัทลดสวัสดิการค่าจ้างและเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง โดยมีการบีบบังคับสารพัดอย่าง เช่น การเรียกไปคุยแต่ละบุคคลแต่ละกลุ่มและข่มขู่บ้าง บังคับบ้าง โรงงานที่สองซึ่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จะโดนหนักถึงขั้นพักงาน เมื่อพนังงานกลับจากร้องเรียนที่สำนักงานแรงงานจังหวัด ก็จะโดนย้ายไปอยู่อีกตำแหน่งงานหนึ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน
“มีอยู่สองคนเป็นพนักงานฝ่ายผลิตธรรมดาก็ให้ไปเป็นผู้ช่วยช่างทั้งที่ไม่มีความรู้เรื่องช่าง คนท้องก็ได้ไปอยู่แผนกที่ไม่มีค่าชิ้นงาน คนป่วยอะไรก็ไปอยู่รวมกลุ่มกัน แล้วตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างมาตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคมนี่ เขาติดกล้องเพิ่มจนถึง 32 ตัว”
กรณีเช่นนี้ในทางกฎหมายแล้ว ทนายความชฤทธิ์ อธิบายให้ฟังว่าการย้ายแผนกพนักงานนั้นบริษัทสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นเรื่องการบริหารจัดการทางธุรกิจในแบบปกติโดยสุจริตในแง่หลักการ ไม่ใช่ย้ายเพราะบริษัทกลั่นแกล้งหรือมีปัญหาขัดแย้งกับพนักงาน หรือเพราะพนักงานเคลื่อนไหวเรียกร้อง โดยที่เหตุผลการย้ายไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ก็จะเป็นประเด็นกลั่นแกล้ง
“แต่การย้ายจะต้องไม่ทำให้สิทธิประโยชน์ ค่าจ้างหรือเงินเดือนลดลง เว้นแต่เขาจะยินยอม และลดอย่างไรก็ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ การย้ายแผนกทำได้แต่แผนกใหม่ที่จะไปทำถ้ามีประเด็นเรื่องงานที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้หญิงก็ต้องไปดูว่ามีหลักกฎหมายอยู่ แรงงานก็สามารถใช้สิทธิร้องเรียกต่อพนักงานเพื่อให้ตรวจสอบหรือสั่ง หรือถ้าทำงานแล้วไม่สบายหรือรู้สึกว่าไม่เป็นไปตามภาวะปกติที่มนุษย์ทำงานกัน ก็ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยได้ แล้วยื่นเรื่องต่อพนักงานตรวจแรงงาน”
......................................
ภาวะที่ค่าจ้างแรงงานไทยไม่ได้รับการปรับขึ้นมานานปี ครั้นปรับอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบหลายภาคส่วน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนในวันนี้คือ เมื่อนายจ้างปรับตัวไม่ทัน จึงเลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยการผลักภาระนี้ออกไป ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะการณ์นี้โดยตรงก็คือ ลูกจ้างนั่นเอง