ผู้ตรวจการแผ่นดิน จับมือ คตง. ถกหาแนวทางยกระดับการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน
ผู้ตรวจการแผ่นดิน จับมือ คตง. ถกหาแนวทางยกระดับการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน
ผู้ตรวจการแผ่นดินประชุมร่วมกับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 901 ชั้น 9 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มุ่งวางแผนการทำงาน ป้องกันการซ้ำซ้อน พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมสองหน่วยงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสานความร่วมมือและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน
พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ประชุมหารือถึงแนวทางความร่วมมือในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนที่เข้ามายังทั้งสององค์กร ไม่ว่าจะเป็นกรณี
ความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม กรณีปัญหาการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน กรณีการร่วมมือและช่วยเหลือกันในการติดตามข้อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมาย ตามข้อเสนอแนะของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และกรณีข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมถึงการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลซึ่งกันและกันที่จะช่วยขับเคลื่อนการทำงานให้สะดวกรวดเร็วและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อยกระดับกระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ให้สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดความชัดเจน และลดความซ้ำซ้อนในการทำงานระหว่างสององค์กร ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมรัดกุม อำนวยประโยชน์สุขและบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง โดยความร่วมมือดังกล่าวสืบเนื่องจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 221 ที่กำหนดให้องค์กรอิสระให้ความร่วมมือและช่วยเหลือกัน และตามมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 และมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้ทั้งสององค์กรกำหนดแนวทางในการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เกิดประสิทธิภาพและไม่ซ้ำซ้อนกัน
พลเอก วิทวัส กล่าวต่อว่า การประชุมวันนี้ นอกจากนายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังได้รับเกียรติจากพลเอก ชนะทัพ อินทามระ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้แก่ นางยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ นางสาวจินดา มหัทธนวัฒน์ นายวีระยุทธ ปั้นน่วม นายสรรเสริญ พลเจียก ศาสตราจารย์ ดร. อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป และนายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ร่วมกันกำหนดกรอบพร้อมสรุปแนวทางปฏิบัติงาน ดังนี้
1. กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องร้องเรียนโดยมีทั้งประเด็นความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรม และประเด็นการใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่ชัดเจนตามคำร้องเรียนไว้แล้ว และจากการประสานงานในภายหลังพบว่าคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนในประเด็นการใช้จ่ายเงินแผ่นดินไว้แล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 37 (4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 สำหรับในประเด็นความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมนั้น เป็นหน้าที่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องขจัดหรือระงับความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมต่อไปตามมาตรา 22 และมาตรา 33 ต่อไป
2. กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องร้องเรียนไว้ดำเนินการแล้ว และจากการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานของรัฐ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับวินัยการเงินการคลังหรือเป็นการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 36(3) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560
3. กรณีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยรับตรวจให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับแล้ว แต่หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยรับตรวจไม่ปฏิบัติตามและประชาชนยังคงได้รับความเดือดร้อนหรือได้รับความไม่เป็นธรรมอยู่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินช่วยเหลือติดตามและเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับดังกล่าว ตามหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 33 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560
4. หากมีกรณีปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมของประชาชนที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของทั้งสององค์กร ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอาจปรึกษาหารือดำเนินการตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงตามหน้าที่และอำนาจร่วมกัน เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยรับตรวจให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม รวมถึงให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยรับตรวจดำเนินการให้ถูกต้อง เกิดผลสัมฤทธิ์ และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินแผ่นดินต่อไป
5. การเปิดเผยข้อมูลเรื่องร้องเรียนระหว่างกันในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นเพียงการเปิดเผยข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบด้วยกันเท่านั้น โดยจะมีการจำกัดประเภทของข้อมูลที่เปิดเผยได้และจะต้องสอบถามเฉพาะข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินการเรื่องร้องเรียนเท่านั้น พร้อมทั้งจัดทำแบบฟอร์ม หรือวิธีการติดต่อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
6.การเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูล ให้จัดทำศูนย์ข้อมูลกลางเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบข้อมูลระหว่างกันและเป็นช่องทางรับ – ส่งข้อมูลที่สะดวกและรวดเร็วเพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรม
“การบูรณาการการทำงานร่วมกันของสององค์กรอย่างจริงจัง จะทำให้การทำงานตามอำนาจหน้าที่นั้นชัดเจนและมีประสิทธิภาพสูงสุด และจะได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อดูแลประสานงานระหว่างกันตามแนวทางข้างต้น ตลอดจนการเชื่อมโยงข้อมูลเรื่องร้องเรียนระหว่างกันได้อย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ซ้ำซ้อน ขณะเดียวกัน ประชาชนจะได้รับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งจะได้รับการอำนวยความสะดวกหากยื่นร้องเรียนผิดหน่วยงาน เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินนั้นมีชื่อเรียกคล้ายคลึงกันแต่ปฏิบัติหน้าที่แตกต่างกัน คือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของเงินงบประมาณแผ่นดิน การใช้เงินแผ่นดิน วินัยการเงินการคลัง ระเบียบพัสดุ การจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นมุ่งเน้นการขจัดหรือระงับความเดือดร้อน สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ อำนวยประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก ดังนั้น การประชาสัมพันธ์หน้าที่และอำนาจของทั้งสององค์กรอย่างต่อเนื่องและชัดเจนจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญยิ่ง เพื่อให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐเอง รวมทั้งประชาชนได้รับรู้และเข้าใจในบทบาทของสององค์กรอย่างชัดเจน อันจะเกิดประโยชน์ต่อการเข้าถึงสิทธิของประชาชน ตลอดจนส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินให้มีธรรมาภิบาลอย่างยั่งยืนสืบไป” พลเอก วิทวัส กล่าว