คำพิพากษาฉบับเต็ม! ‘ดิสธร’ปั้นเอกสารเท็จขอพระราชทานเครื่องราชฯให้เจ้าของร้านขนม-คุก 2 ปี 6 ด.
“…จำเลยอาศัยโอกาสปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ จัดทำเอกสารและรับรองข้อความในแบบหนังสือรับรองแสดงการบริจาคทรัพย์สิน (แบบ นร.2) อันเป็นเท็จ โดยรับรองว่านางพิริยาภรณ์ ได้กระทำคุณงามความดี บริจาคทรัพย์สินเพื่อประโยชน์สาธารณกุศล 25,296,880 บาท ด้วยวิธีนำส่วนลด 20% ในการขายสินค้าน้ำพริก และขนมโมจิ ของนางพิริยาภรณ์ ที่จำหน่ายให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ตั้งแต่ปี 2551-2556 จากยอดสุทธิ 126,184,400 บาท มาแสดงเป็นหลักฐานว่าบริจาคเงินให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะส่วนลดราคาดังกล่าวเป็นการขายสินค้า อันเป็นประโยชน์ทางการค้าปกติ ความจริงแล้วไม่มีการนำเงินส่วนลดดังกล่าวมาบริจาคให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯแต่อย่างใด…”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก นายดิสธร วัชโรทัย อดีตข้าราชการประจำสำนักพระราชวัง เป็นระยะเวลา 5 ปี แต่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุให้บรรเทาโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตร่วมกันแจ้งข้อความเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายและร่วมกันฉ้อโกงอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 341 ประกอบมาตรา 83 ขณะที่อัยการมีความเห็นไม่อุทธรณ์คำพิพากษา เนื่องจากจำเลยมีความผิดตามฟ้องและลงโทษจำเลยตามฟ้องนั้นชอบแล้ว (อ่านประกอบ : สารภาพลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 6 ด. 'ดิสธร วัชโรทัย' คดีปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต-ฉ้อโกง)
รายละเอียดเบื้องลึกในคดีนี้เป็นอย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปให้ทราบ ดังนี้
โจทก์ (พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด) บรรยายฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลย (นายดิสธร) เป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวัง สังกัดสำนักพระราชวัง มีหน้าที่รับผิดชอบการปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ กับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายพิเศษในกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯมอบหมาย
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้จำเลย ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวัง ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมายพิเศษจากพระมหากษัตริย์แทนเลขาธิการพระราชวัง
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2556 เวลากลางวัน จำเลยในฐานะประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้ทุจริตร่วมกับนางพิริยาภรณ์ โรจนวิทิตพงศ์ พวกของจำเลยซึ่งหลบหนี ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง โดยหลอกลวงกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยการร่วมกันแสดงข้อความอันเป็นเท็จ อาศัยโอกาสที่จำเลยมีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว จัดทำเอกสารและรับรองข้อความในแบบหนังสือรับรองแสดงรายการบริจาคทรัพย์สิน (แบบ นร.2) อันเป็นเท็จ โดยรับรองว่านางพิริยาภรณ์ พวกของจำเลย ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ฝ่ายบรรเทาทุกข์ กระทำความดีความชอบบริจาคทรัพย์สินเพื่อประโยชน์สาธารณกุศล เป็นเงิน 25,296,880 บาท โดยจำเลยกับพวกนำส่วนลดราคา 20% ในการขายสินค้าประเภทน้ำพริก และขนมโมจิของนางพิริยาภรณ์ ที่จำหน่ายให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ช่วงปี 2551-2556 จากยอดขายสินค้ารวม 126,184,400 บาท คิดเป็นส่วนลด 25,296,880 บาท แล้วนำส่วนลดดังกล่าวมาเป็นหลักฐานว่า นางพิริยาภรณ์บริจาคเงินให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ อันเป็นความเท็จ
เพราะส่วนลดในราคาในขายสินค้าอันเป็นประโยชน์ในทางการค้าตามปกติทั่วไป โดยความจริงแล้วไม่มีการนำเงินส่วนลดจำนวนดังกล่าวบริจาคให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ แต่อย่างใด จำเลยกับพวกทราบดีว่า การกระทำดังกล่าวมิใช่การบริจาคที่จะรับการพิจารณาให้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่จำเลยต้องการให้นางพิริยาภรณ์ เป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ จำเลยลงนามในฐานประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เสนอรับรองชื่อนางพิริยาภรณ์ว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ส่งไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อเสนอต่อไปยังหน่วยราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอรายชื่อที่สมควรจะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตของจำเลย
การหลอกลวงและการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หลงเชื่อว่านางพิริยาภรณ์บริจาคเงินจริง และมีการเสนอชื่อนางพิริยาภรณ์ไปตามลำดับชั้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2556 คณะกรรมการพิจารณาการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี 2556 ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้ว มีมติอนุมัติขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว ให้แก่นางพิริยาภรณ์ และโดยการหลอกลวงโดยทุจริตของจำเลยกับพวก ทำให้นางพิริยาภรณ์ได้รับพระราชทานาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว จำนวน 1 สำหรับ ราคา 14,014 บาท โดยไม่มีสิทธิที่จะได้รับแต่อย่างใด
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลพิเคราะห์รายงานการสอบสวนและสำนวนการสอบสวนแล้ว เห็นว่า จำเลยและนางพิริยาภรณ์ รู้อยู่แล้วว่า นางพิริยาภรณ์มิได้เป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว แต่จำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตร่วมกับนางพิริยาภรณ์ หลอกหลวงกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2556 จำเลยอาศัยโอกาสปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ จัดทำเอกสารและรับรองข้อความในแบบหนังสือรับรองแสดงการบริจาคทรัพย์สิน (แบบ นร.2) อันเป็นเท็จ โดยรับรองว่านางพิริยาภรณ์ ได้กระทำคุณงามความดี บริจาคทรัพย์สินเพื่อประโยชน์สาธารณกุศล 25,296,880 บาท ด้วยวิธีนำส่วนลด 20% ในการขายสินค้าน้ำพริก และขนมโมจิ ของนางพิริยาภรณ์ ที่จำหน่ายให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ตั้งแต่ปี 2551-2556 จากยอดสุทธิ 126,184,400 บาท มาแสดงเป็นหลักฐานว่าบริจาคเงินให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะส่วนลดราคาดังกล่าวเป็นการขายสินค้า อันเป็นประโยชน์ทางการค้าปกติ ความจริงแล้วไม่มีการนำเงินส่วนลดดังกล่าวมาบริจาคให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯแต่อย่างใด
นางพิริยาภรณ์ เดิมชื่อ นางอำไพ เดชอุดม เป็นเจ้าของกิจการร้านขนมหม้อแกงเมืองเพชรบุรี แม่กิมลั้ง ซึ่งขายน้ำพริกและขนมโมจิให้แก่ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ โดยเอกสารที่ใช้ประกอบข้ออ้างว่ามีการบริจาคทรัพย์สิน ระบุว่า ปี 2551 บริจาค 4.5 ล้านบาทเศษ ปี 2552 บริจาค 3.7 ล้านบาทเศษ ปี 2553 บริจาค 3.8 ล้านบาทเศษ ปี 2554 บริจาค 10.5 ล้านบาทเศษ ปี 2555 บริจาค 2.5 ล้านบาทเศษ และปี 2556 บริจาค 56,000 บาท
แต่เมื่อนำไปตรวจสอบเปรียบเทียบกับข้อมูลการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาของกรมสรรพากรแล้วพบว่า ปี 2551 นางพิริยาภรณ์ ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ระบุว่า บริจาคเงินให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯแค่ 30,000 บาท และขอใช้สิทธิหักลดหย่อนเงินบริจาคตามแบบแสดงรายการดังกล่าว 176,303 บาท และในปี 2552-2556 ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนางพิริยาภรณ์ ได้ขอใช้สิทธิหักลดหย่อนเงินบริจาคให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯแต่อย่างใด
พยานหลักฐานส่วนนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า ที่ร้านขนมหม้อแกงเมืองเพชรบุรี แม่กิมลั้ง ให้ส่วนลดแก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ นั้น เป็นการให้ส่วนลดอันเป็นประโยชน์ในทางการค้าปกติ นางพิริยาภรณ์ไม่ได้คิดว่าเงินส่วนลดดังล่าวเป็นเงินบริจาค มิฉะนั้นแล้ว นางพิริยาภรณ์ย่อมนำยอดเงินดังกล่าวไปขอใช้สิทธิหักลดหย่อนในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว และจากการให้ปากคำของพยาน ได้ความว่า หากสั่งซื้อสินค้าปริมาณมาก จะได้รับส่วนลดอยู่แล้วเป็นปกติ สำหรับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เป็นลูกค้าสั่งซื้อสินค้าเป็นประจำ การสั่งซื้อสินค้าแต่ละครั้งมีปริมาณมาก หลายครั้งที่ซื้อเกินกว่า 10,000 ชุดในคราวเดียวกัน จึงเป็นธรรมดาที่ต้องได้รับส่วนลดมากกว่า 10%
ประกอบกับผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่พนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษหรือพยานว่า ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ.2538 มาตรา 8 (2) การกระทำความดีความชอบที่จะนำมาเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ต้องเป็นการกระทำความชอบที่เป็นการบริจาคทรัพย์สินเพื่อสาธารณประโยชน์ ส่วนลดในการขายสินค้าอันเป็นประโยชน์ทางการค้าปกติทั่วไปไม่ใช่การบริจาคทรัพย์สินไม่อาจนำเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ กรณีนางพิริยาภรณ์ ไม่มีคุณสมบัติ
แต่เพราะจำเลยทำหนังสือรับรองแสดงรายการบริจาคทรัพย์สิน (แบบ นร.2) ลงวันที่ 26 ก.พ. 2556 ระบุว่า นางพิริยาภรณ์ บริจาคทรัพย์สินเพื่อประโยชน์สาธารณกุศล โดยได้ลดเปอร์เซ็นต์ในการขายให้กับองค์กรสาธารณกุศลต่าง ๆ ทำให้กรมพัฒนาสังคม ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หลงเชื่อว่า นางพิริยาภรณ์ บริจาคเงินจริง และนำเสนอชื่อนางพิริยาภรณ์ไปตามลำดับชั้น กระทั่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) 341 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลย 5 ปี จำเลยให้การรับสารภพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุให้บรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน
----
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2560 สำนักพระราชวัง ได้มีคำสั่งลงโทษไล่ นายดิสธร วัชโรทัย ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ออกจากราชการเนื่องจากกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หลังพบว่าได้กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงหลายกรณี อาทิ ใช้อำนาจสั่งการให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ แสดงเอกสารรับรองว่าบุคคลภายนอกได้บริจาคเงินให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ เป็นจำนวนเงิน25 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าตามปกติ โดยไม่ได้มีการบริจาคเงินจำนวนดังกล่าวจริงแต่อย่างใด และนายดิสธร ยังได้นำเอกสารรับรองการบริจาคดังกล่าว เสนอต่อกรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นทุติยดิเรกคุณาภรณ์ ให้แก่บุคคลภายนอก อันเป็นการฉ้อโกงเครื่องราชอิสริยาภรณ์
นอกจากนี้ นายดิสธร ในฐานะรองเลขาธิการพระราชวัง ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลกองพระราชพาหนะ ได้นำรถยนต์ในพระปรมาภิไธยไปใช้จนเกิดอุบัติเหตุ และแอบอ้างพระปรมาภิไธย เพื่อยกเว้นภาษีการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ แล้วนำรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศไปใช้ทดแทนรถยนต์คันเดิมที่ประสบอุบัติเหตุ โดยไม่ปรากฏหลักฐานการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายรถยนต์คันใหม่และไม่มีหลักฐานการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันเดิมแต่อย่างใด เป็นต้น (อ่านประกอบ : ไล่ออก 'ดิสธร วัชโรทัย' ชี้ประพฤติชั่วร้ายแรง,พลิกปูมเส้นทาง ‘ดิสธร’ ปี 42 ถึง 60 - กก. 3 บริษัท ก่อนถูกไล่ออกราชการ)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/