ฟู๊ดแล็บ ผนึก สสส. แถลงผลสำเร็จ 1 ปี Organic Tourism
ฟู๊ดแล็บ ผนึก สสส. แถลงผลสำเร็จ 1 ปี Organic Tourism เผยโรงแรม ร้านอาหารแบรนด์ดัง ตื่นตัวจับมือเกษตรกร สร้างระบบอาหารสมดุล ตั้งเป้าดึงลูกค้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เล็งพาทัวร์ออร์แกนิกฟาร์ม
วิสาหกิจเพื่อสังคม แล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับ สามพรานโมเดล การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงาน “สรุปผล 1 ปี การขับเคลื่อน Organic Tourism และร่วมกำหนด ทิศทางการขยายผล” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนรับทราบความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน Organic Tourism หรือ การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ ร่วมสร้างระบบอาหารภายในประเทศให้สมดุลยั่งยืน ณ ห้องกมลพร โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ
ภายในงานมีการจัดเสวนาหัวข้อ “เส้นทางการขับเคลื่อนโรงแรมต้นแบบ Organic Tourism” โดยมีผู้บริหารจากภาคส่วนต่างๆ ที่ร่วมขับเคลื่อน ร่วงวงเสนา ได้แก่ สสส. ททท. ห้องอาหารสีฟ้า ร้านอาหาร เอส แอนด์ พี โรงแรมเดอะ สุโกศล โรงแรมรายา เฮอริเทจ และแทมมาริน วิลเลจ จ.เชียงใหม่ แล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) โดยมี ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเสวนาด้วย พร้อมให้แนวทางในการขับเคลื่อน มีจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีความต่อเนื่อง เพราะการปรับเปลี่ยน เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ และการยกระดับผู้บริโภคให้หันมาสู่วิถีอินทรีย์ เป็นเรื่องใหญ่ ที่จะต้องอาศัยพลังความร่วมมือของทุกฝ่าย จึงนับเป็นเรื่องดีที่มีโครงการสามารถดึงผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร เกษตรกร ตลาด มาร่วมกันทำงาน
นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการสวนสามพราน และผู้ร่วมก่อตั้งแล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์เพื่อสร้างระบบอาหารสมดุล ใช้สามพรานโมเดลเป็นต้นแบบพัฒนาการขับเคลื่อน และใช้กระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคมดึงคนที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหาร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเริ่มในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่น่าดีใจ ที่วันนี้มีต้นแบบการขับเคลื่อนเกิดขึ้นจริงแล้ว ซึ่งจะได้มีการส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขยายผล การขับเคลื่อนต่อ เพื่อให้มีผู้ประกอบการการท่องเที่ยว มาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับระบบอาหารมากขึ้น
“การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ เป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการและผู้ผลิต ความท้าทายในการขับเคลื่อนคือจะทำอย่างไรให้ทุกคนออกนอกกรอบเดิม ๆ เพราะทั้งผู้ผลิต และผู้ประกอบการต่างก็เคยชินกับวิธีการซื้อขาย ที่ทำมา ซึ่งการที่จะให้ทั้งสองส่วนมาทำงานร่วมกัน ต้องให้ทั้งสองฝ่ายรู้จักสร้างความยืดหยุ่น ในวิธีการทำงาน เช่น เกษตรกรต้องวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ส่วนผู้ประกอบการเอง แต่เดิมสามารถสั่งผลผลิตอะไรก็ได้จากพ่อค้าคนกลาง แต่สำหรับผลผลิตอินทรีย์จะเป็นไปตามฤดูกาล บางอย่างอาจไม่มีให้ตลอดเวลา ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนเทคนิคการสื่อสารกับลูกค้า” นายอรุษ กล่าว
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มีพันธกิจสร้างเสริมสุขภาพคนไทย ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แต่การจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีได้ การจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นมิตรต่อสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการอันดับแรก ประชาชนต้องมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ซึ่งการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์นั้น นอกจากจะเชื่อมโยงเกษตรกรเข้ากับผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นตัวอย่างของการสร้างสังคมสุขภาวะ ดังเช่นแผนในอนาคตที่จะมีการพาลูกค้าลงพื้นที่ไปยังฟาร์มเกษตรอินทรีย์ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศแล้ว ยังเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ เกิดความเชื่อมั่นต่อเกษตรกร ซึ่งความรอบรู้เหล่านี้จะทำให้เกิดความต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหารดีต่อสุขภาพตามมา
ด้าน ดร. อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง แล็บอาหาร ยั่งยืน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ การขับเคลื่อนระบบอาหารสมดุลที่เราใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทุกคนจากห่วงโซ่อาหารได้ประโยชน์ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ได้บริโภคอาหารที่ดี สุขภาพดี หากแต่สุขภาวะโดยรวมของทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมใน Organic Tourism ดีขึ้นจากการมีความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ มีจิตใจที่ดีเอื้ออาทร มีมิตรไมตรีต่อกัน มีสังคมที่ดี ซึ่งเป็นประโยชน์นอกเหนือจากการมาร่วมสร้างระบบอาหารให้ยั่งยืน
“อย่างไรก็ตามการสร้างระบบอาหารให้ยั่งยืนขึ้น เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เราจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายผลในปีต่อไป เรามุ่งหวังจะขยายผลจากกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ไปพื้นที่ใกล้เคียง เราอยากให้มีความหลากหลายมากขึ้น อยากขอเชิญทุกท่านมาร่วมกันขับเคลื่อน ไม่ว่าท่านจะเป็นเกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือในฐานะผู้บริโภค เราทุกคนมีส่วนร่วมได้ เพื่อร่วมสร้างระบบอาหารที่สมดุลยั่งยืน ที่ทุกคนได้ประโยชน์ รวมถึงสังคม และสิ่งแวดล้อม” ดร. อุดม กล่าว
ส่วนนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล กล่าวว่า การศึกษาดูงานโครงการ Organic Tourism เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้กับโรงแรมเครือสุโกศล จนเกิดเป็นนโยบาย กรีน มีตติ้ง คอนเซ็ป มีการเสนอทางเลือกให้ลูกค้าด้วย Organic คอฟฟี่เบรก มีการปรับเปลี่ยนเมนูในบุฟเฟ่ต์ของห้องอาหาร และขยายผลไปยังแผนกจัดเลี้ยง และที่สำคัญการใช้วัตถุดิบออร์แกนิกกลับไม่ได้ทำให้ต้นทุนในการผลิตอาหารสูงขึ้น หากเชฟมีเทคนิคในการประกอบอาหาร ดังนั้น ทางโรงแรมจึงอยากเป็นต้นแบบในการเผยแพร่ประโยชน์เหล่านี้ออกไป เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร และช่วยเหลือสังคม
ด้าน ชู เลง โก ผู้จัดการทั่วไป โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล แบงค็อก กล่าวว่า ในแต่ละปีโรงแรมต้องทำอาหารให้ลูกค้าที่มาใช้บริการ รวมทั้งพนักงานปีละกว่า 6 แสนคน จึงเห็นความสำคัญของบทบาทในการเลือกสรรอาหารปลอดภัยมาให้ลูกค้าบริโภค ต่อมาจึงเริ่มมาเรียนรู้ เริ่มเข้าใจเกษตรกร และซื้อผลผลิตตรงจากเกษตรกรเพื่อนำมาใช้ที่ห้องอาหารไทย และมีการสื่อสารให้ลูกค้ารับรู้ว่าทางโรงแรมมีเมนูอินทรีย์ ซึ่งผลการตอบจากลูกค้าถือว่าดีมาก ปัจจุบันมียอดการใช้วัตถุดิบอินทรีย์ 70 % ในอนาคตตั้งเป้าให้เป็นร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบอินทรีย์ทั้ง 100% พร้อมกับจะจัดทริปพาลูกค้าไปเยี่ยมชมออร์แกนิกฟาร์ม เพื่อให้เห็นแหล่งที่มาของอาหาร เห็นกระบวนการทำงานร่วมกันกับเกษตรกร
น.ส. ณภัทร นุตสติ ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมแทมมาริน วิลเลจ เชียงใหม่ และโรงแรมรายเฮอริเทจ เชียงใหม่ กล่าวว่า หากบริหารการใช้วัตถุดิบอินทรีย์ให้ดี จะพบว่าไม่ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเลย โดยปัจจุบันทางโรงแรมยังมีแนวคิดต่อยอดในการส่งเสริมให้ครอบครัวพนักงานที่ทำเกษตรอยู่แล้ว หันมาทำเกษตรอินทรีย์เพื่อป้อนวัตถุดิบให้กับโรงแรม เพราะจากการสำรวจข้อมูลพนักงานพบว่า ส่วนใหญ่มีการเพาะปลูกพืชผักเป็นรายได้เสริมอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมจึงมีแค่การให้ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์เท่านั้น
นายกำธร ศิลาอ่อน กรรมการผู้จัดการใหญ่สายการผลิตและการเงิน บริษัทเอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากได้ฟังเรื่องราวการขับเคลื่อนของสามพรานโมเดลมาเป็นเวลาหลายปี ขณะที่บริษัทกำลังทำนโยบายอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อความสุขของโลก เพื่อความสุขของลูกค้า จึงเป็นอีกแรงบันดาลใจในการนำทีมผู้บริหารลงพื้นที่ ไปพบกับชาวสวน เพื่อเรียนรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์ เห็นการพึ่งพาตนเองจนเกิดการซื้อขายโดยตรงระหว่างบริษัทและเกษตรกรโดยเริ่มจากฝรั่งออร์แกนิกเป็นสิ่งแรก
“วิสัยทัศน์ของเราไม่ใช่แค่ว่าจะต้องกำไรเยอะที่สุด แต่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะถ้าลูกค้าบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ก็ย่อมมีผลที่ไม่ดีต่อธุรกิจด้วย เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องยั่งยืนต้องมีความเกื้อกูลกันและกัน” นายกำธร กล่าว
ขณะที่ป้าประหยัด ปานเจริญ ประธานกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ บ้านหัวอ่าว เล่าว่า จากการปรับตัว ร่วมทำงานกับผู้ประกอบการ ทำให้รู้ความต้องการ เห็นปัญหาว่าผลผลิตเรายังไม่ได้คุณภาพ จึงมีการปรับปรุงผลผลิต และคุณภาพก่อนส่งมอบ ทำให้สามารถวางแผน และปรับตามความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น ส่วน คุณอรุณี พุทธรักษา ประธานกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เล่าว่า การทำงานร่วมกัน ทำให้รู้และเข้าใจปัญหาของทุกฝ่าย เมื่อมาคุยกัน เข้าใจกัน ยอดการผลิตก็เริ่มลงตัว รายได้ของเกษตรกรก็เพิ่มมากขึ้น จากส่วนที่ส่งไปโรงแรมในกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ สำหรับการขับเคลื่อน Organic Tourism จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร เข้ามาร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์จำนวนกว่า 20 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพ อาทิ โรแรม ดิ แอทธินี โฮเทล อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล แบงค็อก โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ โรงแรมอนันตราสยาม กรุงเทพ โรงแรมดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร้าน Patom Organic Living (ปฐม) เหล่านี้เป็นต้น ส่วนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มี ตลาดจริงใจ มาร์เก็ต โรงแรมรายา เฮอริเทจ โรงแรมแทมมาริน วิลเลจ โรงแรม วิลล่ามหาภิรมย์ โรงแรมครอสทู 137 พิลลาร์เฮาส์ ร้านอาหารอิ่มเอม ร้านอาหารจินเจอร์ฟาร์ม อันจะกินวิลล่า ซาร่าคิทเช่น เชฟพีท และเลอ คริสตัล โดยในพื้นที่เชียงใหม่ยังได้เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคม เจียงใหม่ ออร์แกนิก ทำหน้าที่เชื่อมโยงเชฟ ให้เปลี่ยนวิถีการทำอาหารมาใช้วัตถุดิบอินทรีย์ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์มื้อค่ำอินทรีย์ “เจียงใหม่ออร์แกนิก เชฟเทเบิ้ล” ทำให้เชฟและผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเชียงใหม่เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนอาหารอินทรีย์เพื่อสื่อสารเรื่องราว สู่ผู้บริโภคอีกด้วย