365 วันคดี "พลทหารวิเชียร" ยังไร้คืบหน้า ศาลยะลาชี้ "อัสฮารี" ถูก จนท.ซ้อมตาย
"หลายกรณีเมื่อเหยื่อร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน กลับถูกเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง ข่มขู่ คุกคาม จนเหยื่อและครอบครัวไม่กล้าใช้กระบวนการยุติธรรมปกป้องสิทธิ" เป็นคำกล่าวของ นายสมชาย หอมลออ ประธานคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรม ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของคดี "ซ้อมทรมาน" ซึ่งเหยื่อมักโดนละเมิดสิทธิซ้ำซาก คือโดนซ้อมแล้ว ยังโดนข่มขู่คุกคามไม่ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีด้วย
เหยื่อและครอบครัวของเหยื่อซ้อมทรมานแทบทุกกรณีจึงตกอยู่ในภาวะเครียด หวาดกลัว และไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐ...
นายสมชาย หอมลออ กล่าวเรื่องนี้บนเวทีสาธารณะเรื่อง "การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาเหยื่อซ้อมทรมาน" เนื่องในวันต่อต้านการซ้อมทรมานสากล 26 มิ.ย.2555 จัดโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่โรงแรม ที.เค.พาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
ภายในงานมีเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อที่ถูกซ้อมทรมาน ทนายความที่เคยทำคดี ตลอดจนผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน แพทย์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็น
ข้อสังเกตที่น่าสนใจจาก นายสมชาย หอมลออ ก็คือ ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ตั้งแต่ปี 2550 แต่จนถึงปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมยังไม่เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาเหยื่อซ้อมทรมาน การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของเหยื่อมักถูกละเลยจากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเอง จนเป็นเหตุให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยด่วน
หนึ่งปีที่เงียบหาย...กรณีถูกซ้อมตายของ"พลทหารวิเชียร"
กรณีซ้อมทรมานที่ได้รับความสนใจในวงกว้างมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา คือ กรณี พลทหารวิเชียร เผือกสม ทหารกองประจำการผลัดที่ 1/2554 สังกัด ร.151 พัน 3 เรียกง่ายๆ ว่าเป็น "ทหารเกณฑ์" เข้ารับการฝึกอยู่ที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นค่ายเดียวกับที่ถูกคนร้ายบุกปล้นปืนกว่า 400 กระบอกเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547
พลทหารวิเชียร ถูกครูฝึกทหารใหม่ทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2554 โดยก่อนสิ้นใจเขาถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส แต่อาการสาหัสจนแพทย์ไม่สามารถยื้อชีวิตเอาไว้ได้...
ถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 1 ปี แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนจากกองทัพภาคที่ 4 จนได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทั้งสิ้น 13 คน ถูกแจ้งความดำเนินคดีอาญาแล้ว 9 คน แต่คดีก็ไม่มีความคืบหน้ามากนัก ยิ่งไปกว่านั้น "นายทหารยศร้อยโท" ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการฝึกทหารใหม่ กลับมีความผิดแค่ "ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา" ให้ขัง 15 วัน ทั้งๆ ที่ญาติของพลทหารวิเชียร ได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่า นายทหารยศร้อยโทผู้นี้น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสียชีวิตของพลทหารวิเชียร
ตรวจสอบลึกลงไปก็พบว่า ร้อยโทผู้นี้เป็นลูกชายนายพล สังกัดกองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร.15) ซึ่งเป็นหน่วยกำลังหลักในพื้นที่ชายแดนใต้นั่นเอง
ประเด็นนี้ยิ่งทำให้ญาติของพลทหารวิเชียรไม่สบายใจ และสงสัยว่าอาจมีความพยายามช่วยเหลือเพื่อ "กัน" ร้อยโทรายนี้ให้พ้นผิด
นอกเหนือจากเหตุการณ์ร้ายแรงที่ไม่น่าเกิดขึ้นในการฝึกทหารใหม่ยุคปัจจุบันแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กรณีนี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางก็คือ พลทหารวิเชียร ซึ่งเป็นชาว จ.สงขลา ไม่ใช่ "ไอ้เณร" ธรรมดา แต่จบการศึกษาถึงระดับปริญญาโทจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมัครเข้าไปเป็นทหารเพื่อรับใช้ชาติ
แต่เขากลับต้องมาจบชีวิตจากความตั้งใจดีๆ ของเขานั่นเอง!
ร่องรอยแห่งความไม่โปร่งใส
น.ส.นริศราวัลณ์ แก้วนพรัตน์ ญาติของพลทหารวิเชียร ซึ่งเดินทางไปร่วมเวที "การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาเหยื่อซ้อมทรมาน" ด้วย กล่าวว่า ก่อนหน้าจะเกิดเรื่อง พลทหารวิเชียรบวชเป็นพระ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ต่อมาได้แจ้งกับทางบ้านว่าขอสึกออกไปทำงาน 6 เดือน (ไปเป็นทหาร) จากนั้นก็เงียบหายไป กระทั่งเจ้าหน้าที่ทหารจาก ร.151 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส โทรศัพท์แจ้งทางบ้านว่า พลทหารวิเชียรหลบหนีออกจากค่าย
จากนั้นทางบ้านได้ติดต่อสัสดีจังหวัดสงขลาเพื่อขอทราบข้อเท็จจริง และได้รับคำตอบว่าพลทหารวิเชียรเลือกสมัครเข้ารับราชการทหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อมาทางค่ายได้ติดต่อกลับมาว่า พลทหารวิเชียรกลับเข้ามาที่ค่ายแล้ว หลังจากนั้นก็ไม่ทราบข่าวของพลทหารวิเชียรอีกเลย
กระทั่งเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2554 มีผู้หวังดีโทรศัพท์มาบอกว่า พลทหารวิเชียร นอนอยู่ในห้องไอซียู โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งทางบ้านไม่เชื่อ จึงได้ติดต่อกลับไปที่เจ้าหน้าที่ทหาร ร.151 ว่าพลทหารวิเชียรอยู่ที่ไหน ทหารรายนั้นกลับแจ้งว่า พลทหารวิเชียรยังอยู่ในค่าย ทางบ้านจึงสอบถามว่าเหตุใดมีคนแจ้งว่าพลทหารวิเชียรนอนอยู่ในห้องไอซียู ปรากฏว่าทหารรายนั้นปฏิเสธว่าทหารที่นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลไม่ใช่พลทหารวิเชียร
ด้วยความข้องใจทางบ้านจึงตัดสินใจเดินทางไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ แล้วก็พบว่า พลทหารวิเชียรนอนอยู่ในห้องไอซียูจริงๆ ขณะนั้นร่างกายไม่สามารถตอบสนองใดๆ ได้แล้ว และเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2554 เวลา 23.05 น. พลทหารวิเชียรก็ได้เสียชีวิตลง
"ช่วงที่พลทหารวิเชียรเข้ารับการรักษา ได้เล่าให้แพทย์ที่ทำการรักษาว่าถูกครูฝึกจำนวน 10 นายรุมทำร้าย โดยมีนายทหารยศร้อยโทเป็นคนสั่ง จากนั้นก็ขอให้แพทย์แจ้งกับทางบ้านว่านอนอยู่ที่โรงพยาบาล" น.ส.นริศราวัลณ์ กล่าว
เธอบอกอีกว่า หลังจากนำศพมาบำเพ็ญกุศลที่บ้าน ก็เกิดความรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่มีความโปร่งใส โดยเฉพาะเมื่อนายทหารยศ "ร้อยโท" ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัย เดินทางมาร่วมพิธีศพด้วย และขอเจรจากับทางญาติว่า จะขอคลุมธงชาติ และขอพระราชทานเพลิงศพ แต่ทางญาติไม่ยอม จะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด
"เขาก็บอกว่าที่ผ่านมามีทหารเสียชีวิตในลักษณะนี้เช่นกัน และได้มีการจ่ายเงินเยียวยาจำนวน 3 ล้านบาท เขาก็ถามว่าเราสนใจหรือไม่ แต่ทางญาติบอกกลับไปว่าจะเรียกร้องขอความเป็นธรรม และเมื่อรู้ว่าผู้ตายจบการศึกษาระดับปริญญาโท ร้อยโทคนนั้นก็เสนอจ่ายเงินเพิ่มเป็น 5 ล้านบาท" น.ส.นริศราวัลณ์ ซึ่งมีอายุแค่ 21 ปีและยังเป็นนักศึกษา เล่าเหตุการณ์ที่เจอมากับตัวเอง
เก็บศพไม่ยอมเผา-ปัดข้อเสนอ 10 ล้านกันตัว "ร้อยโท"
ญาติผู้น้องของพลทหารวิเชียร บอกอีกว่า เมื่อทางญาติได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจากต้นสังกัด คือ ร.151 ปรากฏว่าผู้บังคับบัญชาได้รับเรื่องไว้ และรับปากว่าจะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ โดยขอให้ญาติรีบณาปนกิจศพตามวันและเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ก่อนที่ญาติจะดำเนินการณาปนกิจ ได้สอบถามไปยังต้นสังกัดอีกครั้งว่าได้นำตัวผู้กระผิดมาลงโทษหรือยัง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ ทางญาติจึงปรึกษากันว่าจะเก็บศพไว้ก่อนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป
จากนั้นจึงได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 แต่ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับมา จึงไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ก็ไม่ได้รับคำตอบเช่นกัน กระทั่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เดินทางไปมอบทุนการศึกษาที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา ทางญาติจึงไปยื่นหนังสือและเล่ากรณีที่เกิดขึ้นให้ได้ทราบ
"หลังจากวันนั้นจึงเพิ่งมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมา ทราบว่ามีผู้กระทำความผิดทั้งหมดสิบกว่าคน ในจำนวนนี้มี 9 คนต้องถูกดำเนินคดีอาญา แต่อีก 1 คนซึ่งเป็นนายทหารยศร้อยโท กลับถูกขังเพียง 15 วัน ทางบ้านจึงได้ร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้งให้ตรวจสอบเรื่องนี้ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้า"
"ทราบว่าร้อยโทคนที่กระทำผิดมีพ่อเป็นนายทหารยศพลตรี และมีการเสนอเงินจำนวน 10 ล้านบาทเพื่อแลกกับการที่ร้อยโทไม่ต้องโดนคดีอาญา จึงอยากบอกกับเขาว่าแม้คนตายเป็นแค่พลหทาร ไม่มีพ่อยศพลตรี แต่เขาก็มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เช่นกัน"
น.ส.นริศราวัลณ์ บอกอีกว่า ทางญาติมีเอกสารหลักฐานที่น่าเชื่อว่าร้อยโทรายนี้เป็นผู้ร่วมกระทำผิด ซึ่งศาลทหารแจ้งว่า เอกสารดังกล่าวถูกส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว ต่อมาเมื่อไปตามเรื่องที่ ป.ป.ช. ก็ได้รับแจ้งว่าขณะนี้มีกฎหมายใหม่ ให้ข้าราชการทหารยศต่ำกว่าพลตรี หากถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ต้องโอนเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
"เมื่อมีการโอนเรื่องไปที่ ป.ป.ท. ทางญาติได้ไปขอดูสำนวนคดี พบว่าทางอัยการศาลทหารไม่ได้ส่งสำนวนระบุความผิดของร้อยโทส่งให้ ป.ป.ท.ด้วย มีเพียงสำนวนของผู้ต้องหา 9 คนร้องขอความเป็นธรรมเท่านั้น"
สำหรับเอกสารหลักฐานที่ญาติของพลทหารวิเชียรกล่าวถึง คือสรุปผลการสอบสวนที่ชี้ว่า นายทหารยศร้อยโทเป็นคนสั่งการให้ทำร้ายร่างกายพลทหารวิเชียร อาทิ ให้ลากผู้ตายไปกับพื้น มีการใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 เมตรตีบริเวณลำตัวของผู้ตายจนไม้ไผ่แตก 3 อัน สั่งให้นั่งบนน้ำแข็ง และนำแอลกอฮอล์มาราดแผล ฯลฯ
"ที่สำคัญคือ ร้อยโทคนนี้พูดว่าเขายอมเสียเงิน แต่เขาจะไม่ยอมถูกปลดจากตำแหน่ง จึงอยากถามว่าเมื่อมีหลักฐานว่าใครกระทำความผิด ทำไมจึงไม่มีการดำเนินคดี แล้วอย่างนี้อีกกี่ปีผู้เสียชีวิตถึงจะได้รับความเป็นธรรม"
ฟ้องทหาร 9 นายไร้เงา "ร้อยโท"
ปัจจุบัน น.ส.นริศราวัลณ์ ได้เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจาก นางประเทือง เผือกสม มารดาโดยชอบของพลทหารวิเชียร ได้ติดตามความคืบหน้าของคดี และยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังผู้บังคับบัญชาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ตรวจสอบพฤติกรรมของนายทหารยศร้อยโทและโทษที่ได้รับเพียงกักขัง 15 วัน พร้อมแสดงความหวาดกลัวอิทธิพลของครอบครัวผู้ถูกกล่าวหา
นอกจากนั้นยังยื่นหนังสือไปยัง นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สำนักงาน ป.ป.ท. เพื่อเร่งรัดคดี โดยคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลมณฑลทหารบกที่ 42
ส่วนผู้ต้องหาที่ถูกสั่งฟ้องในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย โดยทรมาน หรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย จนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย มีจำนวน 9 ราย พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนและมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 9 ต่ออัยการมณฑลทหารบกที่ 42 เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2554 โดยทั้งหมดเป็นทหาร ยศสูงสุด "ร้อยตรี" ซึ่งมีเพียงคนเดียว ส่วนอีก 3 คนเป็น "สิบเอก" และที่เหลือ 5 คนเป็นพลทหาร
ผู้ต้องขังคดีความมั่นคง 80% ถูกซ้อม
ในเวทีสาธารณะเรื่อง "การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาเหยื่อซ้อมทรมาน" ยังมีผู้แทนจากอีกหลายองค์กรและหลายหน่วยงานร่วมแสดงความคิดเห็น โดย น.ส.ซุกกรียะห์ บาหะ ผู้ช่วยวิจัยกลุ่มด้วยใจ (เครือข่ายภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ซึ่งเป็นกลุ่มที่สำรวจเรื่องการทรมานจากการให้ปากคำในคดีความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลที่เรือนจำจังหวัดสงขลา พบว่ามีผู้ต้องขังในคดีความมั่นจำนวน 118 คน บางส่วนอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี ข้อมูลจากการพูดคุยทำให้ทราบว่าผู้ต้องขังประมาณ 80% ถูกซ้อมทรมานระหว่างการจับกุมและควบคุมตัว
"ด้วยเหตุนี้ผู้ถูกคุมขังบางรายจึงสูญเสียความไว้วางใจและหวาดกลัวผู้ที่เข้ามาใกล้ แม้กระทั่งคนที่นับถือศาสนาเดียวกัน จากการเข้าไปสัมภาษณ์ เขาจะตั้งคำถามว่าการให้ข้อมูลครั้งนี้เขาจะถูกทรมานอีกหรือไม่ และมีอยู่ 8 คนที่รู้สึกอยากฆ่าตัวตาย ถึงแม้เขาจะนับถือศาสนาอิสลามที่คำสอนระบุว่าห้ามฆ่าตัวตายก็ตาม แต่ในสภาวะที่เขาถูกทรมาน ทำให้เขาคิดเช่นนั้น" น.ส.ซุกกรียะห์ ระบุ
สำหรับวิธีการทรมานเท่าที่เก็บข้อมูลมานั้น ผู้ช่วยวิจัยกลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า มีหลายรูปแบบ เช่น การทำร้ายร่างกายโดยการใช้ด้ามปืนหรือไม้ทุบตี บางครั้งไม่พบร่องรอยบาดแผล เนื่องจากมีการใช้ผ้าพันของแข็งก่อนทำร้าย นอกจากนั้นยังมีเหยื่อบางส่วนถูกยึดทรัพย์สินขณะที่มีการเข้าตรวจค้น จนชาวบ้านรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำกับประชาชนเหมือนโจรหรือผู้ก่อการร้าย ส่งผลให้เกิดความไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนั้นยังมีผลกระทบในระดับชุมชน คือเมื่อชาวบ้านได้ยินเรื่องจากปากต่อปากว่ามีการทรมาน ก็เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทำร้ายประชาชน กระทั่งไม่ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในที่สุด
แนะใช้ "นิติวิทยาศาสตร์" ลดปัญหาซ้อมทรมาน
แพทย์หญิงปานใจ โวหารดี ผู้แทนจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ทางออกสำหรับปัญหานี้คือต้องนำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการเก็บรวบรวมหลักฐาน และสืบหาความจริงให้ปรากฏ ก็จะส่งผลให้การซ้อมทรมานลดลง
ขณะที่ น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ เจ้าหน้าที่รณรงค์กฎหมายป้องกันการทรมาน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้) กล่าวว่า การทรมานในประเทศไทยยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลในภาพรวมว่ามีการทรมานเกิดขึ้นแค่ไหน เพียงใด แต่มักมีการร้องเรียนทั่วไปทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้
โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งให้อำนาจทหารสามารถคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้เป็นเวลา 7 วัน และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้อีก 30 วัน พบว่าในช่วง 7 วันแรกที่มีการควบคุมตัว มักจะพบว่ามีการทรมานผู้ต้องสงสัย
ยกตัวอย่างกรณี อิหม่ามยะผา กาเซ็ง (อดีตอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งถูกจับกุมและซ้อมทรมานจนเสียชีวิตคาฐานทหารเมื่อปี 2551) เมื่อมีการฟ้องคดีอาญา สำนวนคดีถูกส่งไปยังศาลทหาร ทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถมีส่วนร่วมในคดีได้ ปัญหาเหล่านี้ทำให้ผู้เสียหายเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม
ดังนั้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงเสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทรมาน พ.ศ..... เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรมานขึ้น และ ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป
ศาลยะลาชี้ "อัสฮารี" ถูก จนท.ทำร้ายจนตาย
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มิ.ย.2555 ศาลจังหวัดยะลาได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพ นายอัสฮารี สะมะแอ ในคดีหมายเลขดำที่ ช.13/2552 สรุปว่า ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า นายอัสฮารี สะมะแอ ถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ และถูกทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส สมองช้ำ และต่อมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา
ทั้งนี้ มีประจักษ์พยานยืนยันว่าตนเองถูกทำร้ายร่างกายพร้อมนายอัสฮารีจนได้รับบาดเจ็บ คำเบิกความดังกล่าวสอดคล้องกับใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร (อ.หนองจิก จ.ปัตตานี) และสภาพบาดแผลตามร่างกายของนายอัสฮารี จึงเชื่อได้ว่านายอัสฮารีเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัวเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย
สำหรับขั้นตอนภายหลังจากศาลมีคำสั่งในสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ศาลจะส่งสำนวนไต่สวนดังกล่าวไปให้พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับคดีอาญาต่อไป
เปิดตำนาน 5 ปีแห่งการต่อสู้ของแม่อัสฮารี
อนึ่ง กรณีการเสียชีวิตของ นายอัสฮารี สะมะแอ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2550 เวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 (จ.ยะลา) กับหน่วยเฉพาะกิจยะลา 13 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ร่วมกันปิดล้อม ตรวจค้น และควบคุมตัวนายอัสฮารีกับพวก บริเวณสวนยางพารา หมู่ 5 บ้านจาเราะซีโป๊ะ ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก
ต่อมาเวลาประมาณ 19.00 น.วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายอัสฮารีไปส่งที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เนื่องจากนายอัสฮารีได้รับบาดเจ็บสาหัส และแพทย์ได้ส่งตัวไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลศูนย์ยะลาตามลำดับ โดยนายอัสฮารีได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2550 เวลาประมาณ 05.20 น.ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา โดยความเห็นแพทย์ระบุว่า เสียชีวิตเนื่องจากสมองบวม ตามร่างกายมีรอยฟกช้ำ
ต่อมา นางแบเดาะ สะมาแอ มารดาของนายอัสฮารี และผู้ถูกควบคุมตัวรายอื่นๆ พร้อมนายอัสฮารี ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายในระหว่างการควบคุมตัวทำให้ได้รับบาดเจ็บ และเจ้าหน้าที่ได้ทำร้ายร่างกายนายอัสฮารีจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต กระทั่งมีการทำสำนวนไต่สวนการตายโดยพนักงานอัยการ และศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2555 ดังที่กล่าวไปแล้ว
อีกด้านหนึ่ง นางแบเดาะ ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดต่อศาลแพ่ง แต่เนื่องจากคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองสงขลา ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลปกครองสงขลา และศาลมีคำสั่งให้สำนักนายกรัฐมนตรี (ต้นสังกัดของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.) ชดใช้ค่าเสียหายทางละเมิดแก่นางแบเดาะจำนวน 500,000 บาท โดยศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2555
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : หนังสือร้องเรียนที่ทำถึงหน่วยงานต่างๆ ของญาติพลทหารวิเชียร และภาพ นางแบเดาะ สะมาแอ ที่ไม่ยอมแพ้ ต่อสู้คดีให้ลูกชาย นายอัสฮารี สะมาแอ ที่ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตระหว่างถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุมตัว (ภาพต้นฉบับจากแฟ้มภาพอิศรา / รวมภาพและปรับแต่งโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา)