นักวิชาการ แนะจับตา “เต็ง เส่ง” แจ้งเกิด ปชต.ครึ่งใบในพม่า
นักวิชาการ ชี้กลุ่มชาติพันธุ์จะเป็นตัวชี้ขาดการเปลี่ยนแปลง เผย "เต็ง เส่ง" เดินหน้าเจรจาปรองดองแล้ว เก็บคะแนนนำ ซูจี ยันทั่วโลกจะได้เห็นประชาธิปไตยครึ่งใบในพม่าเหมือนในอินโด มาเลย์
เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนา “ถกหนัง The Lady: ผ่าวิถีการเมืองพม่าถึงอาเซียน” ณ ห้องฉายภาพยนตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มธ. โดยมี ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ร่วมเสวนา
ดร.ชาญวิทย์ กล่าวถึงการที่มีโอกาสเดินทางไปพม่าเมือเดือนเมษายน ที่ผ่านมา หลังไม่ได้เดินทางเข้าพม่ามาเป็นเวลาหลายปี โดยมีความคิดว่า พม่าต้องดูแย่มาก แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม พม่าตื่นขึ้นมาและดูดีมาก ไม่ได้แย่อย่างอดีตแล้ว พม่าปัจจุบันเต็มได้ด้วยความหวัง
แต่อย่างไรก็ตาม ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า ตนมองความหวังของพม่า ยังเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรค 5 ประการดังนี้ 1.แม้ว่าพล.อ.เต็งเส่ง ประธานาธิบดีพม่า จะถอดเครื่องแบบออกและปรากฏตัวต่อสาธารณะชนต่อโลก ซึ่งดูดี มีความหวังมากกว่าทหารไทยก็ตาม แต่ขณะเดียวกันพม่าก็ยังปัญหาใหญ่ คือ เรื่องนักโทษการเมืองที่ตกค้างอยู่จำนวนมาก คล้ายคลึงกับประเทศไทยที่เวลานี้ก็มีปัญหานักโทษการเมือง โดยเฉพาะมาตรา 112 เช่นกัน
2.ปัญหาเรื่องกลุ่มภาษาและชาติพันธุ์ เป็นปัญหาใหญ่มากๆ ไม่ว่าจะกะเหรี่ยง ไทยใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้วางใจไม่ได้อีกต่อไป เห็นได้จากประเทศไทยที่มีปัญหาชายแดนภาคใต้ ที่ความเป็นไทยถูกท้าทาย 3.ความขัดแย้งด้านศาสนา เช่นกรณีโรฮิงญาที่นับถือศาสนาอิสลาม 4.แรงงานพม่าพลัดถิ่น และ 5.ความหวังต่อนางอองซาน ซูจี ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็น "เซเลบ" ของโลกไปแล้ว
"เราต้องไม่ลืมไปว่านางอองซาน ซูจี ปัจจุบันมีอายุ 67 ปี ขณะที่การเลือกตั้งของพม่าครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี พ.ศ.2558 ซึ่งนางอองซาน ซูจีจะมีอายุ 70 ปี เข้าข่ายต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญพม่า อีกทั้งความต่างของคนหนุ่มสาวกับคนอายุ 70-80 ปีทำให้ เธอดูไม่ค่อยมีอนาคตเท่าใดนัก" ดร.ชาญวิทย์ กล่าว
ส่วนนายสุภลักษณ์ กล่าวถึงประวัติและบทบาทของนางซูจี ในการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า ว่า อาจเป็นเรื่องของการตกกระไดพลอยโจน เพราะดูจากประวัติซูจีไม่ได้มีแนวคิดทางการเมืองแจ่มชัดมาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยชาติกำเนิดที่เป็นลูกสาวนายพลอองซาน ประกอบกับช่วงที่กลับประเทศ เธอมาด้วยเหตุผลเพราะต้องการมาพยาบาลมารดาซึ่งป่วยหนัก จนกระทั่งได้เห็นสถานการณ์การเมืองในพม่าที่มีความรุนแรง การสังหารนิสิตนักศึกษา เธอจึงลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเรียกร้อง
ขณะที่การปฏิรูปพม่าในยุคปัจจุบันนั้น นายสุภลักษณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันท่าทีของรัฐบาลทหารพม่าได้ลดความเกรียวกราดลง มีความอดทนอดกลั้นในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มากขึ้น แต่ประเด็นสำคัญคือนางอองซาน ซูจีควรจะมีฐานะอะไรต่อจากนี้ จะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปหรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่า เนื้อหาในรัฐธรรมนูญของพม่าได้กำหนดเงื่อนไขเรื่องคุณสมบัติผู้เป็นประธานาธิบดีไว้หลายเรื่อง เช่น ห้ามสมรสกับชาวต่างชาติ อายุ ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อ "ปิด" โอกาสของซูจีอย่างสิ้นเชิง
“ถ้านางอองซาน ซูจีจะมีโอกาสเป็นประธานาธิบดี พม่าคงต้องไปแก้รัฐธรรมนูญกันบานเบอะ ไปแก้ทั้งเรื่องคุณสมบัติ สัดส่วนของทหาร และถ้าต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ รัฐบาลพลเรือนซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนของสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีอยู่ 43 เสียงคงทำไม่ได้ ดังนั้น โดยส่วนตัวจึงเห็นว่า บทบาทของนางอองซาน ซูจี ควรอยู่เป็น ‘แม่พระ’ ให้การปฏิรูปเดินต่อไป และใช้ช่องทางของการพูดในการสื่อสาร เพราะนางอองซาน ซูจี มีพลังในการพูดมาก (power of speech) ไม่ว่าจะปลุกเร้า เรียกร้อง หรือพูดอะไรคนก็ทำตาม”
ทั้งนี้ นายสุภลักษณ์ กล่าวถึงบทบาทของพรรคเอ็นแอลดีในช่วงต่อไปด้วยว่า ควรแยกตัวออกจากนางอองซาน ซูจีให้ได้ ไม่เช่นนั้นเมื่อนางอองซาน ซูจีเกิดป่วย หรือชราภาพลง พรรคเอ็นแอลดีก็จะขาดสภาพ เพราะที่ผ่านมาใช้นางอองซาน ซูจีเป็นสัญลักษณ์ตลอด
ด้านนายดุลยภาค กล่าวถึงสถานะของนางอองซาน ซูจีในสายตาทหารพม่าว่า เป็นไปในด้านลบ นางอองซาน ซูจีมีสามีเป็นชาวต่างชาติ ผู้ล่าอาณานิคม มีความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ทำตัวเหมือน "พระได้หวี" คือ อยากได้หวีที่เป็นประชาธิปไตยตามแนวคิดชาติตะวันตก ซึ่งอาจไม่เหมาะสมต่อการพัฒนาการเมืองของพม่า หรือทำให้พม่าล้มลุกคลุกคลานเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตย
ขณะที่บทบาทของนางอองซาน ซูจีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นความหวังของพม่าในการเจรจาปรองดอง สร้างสันติภาพนั้น นายดุลยภาค กล่าวว่า กำลังถูกท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อประธานาธิบดี เต็ง เส่ง เริ่มพยายามเจรจาปรองดอง สร้างเครือข่ายกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อนำพม่าไปสู่สันติภาพ ทั้งนี้ แม้ว่าการดำเนินการของนายเต็งเส่ง อาจเป็นเพราะกังวลต่อสถานะทางอำนาจของตนเอง แต่จุดนี้ก็ถือเป็นการเก็บคะแนน และท้าทายบทบาทของอองซาน ซูจีในเรื่องการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์พอสมควร
สุดท้าย ดร.นฤมล กล่าวถึงสถานการณ์พม่าในขณะนี้ว่า มีสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลพม่าและนางอองซานซูจี เห็นตรงกัน สามารถตกลงกันได้ในบางเรื่องซึ่งเป็นประโยชน์ของประเทศ เช่นเรื่องการเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่ค่อยสนใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนจำนวนมาก เพราะเห็นว่า ปิดประเทศมานาน ถ้าจะเปิดให้มีการลงทุนจะต้องเป็นการลงทุนที่ยั่งยืนมากกว่าเน้นปริมาณ หรือเม็ดเงินลงทุน
ส่วนการเปลี่ยนแปลงของพม่าในช่วงต่อไปนั้น ดร.นฤมล กล่าวว่า รัฐบาลพม่าน่าจะเป็นผู้นำหลักในเรื่องการเปลี่ยนแปลง และทั่วโลกน่าจะได้มีโอกาสเห็นประชาธิปไตยครึ่งใบในพม่า ที่มีหน้าตาเช่นเดียวกับในประเทศอินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลพม่าได้ดำเนินการหลายอย่าง เช่น เชิญนักวิชาการต่างประเทศเข้ามาให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจกับสภาหอการค้าของพม่า เดินหน้าเรื่องการเจรจาสันติภาพกลุ่มชาติพันธุ์ ส่งทีมเจรจา เตรียมการเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ที่น่าสนใจ ต่างจากซูจีที่ไม่ค่อยกล้าแตะในเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์มากนัก
“เรื่องกลุ่มชาติพันธุ์น่าจะเป็นตัวชี้ขาดในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของพม่า ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าอาจเป็นตัวละครหลักในการจัดความสำคัญระหว่างรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อย ส่วนพรรคเอ็นแอลดีน่าจะมีบทบาทในฐานะพรรคฝ่ายค้าน” ดร.นฤมล กล่าว และว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับพรรคเอ็นแอลดีคือ ผู้ที่ขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคแทนนางอองซาน ซูจี ในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้นางอองซาน ซูจี และสมาชิกเอ็นแอลดีก็อยากได้คนรุ่นที่ 2 เข้ามาเสริมทัพเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าความหวังของกลุ่มคนที่จะเข้ามามีบทบาทด้านประชาธิปไตยของพม่าอาจจะไม่ใช่กลุ่มเอ็นแอลดีเท่านั้น เนื่องจากยังมีกลุ่มที่น่าสนในอย่าง 88 Generation ที่น่าจับตามอง
ที่มาภาพ: http://scoop.mthai.com/wp-content/uploads/2009/05/2009327134331.jpg