รัฐบาลอัดฉีด 8 หมื่นล้านสลัดหนี้นอกระบบ
รัฐบาลปูพรมหาเสียง สั่ง ธ.ก.ส.ออมสินปล่อยกู้หมู่บ้านทั่วประเทศ 80,000 แห่ง หมู่บ้านละล้าน รวม 80,000 ล้านบาท ผ่านองค์กรการเงินชุมชน กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ให้หมอหนี้ประสานตรวจสอบ ให้กู้รายละหมื่น 2 หมื่น ดึงหลุดหนี้นอกระบบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานเปิดโครงการอาสาสมัครที่ปรึกษาการเงินครัวเรือน (หมอหนี้) และการต่อยอดโครงการกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งกระทรวงการคลังตั้งคอนเซปต์ใหม่ใช้ชื่อ "โครงการคลังในบ้าน" เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการระบบการเงินในภาคชนบทให้มีความเข้มแข็ง และสร้างโอกาสให้ คนจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยเป็นธรรม เพื่อทดแทนเงินกู้นอกระบบในระยะยาว โดยมีนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง พร้อมคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงการคลัง และผู้แทนอาสาสมัครหมอหนี้ให้การต้อนรับ โดยกระทรวงการคลังได้จัดให้นายกรัฐมนตรีเสวนาร่วมกับอาสาสมัครหมอหนี้ พร้อมถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ช่อง 11 ด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลนี้พยายามแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อลดภาระของผู้ที่เป็นหนี้ให้เข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งจ่ายอัตราดอกเบี้ยถูกกว่า ขณะเดียวกัน ก็ดูตามสถานการณ์ เช่น เวลาเกิดภัยพิบัติก็จะมีนโยบายผ่อนปรนหนี้ต่างๆให้ ส่วนโครงการหมอหนี้นั้น เมื่อได้ทำไประยะหนึ่งก็คงมีการประเมินโครงการเพื่อนำมาปรับปรุง ส่วนกรณีที่ชาวบ้านทวงถามมาว่า เงินช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบภัยน้ำท่วมครอบครัวละ 5,000 บาท จะถึงมือเมื่อไหร่นั้น คาดว่าภายในสิ้นปีนี้คงเรียบร้อย จากที่ผ่านมาเวลารัฐให้ความช่วยเหลือลักษณะนี้ จะใช้เวลานานมาก ส่วนเรื่องการแจกเมล็ดพันธุ์ ทางกระทรวงเกษตรฯขอเวลา 3 เดือน ตอนนี้ผ่านไป 2 เดือนแล้ว โดยวันที่ 28 ม.ค. เมล็ดพันธุ์ลอตสุดท้ายจะออกจากกระทรวงเกษตรฯ
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า ผลจากการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบรอบแรกปลายปี 2552 มีผู้มาลงทะเบียน 1 ล้านคน ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินรับโอนลูกหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบได้ 500,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 41,000 ล้านบาท ทำให้ลูกหนี้ลดภาระในการจ่ายดอกเบี้ยได้ถึง 10,000 ล้านบาท โดยไม่มีใครเป็นหนี้เสียแม้แต่รายเดียว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลใช้กลยุทธ์การต่อยอดด้วยการจัดทำบัตรลดหนี้ วินัยดี มีวงเงิน เพื่อดูแลลูกหนี้ที่มีวินัยทางการเงินที่ดี เมื่อเดือดร้อนก็สามารถกู้กลับคืนได้ครึ่งหนึ่งของเงินต้นและดอกเบี้ยที่ชำระคืนมาแล้ว เช่น จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยมาแล้ว 20,000 บาทก็กู้กลับคืนได้ 10,000 บาท
อย่างไรก็ตาม มีประชาชนอีกมากที่ยังกู้เงินจากสถาบันการเงินไม่ได้ จึงมอบหมายให้ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน ดำเนินโครงการหมอหนี้ขึ้นทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ หมู่บ้านละ 1 คน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้าน โดยอาจจะเลือกจากปราชญ์ชาวบ้านหรือบุคคลที่คนในหมู่บ้านให้การยอมรับ เพราะจะทำหน้าที่ติดตาม ประสานงานชาวบ้านกับธนาคาร รวมทั้งให้คำแนะนำการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ชาวบ้านใช้เงินถูกต้อง สร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ตกไปอยู่ ในวงจรหนี้นอกระบบอีก
"มีโจทย์สำคัญอีกประการหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบตั้งแต่แรก คือ ต้องมีธนาคารชุมชนหรือธนาคารในหมู่บ้าน กระทรวงการคลังจึงจัดโครงการคลังในบ้าน โดยให้ ธ.ก.ส.และออมสินให้สินเชื่อแบบโฮลเซล หรือปล่อยกู้โดยตรงให้กับองค์กรการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ธนาคารชุมชน เพื่อให้สถาบันเหล่านี้ไปปล่อยกู้ต่อแก่สมาชิก รายละ 10,000-20,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะชาวบ้านจะค้ำกันเองได้ ซึ่งหมอหนี้จะเข้ามาทำหน้าที่เชื่อมโยงจุดนี้ ด้วยการคัดกรองผู้ที่มีความซื่อสัตย์ ตั้งใจประกอบอาชีพ และต้องมีการจัดทำบัญชีครัวเรือน โดยตั้งเป้าปล่อยกู้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท หรือ 80,000 หมู่บ้าน มูลค่า 80,000 ล้านบาท".