การุณยฆาต ในวัฒนธรรมตะวันตก
ประเทศไทยไม่มีกฎหมายให้การุณยฆาตแบบในต่างประเทศ ปัจจุบัน มีมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ได้บัญญัติสิทธิของบุคคลในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต เรียกว่า Living Will คือ ให้มีการแสดงความจำนงไว้ล่วงหน้า
การุณยฆาต (euthanasia) ซึ่งเคยมีการถกเถียงกันในสังคมไทยมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ได้ถูกพูดถึงอีกครั้ง เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับหนุ่มไทย ซึ่งป่วยเป็นเนื้องอกในสมองนานกว่า 10 ปี ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยวิธีการุณยฆาต ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เที่ยงตรงของวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเขาทิ้งข้อความสุดท้ายผ่านในเฟชบุค "หลังจากจบโพสต์นี้ ผมจะรับยาและจากไปอย่างถาวร ผมจะคืนร่างกาย จิตวิญญาณ และพลังงานทุกอย่างกลับคืนสู่ห้วงอวกาศ "
ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีกฎหมายให้การุณยฆาตแบบในต่างประเทศ มีแต่ มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ได้บัญญัติสิทธิของบุคคลในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ซึ่งในต่างประเทศเรียกว่า Living Will คือ ให้มีการแสดงความจำนงไว้ล่วงหน้า
และเพื่อให้เข้าใจ การุณยฆาต ในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) คัดบางช่วงบางตอน ในบทความของ “ดวงพร เพชรคง” วิทยากรชํานาญการพิเศษ กลุ่มงานกฎหมาย 2 สํานักกฎหมาย ซึ่งเคยเขียนบทความใช้เพื่อการนําออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา รายการเจตนารมณ์กฎหมาย สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มานำเสนอ
การุณยฆาต หรือ Euthanasia เป็นภาษากรีกประกอบด้วยคําศัพท์ 2 คําคือ eu หมายถึง good และ thanatos หมายถึง death แปลรวมความว่า ตายดี ตายสงบ
แนวคิดตะวันตก สําหรับการุณยฆาต มีข้อพิจารณา 3 ประการคือ
1. เมื่ออยู่ในภาวะเจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัส
2. สิทธิส่วนบุคคลที่จะยุติชีวิตลง
3. บุคคลไม่ควรจะถูกบังคับให้ยืดชีวิตออกไปในสภาพที่ช่วยตนเองไม่ได้และไร้การรับรู้ทางสมอง
ถ้าหากพิจารณาทั้ง 3 เงื่อนไขในเชิงลึกแต่ละกรณีแล้วจะเห็นว่า กรณีที่บุคคลอยู่ในภาวะที่เจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัสโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาพที่มีชีวิตอยู่ด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อให้มีลมหายใจหรือไม่รับรู้ความเจ็บป่วยด้วยการใช้ยาระงับความเจ็บปวดทรมาน
ข้อโต้แย้ง ก็คือ เราจะใช้เทคโนโลยีเอาชนะความเจ็บปวดทรมานได้มากน้อยเพียงไร และนานเพียงใดภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้างเราจะแยกแยะระหว่างความเจ็บปวดทรมานที่บุคคลหนึ่งกําลังเผชิญอยู่และต้องการหลุดพ้นโดยที่ไม่กดดันทางอารมณ์หรืออยู่ในภาวะซึมเศร้าทุกครั้งที่ลืมตาตื่นขึ้นมาพบสภาพที่เจ็บปวดทรมาน และเลือกที่จะตายในแต่ละวัน กับความเห็นทางการแพทย์ที่วินิจฉัยว่าบุคคลนั้นๆยังมีโอกาสที่จะเยียวยาและมีชีวิตต่อไปได้อีกระยะหนึ่งได้อย่างไร
ความเห็นประการที่ 2 ที่ว่า บุคคลควรมีสิทธิที่จะยุติชีวิตในสภาวะที่พร้อมและสมัครใจต่อกรณีนี้ “สิทธิที่จะตาย” ต้องไม่ถูกหยิบยื่นให้กับผู้อื่น นอกจากผู้ที่เป็นเจ้าของชีวิตจะร้องขอเท่านั้น
เงื่อนไขนี้จะมีช่องว่างทันทีหากผู้ที่หยิบยื่นความตายให้บุคคลอื่นใช้ดุลยพินิจส่วนตัวตัดสินว่า บุคคลนั้นๆหมดหนทางที่จะเยียวยาได้จากสภาพทนทุกข์ทรมาน เพราะเป็นการล่อแหลมต่อการใช้ “การุณยฆาต” ฟุ่มเฟือยเกินไป
“การุณยฆาต” ในแนวคิดที่ 3 ที่ว่าผู้ป่วยไม่ควรจะถูกบังคับให้ยืดชีวิตออกไปในสภาพที่ช่วยตนเองไม่ได้และไร้การรับรู้ทางสมองการยืดชีวิตไว้ถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ป่วยหรือไม่เราจะมีทางเลือกอย่างไรบ้าง
สําหรับผู้ป่วยที่อยู่ในสภาวะ “ฟื้นไม่ได้ตายไม่ลง” จะถือว่าเป็นการยืดชีวิตโดยที่ผู้ป่วยไม่ปรารถนาจะทนกับภาวะทรมานนั้นอีกต่อไปหรือไม่ (ทั้งที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนและไร้การรับรู้) ทางออกที่มีอยู่ในปัจจุบันคือการให้สิทธิผู้ป่วยวาระสุดท้ายอยู่ในสภาพที่พร้อมตายอย่างมีศักดิ์ศรีสงบและมีสติโดยมีคนรักรอบข้างที่ยอมรับการจากไปอย่างมีสติและเห็นความตายเป็นธรรมชาติแนวคิดในซีกวัฒนธรรมตะวันตกเช่นนี้เป็นที่มาของการจัดหาสถานพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (hospiceหรือ in-home hospice ) ให้เตรียมตัวตายอย่างมีศักดิ์ศรีและตายอย่างมีสติปราศจากการยืดชีวิตไว้ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ
การุณยฆาตถูกนําไปปฏิบัติอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ อาทิ
รัฐบาลเบลเยี่ยม ประกาศออกกฎหมายเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2545 มีผลบังคับใช้วันที่ 23 กันยายน 2545 อนุญาตเฉพาะผู้ป่วยผู้ใหญ่ และให้มีผลบังคับใช้กับผู้ป่วยเด็กในอีก 2 ปีต่อมา แต่ยังมีข้อโต้แย้งว่าแพทย์จะมีสิทธิ์กระทําการุณยฆาตทารกที่มีอาการสมองตายได้หรือไม่ในปีพ.ศ. 2548 มีกฎหมายรองรับให้เภสัชกรและแพทย์สามารถจําหน่ายและใช้อุปกรณ์การทําการุณยฆาตได้
“การุณยฆาตสําเร็จรูป” ดังกล่าวซื้อขายกันในสนนราคาประมาณ 2,000 บาทประกอบด้วยยากล่อมประสาทเช่น Barbiturate และยาประเภทดมให้หมดสติเป็นต้น
ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ กฎหมายเปิดช่องให้พิจารณาได้ว่า แพทย์สามารถกระทําการุณยฆาตได้โดยไม่ผิดกฎหมายตราบใดที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าไม่มีมูลเหตุที่ “จงใจทําให้ผู้อื่นตาย“
ประเทศเนเธอร์แลนด์ ออกกฎหมายรองรับการุณยฆาตตั้งแต่ปี 2539 และพบว่า สถิติการตายประมาณ 9.1% ของการตายทั้งหมดต่อปีเกิดจากการุณยฆาต (2,300 รายสมัครใจตายและ 400 รายตายเพราะแพทย์ลงมือเองและ 1,040 รายถูกการุณยฆาตโดยผู้ป่วยไม่มีส่วนรับรู้หรือให้ความยินยอม)
นอกจากนี้ กฎหมายยังเปิดกว้างให้ผู้ป่วยอายุ 12-16 ปีมีสิทธิร้องขอการุณยฆาตได้โดยพ่อแม่หรือญาติให้คํายินยอม
ประเทศออสเตรเลีย เฉพาะ Northern Territory เท่านั้นที่มีกฎหมายรองรับให้แพทย์สามารถกระทําการุณยฆาตได้ ทั้งในกรณีที่ผู้ป่วยเองและญาติผู้ป่วยร้องขอ (passive euthanasia) หรือกรณีที่แพทย์มีส่วนช่วยเหลือในการเตรียมอุปกรณ์เพื่อปลิดชีพตามความต้องการของผู้ป่วยและกระทําด้วย “น้ํามือ” ของผู้ป่วยเอง (active euthanasia) แต่ภายหลังที่มีเหตุการณ์ผู้ป่วย 4 รายปลิดชีพตนเองด้วยอุปกรณ์ที่ติดตั้งโดยแพทย์ (passive euthanasia) รัฐบาลกลางจึงได้สั่งยกเลิกกฎหมายทันทีในปีพ.ศ. 2540
กรณีของประเทศออสเตรเลียการุณยฆาตกลายเป็นธุรกิจที่น่าสะพรึงกลัว นายแพทย์ Phillip Nitschke ผู้รณรงค์ให้การุณยฆาตกระทําได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายคิดวิธีการุณยฆาตเอาไว้ให้เป็นทางเลือก เช่น โปรแกรมสําเร็จรูป death-by–laptop ประกอบด้วยสายยางต่อกับเข็มฉีดยาที่บรรจุยาระงับความรู้สึก เช่น Barbiturate ที่ฉีดเข้าทางเส้นเลือดดําอุปกรณ์ดังกล่าวจะทํางานพร้อมกับโปรแกรมที่บรรจุในLaptop เมื่อผู้ป่วยตอบคําถามครบ 3 คําถามที่ปรากฏบนจอการทํางานของโปรแกรมจะเริ่มต้นทันที
คําถามที่สร้างไว้ในโปรแกรมคือ 1. ท่านต้องการเดินเครื่องฉีดสารพิษเพื่อตายกดปุ่ม “ใช่” 2. ท่านพร้อมที่จะตายกดปุ่ม “ใช่” 3. ท่านต้องการให้ฉีดสารพิษเข้าเส้นเลือดภายใน 15 วินาทีกดปุ่ม “ใช่”
ด้วยวิธีดังกล่าวนายแพทย์ Phillip สรุปว่า แพทย์ไม่ได้ลงมือฆ่าผู้ป่วยแต่เป็นการตายที่ผู้ป่วยตัดสินใจเองนายแพทย์ Phillip ไม่หยุดยั้งความคิดของเขาเพียงเท่านั้น เขาได้พัฒนาโปรแกรมการุณยฆาตที่ผู้ป่วยสั่งได้ผ่าน Internet เพื่อให้การุณยฆาตทําได้เร็วยิ่งขึ้นและไม่ต้องมีผู้เกี่ยวข้องมากสนนราคาอยู่ที่2,500 บาท นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่เหมาะสําหรับผู้ป่วยอายุมากๆ ไม่มีใครหยุดยั้งการคิดวิธีการุณยฆาตของนายแพทย์ Phillip ได้เครื่องมือตัวใหม่ถูกเผยแพร่ใน Internet มากขึ้น แม้แต่วิธีการสําหรับให้วัยรุ่นสามารถเข้าถึงโดยผ่าน Internet
ในปี 2547 นายแพทย์ Phillip คิดค้น “ยาเพื่อเป็นนิรันดร์“ ในราคา 5,000 บาทสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นพร้อมหยิบออกมาใช้เมื่ออยากตาย เป็นที่น่าสังเกตว่า ข่าวที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ บุคลากรทางการแพทย์ที่หยิบยื่น “การุณยฆาต” ให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย
ตัวอย่างกรณีของบุรุษพยาบาลวัย 27 ในสหรัฐอเมริกาทําสถิติ “การุณยฆาต” ผู้ป่วยรวม 29 รายเขาถูกศาลตัดสินประหารชีวิต แต่รออุทธรณ์ ซึ่งญาติผู้ตายไม่เห็นด้วยกับกระบวนการยุติธรรมตัวเขาเองคัดค้านการตัดสินของศาลและคิดว่าตนทําหน้าที่การเป็นบุรุษพยาบาลได้อย่างดีที่สุดแล้ว ขณะศาลอ่านคําพิพากษาเขาตะโกนด่าทอผู้พิพากษาตลอดเวลาจนเจ้าหน้าที่ต้องเอาแผ่นพลาสเตอร์ปิดปากเขาไว้
นายแพทย์ Jack Devorkian จากมิชิแกนทําการุณยฆาตรวม 40 รายเขาถูกถอนใบอนุญาตวิชาชีพและถูกตัดสินว่าไม่ได้ทําผิด
ในประเทศอังกฤษนายแพทย์ Harold Shipman สังหารผู้ป่วยวาระสุดท้ายรวมถึง 215 รายญาติผู้ป่วยร้องเรียนศาลให้พิจารณาคดีเอาผิดเขาให้ถึงที่สุดเพราะลงความเห็นว่าเขาฆ่าผู้ป่วยด้วยความเคยชินมากกว่าจะเป็น “การุณยฆาต”
ขอบคุณภาพจาก:http://www.thailivingwill.in.th/