"มาร์ค"ลงพื้นที่แจก 10 ล้านหนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนตะวันออก
นายกฯ แจก 10 ล้านหนุน 84 สวัสดิการชุมชนภาคตะวันออก ชูต้นแบบกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี ชาวบ้านทำเอง 10 ปีมีเงิน 700 ล้านจัดสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย รองปลัด มท.แก้ต่างคำวิจารณ์นักเศรษฐศาสตร์การเมือง นโยบายสังคมสวัสดิการทำได้ไม่เป็นภาระการคลัง
วันที่ 17 ธ.ค. ที่วัดโพธิ์ทอง ต.แสลง อ.เมือง จ.จันทบุรี เครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์ จ.จันทบุรี ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนแห่งชาติ จัดงาน “สมัชชาสวัสดิการชุมชนคนตะวันออก : ปฏิรูปสังคมจากฐานราก” โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมอบเงินสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนให้กับ 84 องค์กรชุมชน วงเงิน 10.83 ล้านบาท โดยมีผู้แทนหน่วยงานและประชาชนเข้าร่วมกว่า 3,000 คน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สวัสดิการชุมชนภาคตะวันออกใช้กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ที่พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง ทำให้ได้แหล่งเงินทุนจากการออมไปใช้ประกอบอาชีพและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชุมชน มีกองทุนที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นเครื่องมือพัฒนาจิตใจชาวบ้าน ส่วนเรื่องที่ยังติดขัดในแง่การประสานการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานรัฐในบางพื้นที่ เชื่อว่าหากเครือข่ายฯพยายามสร้างความเข้าใจให้หน่วยงานเห็นถึงประโยชน์แล้วทำให้คนในพื้นที่มีสวัสดิการอย่างทั่งถึง ทั้งยังเป็นการลดภาระของรัฐในการเป็นผู้จัดสวัสดิการพื้นฐาน ส่วนของรัฐบางเองก็พร้อมที่จะย้ำนโยบายดังกล่าวให้หน่วยงานอีกทางหนึ่ง
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเสนอของเครือข่ายจากงานสมัชชาเมื่อปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วหลายเรื่อง ได้แก่ การจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน ปี 2554 วงเงิน 800 ล้านบาท ส่วนที่จะให้มีแหล่งเงินต่อเนื่องในการสนับสนุนนั้น จะหาทางในการจัดสรรงบประมาณให้ได้ เพราะสวัสดิการชุมชนเป็นบทพิสูจน์ที่ทำให้กลุ่มคนในพื้นที่ตำบลมีสวัสดิการพื้นฐาน และเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะทำให้เกิดสังคมสวัสดิการซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าจะทำให้ได้ภายในปี 2560
“การช่วยเหลือเรื่องสวัสดิการที่รัฐบาลทำอยู่ ไม่ว่าจะการศึกษา สาธารณสุข การประกันราคาพืชผล ที่อยู่อาศัย หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือคนพิการ แต่นั่นยังไม่เพียงพอ แนวทางแบบนี้เป็นการนำงบประมาณมาทำซึ่งไม่ยั่งยืน การพิจารณาให้ก็ยากลำบากเพราะเกี่ยงข้องกับคนจำนวนมาก ความพยายามทำให้ระบบสวัสดิการของประชาชนมีความยั่งยืนแท้จริงคือทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วม” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายบุญศรี จันทร์ชัย ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชนคนกรุงเทพฯปริมณฑลและภาคตะวันออก กล่าวถึงภาพรวมความก้าวหน้าของดำเนินงานกองทุนสวัสดิการชุมชนของภาคว่า ขณะนี้มีกองทุนกว่า 500 ตำบล ได้รับอนุมัติงบประมาณสมทบแล้ว 193 กองทุน สมาชิกรวม 1.25 แสนราย งบสนับสนุนจากรัฐกว่า 32.16 ล้านบาท เกิดกองทุนใหม่อีก 73 กองทุน ทั้งนี้ ทั้งนี้ในส่วนของความคืบหน้าระดับประเทศ ปัจจุบันมีกองทุนที่จัดตั้งแล้ว 3,443 ตำบล สมาชิก 1.4 ล้านคน มีเงินสะสมของสมาชิกจำนวน 790.72 ล้านบาท รัฐบาลจ่ายเงินสมทบแล้ว 2,048 กองทุน เป็นเงิน 310.09 ล้านบาท
“แม้จะมีบางจังหวัดที่ยังขัดข้องในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับชุมชนอยู่บ้าง แต่ทุกภาคส่วนก็กำลังพยายามหาทางคลี่คลาย จัดปรับกระบวนการทำงานร่วมกันในปีต่อไปให้ดียิ่งขึ้นโดยมุ่งเน้นเป้าหมายเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนให้เป็นรากฐานที่สำคัญของสวัสดิการสังคม”
ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายด้านการจัดสวัสดิการสังคมนั้น นายสมพร ใช้บางยาง รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะคณะอนุกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า หลายคนพูดในเชิงเศรษฐศาสตร์หรือมุมของนักวิชาการที่คำนวณจากงบประมาณที่มีอยู่แล้วบอกว่าทำไม่ได้ แต่ยืนยันตรงนี้ว่าทำอย่างไรก็ไม่เจ๊งแน่นอน หากการบริหารทุนต่างๆ ที่ทำอยู่ทำด้วยใจ จะยั่งยืนหรือไม่ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ ซึ่งหากชุมชนให้ความสำคัญในการบริหารกองทุน นำเสียงทักท้วงเหล่านั้นมาเป็นข้อเตือนใจ เน้นคุณภาพเป็นหลักแล้วค่อยๆ ปูพรมขยายแนวคิดให้มากขึ้น เชื่อว่าความเข้มแข็งจากการสร้างสวัสดิการชุมชนจะสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนท้องถิ่นได้
“งบประมาณที่รัฐสนับสนุนไม่ใช่สาระสำคัญ ชุมชนต้องไม่ลืมฐานคิดหลักว่าสร้างขึ้นเพื่อดูแลตนเอง จะเข้มแข็งหรือไม่อยู่ที่วินัยและความเข้มแข็งของขบวน”
พระครูสังฆรักษ์มนัส ขนติธมโม ประธานผู้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จันทบุรี กล่าวถึงรูปธรรมการพัฒนากองทุนการเงินและสวัสดิการชุมชนที่ยั่งยืนว่า จากการทำงานกว่า 10 ปี ขณะนี้มียอดเงินออมกว่า700 ล้านบาท ซึ่งตัวเงินดังกล่าวสามารถจัดสวัสดิการชุมชนให้ได้อย่างครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งยังส่งเสริมอาชีพได้ โดยปัจจัยที่จำเป็นต่อการพัฒนากองทุนสวัสดิการขึ้นอยู่กับวินัยและกติกาที่ชุมชนเป็นผู้ตั้งและสมาชิกปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยในปีหน้าคาดว่าจะมีโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้จากร้อยละ 2 บาทให้เหลือ 1 บาท เพื่อให้ชาวบ้านได้มีเงินทุนหมุนเวียนและสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านเข้าถึงกองทุนมากขึ้น.