สร้างงาน สร้างคุณค่า เปลี่ยน “ผู้พิการ” เป็นพลังสังคม
ผู้พิการทั่วประเทศส่วนใหญ่อยู่ในชนบท มีฐานะยากจน และไม่มีอาชีพที่แน่นอน การทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือ ผู้พิการและครอบครัวต้องได้ประกอบอาชีพอิสระที่มั่นคง ยั่งยืน และเป็นอาชีพที่สามารถทำได้ตามความสามารถของตนเอง ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ รายได้ดี
“ตัวเราเองอย่าคิดว่าการที่ร่างกายพิการเป็นปมด้อย เพราะจริงๆแล้วเราเองก็ทำอะไรหลายๆอย่างได้เหมือนคนปกติ คิดถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตซึ่งแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ของผมคือการมีงานทำ มีรายได้ ช่วยครอบครัวได้แม้ตัวเองจะพิการ นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต”
หนึ่งในความรู้สึกของผู้พิการที่ได้เข้าร่วมการฝึกอาชีพ ที่ “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” จากมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ซึ่งเกิดจากแนวคิดของศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงษ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิฯ ที่มองเห็นว่า ทางออกหรือแนวทางที่สามารถช่วยเหลือผู้พิการทั่วประเทศที่ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท มีฐานะยากจน และไม่มีอาชีพที่แน่นอนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือ ผู้พิการและครอบครัวต้องได้ประกอบอาชีพอิสระที่มั่นคง ยั่งยืน และเป็นอาชีพที่สามารถทำได้ตามความสามารถของตนเอง ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ รายได้ดี
ที่สำคัญทำแล้วต้องสามารถขายได้จริง มีรายได้เพียงพอกับการดูแลตนเองและคนในครอบครัว
“การเกิดขึ้นของศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว บนพื้นที่มากถึง 33 ไร่ นอกจากใช้เป็นสถานที่ฝึกฝนอาชีพทางด้านการเกษตรแล้ว อีกส่วนหนึ่งคือการฝึกอาชีพด้านการบริการและงานโรงแรม ซึ่งจะช่วยพัฒนาสายอาชีพที่คนพิการสามารถทำได้ในท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับทุกคน tourism for all”
หากการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพแห่งนี้สำเร็จ อาจารย์วิริยะ เชื่อว่า จะสามารถฝึกอาชีพผู้พิการในสาขาอาชีพต่างๆได้มากกว่า 1 พันคนต่อปี ไม่รวมผู้ดูแล
นางสาวเจริญ เที่ยงตรง เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ป่วยด้วยโรคโปลิโอ เธอต้องนั่งรถเข็นมาตั้งแต่เด็ก เล่าว่า หลังจากได้สมัครเข้าร่วมโครงการการฝึกอาชีพ ชีวิตเปลี่ยนไปมากจากปกติที่ต้องอยู่บ้านไม่ได้มีอะไรทำ ช่วยงานที่บ้านได้แค่บางส่วน เมื่อผ่านการอบรม นอกจากที่จะได้ทั้งประสบการณ์ ความรู้ อาชีพติดตัว รายได้ที่สามารถแบ่งเบาภาระครอบครัวแล้ว ยังได้สังคม มีเพื่อนฝูง
“ตอนแรกที่จะตัดสินใจออกจากบ้านมาฝึกอาชีพ ไปอบรม ไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย กลัวถ้าไปแล้วสังคมข้างนอกเขาจะคิดว่าเราเป็นภาระ”
เธอเลือกเข้าอบรมการเลี้ยงจิ้งหรีด ก่อนจะเล่าต่อ โดยอธิบายถึงขั้นตอนการเลี้ยงจิ้งหรีดได้อย่างละเอียด เริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมพันธุ์จิ้งหรีด (ไข่จิ้งหรีด) และอุปกรณ์ ได้แก่ แผงไข่ ขวดน้ำพลาสติก ถาดน้ำ ถาดอาหาร จากนั้น นำไข่จิ้งหรีดใส่ไว้ในกระสอบรอเวลา 7-8 วันในระหว่างที่รอ ก็เตรียมกระบะเลี้ยงโดยภายในจะมีแผงไข่วางเรียงไว้ มีถาดน้ำและอาหาร ขวดน้ำ และเศษผ้าสำหรับให้จิ้งหรีดใช้เป็นทางไปกินน้ำ หลังจากที่ไข่จิ้งหรีดเปลี่ยนเป็นตัวอ่อน ก็ย้ายจิ้งหรีดลงกระบะ ใช้เวลา 45 วันสามารถเก็บจิ้งหรีดขายได้ ในระหว่างนั้นการให้อาหารจิ้งหรีดควรจะเป็นผักที่ปลอดสารพิษหรือฝักทองเพื่อให้จิ้งหรีดสมบูรณ์ได้ราคาดี และยังสามารถเก็บไข่ของจิ้งหรีดที่จะนำไปขายมาใช้ในการเลี้ยงรอบต่อไป หลังจากเก็บจิ้งหรีดขายแต่ละรอบต้องมีการทำความสะอาดกระบะที่ใช้เลี้ยงทุกครั้ง โดยรายได้ 1 กระบะ ได้ประมาณ 10 กิโลกรัม เฉลี่ยกิโลกรัมละ 80 บาทขึ้นไป ซึ่งในบางพื้นที่ที่นิยมการบริโภคจิ้งหรีดมีราคารับซื้อถึงกิโลกรัมละ 160 บาท
อีกหนึ่งในผู้อบรมโครงการฝึกอาชีพของมูลนิธิสากลเพื่อผู้พิการ นายประวิทย์ จีนสายใจ เล่าว่า ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ได้ช่วยกิจการในบ้าน ซึ่งไม่ได้มีรายได้อะไรมากมาย เพียงช่วยไปตามที่ตนเองสามารถทำได้ แต่หลังจากได้ทราบข่าวการเปิดรับอบรมฝึกอาชีพ สำหรับผู้พิการ จึงรีบสมัครทันที
เขาบอกว่า “โอกาสแบบนี้ไม่มีใครที่จะหยิบยื่นมาให้เราตลอด เพราะฉะนั้นถ้าโอกาสมา เราต้องรีบคว้าเอาไว้ ลองทำ ลองพยายามดูสักตั้ง
ประวิทย์ เลือกเข้าอบรมการปลูกผักไฮโดรโปนิค มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เพราะมีชุดสำเร็จรูปแล้ว ซึ่งหลักๆ ก็คือท่อน้ำพลาสติกที่เป็นรางไว้ใส่เมล็ดพันธุ์ แต่สิ่งที่ต้องใส่ใจคือการตั้งค่าน้ำและปุ๋ยให้ถูกต้อง ผักพื้นบ้านก็สามารถปลูกด้วยวิธีนี้ได้
ขณะที่ นายอภิชาติ ชิโนเรศ ผู้เข้าอบรมในโครงการฝึกอาชีพของมูลนิธิสากลเพื่อผู้พิการ ซึ่งมีความพิการทางด้านสมอง บอกถึงความรู้สึกของการตัดสินใจเข้าอบรมว่า ขั้นแรกตัวเราเองอย่าคิดว่า การที่ร่างกายพิการเป็นปมด้อย เพราะจริงๆแล้วเราเองก็ทำอะไรหลายๆอย่างได้เหมือนคนปกติ คิดถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตซึ่งแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน
“ของผมคือการมีงานทำ มีรายได้ ช่วยครอบครัวได้แม้ตัวเองจะพิการ นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต”
การปลูกเห็ดขาย อภิชาต อธิบายถึงขั้นตอนแรก จะต้องซื้อก้อนเห็ดมาก่อน ซึ่งราคาจะเฉลี่ยที่ 7-8 บาท สร้างโรงเพาะเห็ดซึ่งขนาดตามพื้นที่ที่มี แต่สิ่งสำคัญคือการเอาใจใส่ ควบคุมอุณหภูมิ และน้ำ ส่วนการรดน้ำต้องคอยตรวจสอบเสมอด้วยว่า ที่ก้อนเชื้อมีเชื้อราหรือไม่ เพราะหากมีแค่เพียงเล็กน้อยดอกเห็ดก็จะไม่ออก
โดยในหนึ่งรอบการเก็บเห็ดขาย ใช้เวลาในการเพาะประมาณ 1 เดือน ซึ่งสามารถขายได้กิโลกรัมละ 50 – 60 บาท
ทั้งนี้ข้อมูลกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย ว่า มี คนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 2,022,481 คน (ร้อยละ 3.05 ของประชากรทั้งประเทศ) แบ่งเป็น คนพิการ เพศชาย จำนวน 1,059,198 (ร้อยละ 52.37) และเพศหญิง จำนวน 963,283 คน (ร้อยละ 47.63) ซึ่งส่วนใหญ่ ประเภทความพิการ พบพิการทางการเคลื่อนไหวของร่างกายมากสุด รองลงมาทางการได้ยินหรือสื่อสารความหมาย และทางการเห็น ตามลำดับ
ปัจจุบันแม้ว่าจะมีผู้พิการที่ทำงานภายในศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ได้รับการว่าจ้างงานตามกระบวนการจ้างงานคนพิการฯ ตามมาตรา 33 , 34 และ 35 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ก็ตาม แต่การฝึกอาชีพ ก็ถือเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้ผู้พิการ มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง และเพียงพอที่จะเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้