รัฐบาลแถลง สรุปการเตรียมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เบื้องต้น
รองวิษณุ แถลงสรุปการเตรียมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระยะเบื้องต้น ประกอบด้วย 1.ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รอพระราชานุญาต 2.เตรียมพระบรมฉายาลักษณ์ที่จะใช้ในพระราชพิธีให้เหมือนกันทั่วประเทศ 3.เตรียมน้ำที่ใช้ในพระราชพิธีทั้งน้ำมูรธาภิเษกและน้ำอภิเษก 4.เตรียมเครื่องมือและแผ่นทองคำในการแกะและจารึกพระสุพรรณบัฏ 5.เตรียมจัดสร้างมณฑปและเกยที่ใช้ในพระราชพิธี 6.เตรียมจัดริ้วขบวนพยุหยาตราสถลมารค 7.ประชุมเตรียมการจัดพิธี ณ ที่ต่างๆ ในส่วนของการคัดเลือกบุคคลผู้เข้าเฝ้ารับเสด็จ
วันที่ 1 มีนาคม กรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จัดงานแถลงข่าว งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 1/2562 ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ กรุงเทพ นำโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการแถลงข่าว พร้อมด้วยพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร และพลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ง
นายวิษณุ กล่าวถึงงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น แบ่งกันเองออกได้เป็น 3 ช่วงเวลา เรียกกันว่า พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีเบื้องกลาง และพระราชพิธีเบื้องปลาย โดยพระราชพิธีเบื้องต้นนั้นจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2562 ได้เตรียมน้ำที่จะนำมาใช้ในพิธี ไม่ว่าจะเป็นน้ำสำหรับสรงมูรธาภิเษก และการอภิเษกแล้ว ซึ่งน้ำดังกล่าวนี้ต้องเป็นน้ำที่มาจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์
นายวิษณุ กล่าวถึงการจัดเตรียมน้ำศักดิ์สิทธิ์ว่า กระทรวงมหาดไทยทำการจัดเตรียมเรียบร้อย ได้นำน้ำที่ใช้ในการสรงมูรธาภิเษก จากแม่น้ำ 5 สายในประเทศไทย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำเพชรบุรี และจาก 4 สระ ในจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมทั้งนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแหล่ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ 107 จุด และน้ำจากหอศาสตราคม รวมทั้งสิ้น 108 จุด ทำพิธีเสกน้ำอภิเษก ซึ่งน้ำที่ใช้ในการสรงมูรธาภิเษก และน้ำที่ใช้ในการอภิเษก จะใช้ในวันที่ 6 เมษายน 62 ซึ่งเป็นวันเริ่มแรกของพระราชพิธี
โดยในวันที่ 8-9 เมษายน จะเป็นการทำพิธีเสกน้ำเหล่านี้ โดยเชิญไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละจังหวัด ทั้งวัดวาอาราม เจดีย์ ต่างๆ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเชิญกลับเข้ามายังกรุงเทพมหานคร เพื่อเก็บรักษาเอาไว้อย่างดี ณ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมการที่จะเชิญไปเข้าพิธีต่อไป น้ำจะบรรจุในคนโทที่ทำขึ้นพิเศษเหมือนกันหมดจากทุกจังหวัด โดยพระทับตราสัญลักษณ์พระราชพิธีในครั้งนี้
“ขณะนี้การจัดทำคนโท ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ขาดอยู่ก็คือการประทับตราสัญลักษณ์พระราชพิธี รัฐบาลได้กำหนดโดยเชิญชวนประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายไปแล้วหลายแบบ บัดนี้ได้มีพระราชวินิจฉัยทรงเลือกแบบหนึ่ง แต่ได้ทรงปรับปรุงแบบนั้นบ้าง และคงจะพระราชทานกลับลงมาให้รัฐบาลทราบในอีกไม่กี่วันนี้” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า รตราพระราชสัญลักษณ์ประจำงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นตราสำคัญ เพราะจะใช้ประทับลงบนคนโทที่บรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ น้ำอภิเษกทั้งหลาย จะมอบให้กรุงเทพมหานครใช้เป็นแบบที่จะสร้าง อาทิ ศาลา ซุ้ม และอื่นๆ ที่ใช้ในพระราชพิธี รวมทั้งจะนำไปใช้ประทับลงบนธงที่ใช้ในงานพระราชพิธี
นอกจากนั้นตราสัญลักษณ์นี้ จะนำไปทำเป็นเข็มที่ระลึก ซึ่งมี 2 อย่าง คือ เข็มที่ระลึกพระราชทานให้แก่ผู้ปฏิบัติงานใช้ประดับปกเสื้อ เป็นเข็มพระราชทาน กับอีกอย่างหนึ่งคือเข็มตราสัญลักษณ์พระราชพิธี ที่รัฐบาลขอพระราชทานมาจัดทำเพื่อจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป ที่ไม่ได้รับพระราชทาน ให้มีโอกาสซื้อเข็มได้ด้วย
นอกจากการเตรียมเรื่องน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้ว นายวิษณุ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องสำคัญที่จะต้องเตรียม โดยจะเกิดขึ้นในวันที่ 22-23 เมษายน คือพิธีการจารึกพระสุพรรณบัฏ แกะดวงพระบรมราชสมภพ และการแกะพระราชลัญจกร คำว่าจารึกพระสุพรรณบัฏ เป็นการใช้ปากกาเหล็กแหลมจารึกพระปรมาภิไธยลงบนแผ่นทองคำบางๆ ใช้สำหรับจารึกชื่อของพระเจ้าแผ่นดินที่ตั้งใหม่ ขณะจารึกพระสุพรรณบัฏแล้ว จะต้องแกะดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งพิธีในครั้งนี้จะทำในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีผู้แทนพระองค์เสด็จมาเป็นประธานในพิธีจนจบ
พระราชพิธีเบื้องกลาง
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ต่อไปคือการเตรียมพระราชพิธีเบื้องกลาง มีในวันที่ 4-6 พฤษภาคม 62 ซึ่งวันที่สำคัญคือวันที่ 4 พฤษภาคม โดยตอนเช้าจะมีพิธีสรงมูรธาภิเษก ณ ชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่ง อัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ และทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ
เวลา 14.00 น. จะเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพร ชัยมงคล ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย และเวลา 16.00 น. จะเสด็จฯ ขบวนราบใหญ่ ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปราสาทพระเทพบิดร และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สำคัญที่สุดคือ ในวันที่ 5 พฤษภาคม จะมีการเสด็จพระราชดำเนินพยุหยารตราสถลมารค เป็นขบวนใหญ่ระยะทางในการเคลื่อนขบวนประมาณ 7 กิโลเมตร ต้นขบวนจากพระบรมมหาราชวัง เคลื่อนไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และกลับมายังพระบรมมาหาราชวัง รวมระยะเวลาเคลื่อนขบวนและระยะเวลาประทับในวัดต่างๆ ทั้งสิ้น ประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาที
ทั้งนี้คณะกรรมการทุกฝ่ายได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์สมพระเกียรติที่สุด
พระราชพิธีเบื้องปลาย
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงพระราชพิธีเบื้องปลายว่า ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่จะมีในช่วงปลายเดือนตุลาคม 62 ขบวนเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ต่างๆ ออกจากท่าวาสุกรี ไปยังวัดอรุณราชวรารามเพื่อถวายผ้าพระกฐิน 52 ลำ และเสด็จฯกลับ เพื่อมาขึ้นที่ท่าราชวรดิษฐ์ ทั้งหมดจะเป็นระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตรครึ่ง มีพลพาย 2,200 คน เป็นขบวนพยุหยาตราที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ที่ปวงชนชาวไทยจะมีโอกาสได้เห็นกัน และเมื่อถึงจุดหนึ่งจะสามารถซักซ้อมและปฏิบัติได้ ทุกอย่างสวยงามแน่นอน
“สรุปการเตรียมงานระยะเบื้องต้น ประกอบด้วย 1.ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รอพระราชานุญาต 2.เตรียมพระบรมฉายาลักษณ์ที่จะใช้ในพระราชพิธีให้เหมือนกันทั่วประเทศ 3.เตรียมน้ำที่ใช้ในพระราชพิธีทั้งน้ำมูรธาภิเษกและน้ำอภิเษก 4.เตรียมเครื่องมือและแผ่นทองคำในการแกะและจารึกพระสุพรรณบัฏ 5.เตรียมจัดสร้างมณฑปและเกยที่ใช้ในพระราชพิธี 6.เตรียมจัดริ้วขบวนพยุหยาตราสถลมารค 7.ประชุมเตรียมการจัดพิธี ณ ที่ต่างๆ ในส่วนของการคัดเลือกบุคคลผู้เข้าเฝ้ารับเสด็จ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ขณะที่ พลตำรวจเอก อัศวิน กล่าวว่า ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้รับผิดชอบงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้แก่ การอัญเชิญน้ำอภิเษก การจัดการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในการเสด็จเลียบพระนคร การปรับภูมิทัศน์ เพื่อเตรียมการเฝ้ารับเสด็จฯ และภารกิจอื่นๆ ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 5 ด้าน เพื่อมอบหมายและประสานความร่วมมือจากหน่วยงานตลอดจนภาคส่วนต่างๆ ร่วมดำเนินการ ได้แก่ ด้านกายภาพ ด้านปรับปรุงภูมิทัศน์ อาคาร สถานที่ และถนน ด้านการบริการ ดูแลอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในการเสด็จเลียบพระนคร และด้านการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งการจัดการจราจร
พลตำรวจเอก อัศวิน กล่าวในส่วนของการปรับภูมิทัศน์ เพื่อเตรียมการเฝ้ารับเสด็จฯ กรุงเทพมหานคร ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมผิวจราจร ทางเท้า คันหิน คอกต้นไม้ ไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบการระบายน้ำ ฝาท่อระบายน้ำ ป้ายต่างๆ ศาลาที่พักผู้โดยสาร และทาสีตีเส้นเครื่องหมายจราจรในพื้นที่จัดงานพระราชพิธีฯ ให้เรียบร้อยสวยงาม จำนวน 20 เส้นทาง ขณะนี้มีความก้าวหน้าแล้ว 75% อีกทั้งการจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร รวมถึงตู้อุปกรณ์ต่างๆ ในพื้นที่งานพระราชพิธีฯ ก้าวหน้าประมาณ 50% กำหนดแล้วเสร็จ 15 มีนาคมนี้
ส่วนการปรับปรุงซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ บริเวณถนนพระราชดำเนินนอก ถนนราชดำเนินกลาง และมุมพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน รวมทั้งสิ้น 32 ซุ้ม และซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวนกว่า 106 ซุ้ม พร้อมธงประดับเสา 4,000 ชุด ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม อีกทั้งการประดับตกแต่งเมือง ขณะนี้ได้ดำเนินการออกแบบและจัดทำรายละเอียดการประดับไว้เรียบร้อยแล้ว จะเริ่มดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนเมษายน และจะดูแลให้คงสภาพไว้ถึงประมาณวันที่ 10 พฤษภาคม นี้ พร้อมทั้ง การซ่อมแซมและทาสีโบราณสถานที่อยู่ในเส้นทางการจัดพระราชพิธีฯ รวม 12 แห่ง ประกอบไปด้วย โบราณสถานประเภทกำแพงและประตูเมืองบริเวณหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร 1 แห่ง โบราณสถานประเภทสะพาน 7 แห่ง โบราณสถานประเภทอนุสาวรีย์ 3 แห่ง รวมถึงโครงการแต้มสีกรุงเทพฯ เป็นการปรับปรุงและพัฒนาเมืองจากภาคเอกชน สนับสนุนให้ทาสีอาคารในถนนเก่าแก่เป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ คือ ถนนตะนาว ถนนสิบสามห้าง ถนนพระสุเมรุ ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร และถนนเจริญกรุง ได้กำหนดการแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 62
“ขอเชิญชวนประชาชนช่วยกันตกแต่งอาคารบ้านเรือนที่อยู่ตามเส้นทางเสด็จ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่อยู่อาศัย บริษัท ห้างร้าน อาคารต่างๆ และเชิญชวนให้ร่วมกันเฝ้ารับเสด็จฯ ในเส้นทางเสด็จเลียบพระนคร โดยกรุงเทพมหานครจะตั้งโต๊ะหมู่บูชาในเส้นทาง 25 จุด มีความประสงค์อยากจะให้เป็นรูปแบบเดียวกัน เพื่อความสวยงาม และถวายให้สมพระเกียรติ”พลตำรวจเอก อิศวิน กล่าว
ด้านพลตำรวจตรี จิรสันต์ กล่าวถึงการปิดการจราจรและกำหนดพื้นที่รักษาความปลอดภัย 3 พื้นที่ ทั้งชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอกนั้น ได้กำหนดโซนตรวจสอบรายละเอียดประชาชนที่จะเข้ามาชื่นชมพระบารมี โดยกำหนดจุดคัดกรอง 6 จุด ส่วนการจราจร ในวันที่ 2-6 พฤษภาคม 62 จะปิดการจราจรชั้นใน 8 เส้นทาง และเดินรถทางเดียว 5 เส้นทาง และในวันที่ 5 พฤษภาคม62 จะปิดการจราจร 27 เส้นทาง ในวันที่ 6 พฤษภาคม 62 จะปิดการจราจร 17 เส้นทาง โดยให้ประชาชนจอดรถที่เตรียมไว้ 4 มุมเมือง รวม 27 แห่ง และมีรถ ขสมก. บริการรับ-ส่ง มาส่งรอบบริเวณงาน 5 จุด
นอกจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดรถไฟวิ่งส่งที่สถานีหัวลำโพง และสถานีธนบุรี ทางเรือจัดเรือรองรับบริการรับ-ส่ง ที่ท่าเรือบางลำพูและท่าเรือปากคลองตลาด