ป.ป.ช.ถก ACT พัฒนาการทำงานต้านโกง ชู 6 ประเด็นแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น
ป.ป.ช. ประชุมหารือร่วม ACT พัฒนาการทำงานต้านทุจริต ชู 6 ประเด็นสำคัญ ต้องเสริมพลังทุกภาคส่วนต่อสู้ สนับสนุนภาคเอกชนในการรณรงค์ ต้องสนับสนุนข้อมูลข่าวสารให้สังคมทราบ ภายใต้กฎหมายใหม่ต้องทำงานรวดเร็ว-เป็นธรรม-มีประสิทธิภาพ สร้างความศรัทธาเชื่อถือแก่ประชาชน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้บริหารองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เข้าร่วมหารือข้อราชการกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับแนวทางในการร่วมมือทำงานต่อต้านการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนนนทบุรี อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ในประเด็นที่สำคัญดังนี้
1. การเสริมพลังทุกภาคส่วนในการต่อสู้กับปัญหาการทุจริต ผ่านกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และสนับสนุนภาคเอกชนในการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์/รณรงค์ในการป้องกันการทุจริต รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือและค่าทดแทน ผู้กล่าวหา ฯลฯ และค่าใช้จ่ายอื่นที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
2. การสนับสนุนข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นอย่างเพียงพอเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เช่น สถิติคดี รูปแบบและกลวิธีการทุจริตรูปแบบต่างๆ ข้อมูลของผลกระทบหรือความเสียหาย การชี้มูลความผิด และโทษที่ผู้กระทำผิดต้องได้รับ รวมทั้งความรู้ที่จำเป็นต่าง ๆ ต่อการป้องกันการทุจริต
3. ภายใต้กฎหมายใหม่ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงบริบทการทำงานของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. มีความรวดเร็ว เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และมีความเป็นมืออาชีพ โดยเฉพาะการพิจารณาคดีต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อกฎหมายและพยานหลักฐานเป็นสำคัญ อันเป็นการสร้างศรัทธา และความน่าเชื่อถือต่อประชาชน
4. การขับเคลื่อนงานปราบปรามการทุจริตคู่ขนานไปกับงานป้องกันการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริตผ่านหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา การออกมาตรการป้องกันการทุจริต เช่น ค่าแป๊ะเจี๊ยะ การติดตั้งป้ายโฆษณาในที่สาธารณะ เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ฯลฯ หากงานป้องกันการทุจริตได้ผลดีจะส่งผลให้งานปราบปรามการทุจริตลดลงและมีการทำงานเชิงคุณภาพมากขึ้น
5. ภาคเอกชนมีความตื่นตัวและความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ ได้แก่ กระบวนการสัญญาคุณธรรม (Integrity Pact) กรณีการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าสูง
6. ควรมีการเปิดเผยข้อมูลและการสื่อสารผลงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ให้สาธารณชนได้รับทราบ ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม และพฤติกรรมไม่ยอมรับและต่อต้านการทุจริต เพื่อให้มีคนดีและเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสมากขึ้น