สนช.ผ่าน "พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์" ให้อำนาจค้นสถานที่ หากพบภัยคุกคาม
สนช. มติเห็นด้วย 133 เสียง ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้อำนาจค้นอสังหาริมทรัพย์ -สถานประกอบการ หากมีภัยคุกคาม กระทบความสงบเรียบร้อย ปชช. ด้านปธ.กมธ. เชื่อกม. ช่วยผลักดันไทยก้าวทันโลก
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 28 ก.พ. 2562 ณ อาคารรัฐสภา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธาน มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
โดยที่ประชุมฯ ภายหลังมีการลงมติรายมาตราในวาระ 2 เรียบร้อย โดยเฉพาะมาตรา 61 มาตรา 65 เเละมาตรา 67 เกี่ยวกับการเข้าตรวจสอบเข้าถึงข้อมูลบุคคล จากนั้น ได้มีการลงมติในวาระ 3 เห็นด้วยผ่านร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... 133 เสียง งดออกเสียง 16 เสียง จากผู้เข้าประชุม 149 คน
นางเสาวณี สุวรรณชีพ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... กล่าวขอบคุณสมาชิก สนช. ในที่ประชุมฯ ภายหลังการลงมติผ่านวาระ 3 เสร็จสิ้น ซึ่งเป็น พ.ร.บ.เกี่ยวข้องกับดิจิทัลที่มาจากนโยบายสำคัญของรัฐบาล
การที่เราจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามนโยบายการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลของรัฐบาลจะไปได้มากน้อยแค่ไหน ร่าง พ.ร.บ. สองฉบับนี้ (ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ...-ร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ...) เป็นส่วนสำคัญมาก ที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปได้ทันกับประเทศเพื่อนบ้านและโลก
ทั้งนี้ มีอีกหนึ่งฉบับ (ร่าง พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. ...) ที่จะตามมาช่วยให้นโยบายของรัฐสัมฤทธิ์ผลในการก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0
“แม้จะมีเวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับค่อนข้างสั้น แต่ทุกท่านช่วยกันทุ่มเททั้งความรู้ทีมีอยู่ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เวลา จนกระทั่งนำร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่สภาได้สำเร็จ” ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ระบุ .
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นางเสาวณี แถลงข่าวภายหลังจากที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบประกาศใช้ร่างกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นกฎหมาย ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อช่วยควบคุมภัยคุกคามทางไซเบอร์ทุกรูปแบบที่จะเข้ามาภายในราชอาณาจักรไทยและป้องกันความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคงของประเทศ พร้อมทั้งยืนยันว่า ไม่ได้มีการจำกัดสิทธิของประชาชน หรือสื่อมวลชนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการทางไซเบอร์ แต่จะเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้เป็นเจ้าของข้อมูล และความปลอดภัยของประเทศ
สำหรับเหตุผลในการตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากปัจจุบันการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต โครงข่ายคมนาคม หรือการให้บริการโดยปกติของดาวเทียม มีความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์อันอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ดังนั้น กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน รับมือ และลดภัยคุกคามทางไซเบอร์อันอาจจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เพื่อให้สามารถป้องกัน หรือรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที จึงจำเป็นต้องกำหนดลักษณะของภารกิจหรือบริการที่มีความสำคัญเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ทั้งหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชน ที่จะต้องมีการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงในด้านต่างๆ รวมทั้งให้มีหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบในการดำเนินการ ประสานการปฏิบัติ ตลอดจนกำหนดให้มีแผนปฏิบัติการและมาตรการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างมีเอกภาพและต่อเนื่อง เพื่อให้การป้องกันและการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:ผู้เชี่ยวชาญฯ ชำแหละร่างกม.ไซเบอร์ ช่องโหว่กระทบสิทธิ -เสนอร่างคู่ขนาน
ภาพประกอบ:https://news.mthai.com/politics-news/644540.html
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/