กาง กม.-ดูคำวินิจฉัย ศาล รธน.ปี’43 นิยามตำแหน่ง จนท.รัฐ-หัวหน้า คสช.เข้าข่ายไหม?
“…‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ มีลักษณะดังต่อไปนี้ 1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐ 4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย…”
“คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เป็นแค่องค์กรชั่วคราวที่ถูกตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ”
เป็นคำยืนยันจากปาก ‘เนติบริกร’ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่ตอบคำถามนักข่าวกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณาคุณสมบัติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ว่า เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 160 ประกอบมาตรา 98 (15) ที่ระบุว่า บุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. คือเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
ประเด็นนี้กำลังมีการถกเถียงกันอย่างร้อนแรงว่า สรุปแล้ว ‘บิ๊กตู่’ ในฐานะที่สวมหมวกหัวหน้า คสช. คือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ ?
แต่รู้กันหรือไม่ว่า เมื่อปี 2543 หรือ 19 ปีก่อน ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้วว่า นิยามของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอะไรบ้าง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นมานำเสนอ ดังนี้
เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คสช. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มตาม พ.ร.ก.เงินเดือนประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตำแหน่ง พ.ศ. 2557 โดยหัวหน้า คสช. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 75,590 บาท/เดือน และเงินเพิ่ม 50,000 บาท/เดือน เท่ากับตกเดือนละ 125,590 บาท/เดือน (อ่าน พ.ร.ก.เงินเดือนประจำตำแหน่งฯ ประกอบ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/075/13.PDF)
ขณะที่เมื่อปี 2557 ภายหลัง คสช. รัฐประหารใหม่ ๆ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า คสช. ไม่ได้เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ และตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ขณะนั้น) เนื่องจากเป็นองค์กรชั่วคราวที่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 จึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
เมื่อพลิก พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับล่าสุดปี 2561 มาตรา 4 กำหนดนิยามความหมายเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า “เจ้าพนักงานของรัฐ” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ส่วน “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐหรือในรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ หรือเจ้าพนักงานอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และบุคคล หรือคณะบุคคล บรรดาซึ่งกฎหมายกำหนดให้ใช้อำนาจ หรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครอง ที่จัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐด้วย แต่ไม่รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. (อ่าน พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2561 ประกอบ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/052/1.PDF)
ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 160 ประกอบมาตรา 98 (15) ระบุว่า บุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. คือเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ (อ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกอบ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF)
ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 โดยที่มาของกรณีนี้เกิดขึ้นจากที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณี กกต. วินิจฉัยลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. ว่า เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 109 (11) ที่ระบุว่า บุคคลที่เป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครับเลือกตั้ง
โดยเมื่อปี 2543 กกต. (ขณะนั้น) เห็นว่า เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามมาตรา 109 (11) ต้องมีลักษณะว่า ตำแหน่งนั้น ๆ มีที่มาจากกฎหมาย กฎ ระเบียบ ของทางราชการระบุไว้ การดำรงตำแหน่งเกิดจากการแต่งตั้ง โดยอาศัยกฎหมาย กฎ ระเบียบ ของทางราชการ อำนาจหน้าที่ของตำแหน่งนั้น ถูกกำหนดโดยกฎหมาย กฎ ระเบียบ ของทางราชการ ซึ่งกระทำตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าว มีผลกระทบต่อบุคคลอื่น หรือก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้ และบุคคลที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว อาจได้รับค่าตอบแทนเป็นบางส่วนหรือทั้งหมดจากรัฐ
ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญ (ขณะนั้น) วินิจฉัยคำว่า ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 109 (11) เห็นว่า เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ในมาตรา 109 (11) เป็นการตีความบทบัญญัติจำกัดสิทธิบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และ ส.ว. เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล จึงต้องตีความอย่างแคบ การตีความถ้อยคำในลักษณะเช่นนี้ควรถือว่าคำทั่วไปมีความหมายในแนวทางเดียวกันกับคำเฉพาะที่มาก่อน
หมายความว่า ในกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายมีถ้อยคำเฉพาะตั้งแต่ 2 ถ้อยคำขึ้นไป และมีถ้อยคำที่เป็นคำทั่วไปตามหลักคำเฉพาะ คำทั่วไปนั้นต้องมีความหมายแคบกว่าความหมายธรรมดาของคำนั้น โดยจะต้องมีความหมายเฉพาะในเรื่องและประเภทเดียวกับคำเฉพาะที่มาก่อนหน้าคำทั่วไป
คำว่า ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ เป็นคำทั่วไป จึงต้องตีความโดยให้มีความหมายคล้ายคลึงกันหรือในแนวทางเดียวกับคำว่า ‘พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น’ ดังนั้นคำว่า ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ มีลักษณะดังต่อไปนี้
1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย
2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ
3.อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐ
4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย
(อ้างอิงคำวินิจฉัยจากเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ : http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/file_import/center-law5_43.pdf)
นี่คือข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายเกี่ยวกับกรณี ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ ว่ามีอะไร และนิยามคืออะไร อย่างไรก็ดีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2543 หรือ 19 ปีที่แล้ว ซึ่งบทบัญญัติทางกฎหมายขณะนั้น และขณะนี้แตกต่างกัน
ส่วนหัวหน้า คสช. จะเข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่ถูกร้องเรียนหรือไม่ คงต้องรอ กกต. ให้คำตอบ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก bbc thai