สสส. ร่วมพัฒนาหลักสูตร “ครูราชภัฏพันธุ์ใหม่ ใส่ใจทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัย”
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้
เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2562 ที่ ห้องประชุมศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ชั้น 3 อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มีพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาหลักสูตรครูการศึกษาปฐมวัย (4 ปี) และฝึกอบรมอาจารย์ เสริมศักยภาพอาจารย์และนักศึกษาครู ระหว่างสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่งกรุ๊ป) และภาคีวิชาการ Thailand EF Partnership เพื่อมุ่งยกระดับการเรียนการสอนสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยและภาควิชาอื่นๆ ของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ เกี่ยวกับทักษะสมองส่วนหน้า Executive Functions (EF) ในเด็กและเยาวชน โดยมีศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศร่วมเป็นสักขีพยาน
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวถึงที่มาของความร่วมมือครั้งนี้ว่า โลกในศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เรียกกันว่า “พลิกผวน หรือ Disruptive World” ฉะนั้นเป้าหมายและกระบวนการในการสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะสามารถดำรงชีวิตให้อยู่รอด มีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ ทั้งร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคมและสติปัญญา รวมทั้งมีความสามารถสร้างสรรค์ เพื่อเป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ อันจะเป็นรากฐานของการสร้างสังคมสุขภาวะของประเทศไทย จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนให้จัดทำโครงการ “การพัฒนาองค์ความรู้และส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะสมองเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนในประเทศไทย” แก่สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) และภาคี Thailand EF Partnership ให้ร่วมกันจัดการความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า ซึ่งนักวิชาการจากทั่วโลกในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์ ทั้งจากประสาทวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา และการศึกษา ค้นพบและยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า ทักษะสมองที่เรียกว่า Executive Functions (EF) นี้ เป็นทักษะที่สำคัญยิ่ง เป็นศักยภาพที่มนุษย์ทุกคนมีมาแต่กำเนิด แต่จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ของเด็กและเยาวชนในประเทศไทย โดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) การคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การสื่อสาร (Communication) การทำงานรวมหมู่ (Collaboration) การมีบุคลิกภาพที่เข้มแข็ง แต่ยืดหยุ่นปรับตัว การยอมรับความแตกต่าง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขในสังคม รวมถึงการมีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ สอดคล้องกับเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปีของ สสส. ในด้านการเพิ่มสัดส่วนของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีความสุขในการดำรงชีวิต เพิ่มสัดส่วนของครอบครัวอบอุ่น ชุมชนและท้องถิ่นเข้มแข็ง
ในปี 2562 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศซึ่งเป็นสถาบันหลักในการผลิตครูกำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงหลักสูตรผลิตครู สสส. สถาบันอาร์แอลจี และภาคีวิชาการ Thailand EF Partnership เห็นถึงโอกาสสำคัญนี้ ว่าจะก่อเกิดคุณูปการแก่การศึกษาของชาติเป็นอย่างยิ่ง หากมีการพัฒนาความร่วมมือกันในด้านการศึกษากับสภาคณบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติการทำงานของสมองกับการเรียนรู้ และการพัฒนาสมองส่วนหน้า (Executive Functions (EF) พัฒนาเป็นหลักสูตรเพื่อให้อาจารย์ในภาควิชาปฐมวัยศึกษาและภาควิชาอื่นๆ ของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งทั่วประเทศ ได้นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อปลูกฝังความรู้ความเข้าใจ และทักษะแก่นักศึกษาครูในภาควิชาปฐมวัยและภาควิชาอื่นๆ ซึ่งจะนำไปจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัยและเด็กช่วงวัยอื่นๆ ต่อไป”
ในปัจจุบันการผลิตครูในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ยังไม่มีวิชาที่สร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษาครูในเรื่อง ธรรมชาติ การทำงาน การพัฒนาสมองของเด็กปฐมวัย มีเพียงวิชา “ทักษะการคิด” ซึ่งเน้นสอนให้นักศึกษาครูรู้จักว่าการคิดว่ามีกี่ประเภท เช่น การคิดพื้นฐาน การคิดขั้นสูง และให้นักศึกษาเรียนรู้กิจกรรมเพื่อฝึก เพื่อส่งเสริมการคิด เช่น การตั้งคำถาม เป็นต้น นอกจากนี้ ในวิชาพัฒนาการเด็ก มีการสอนเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ลงลึกถึงการพัฒนาทักษะสมอง
ผศ. ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานสภาคณบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการอบรมความรู้ EF พื้นฐานแก่อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏภาควิชาปฐมวัยกว่า 120 คนแล้ว ซึ่งอาจารย์เหล่านั้นได้นำความรู้ EF นี้ไปประยุกต์ใช้กับงานของตน บูรณาการเข้าไปในรายวิชาที่ตนเองสอน ซึ่งพบว่าเกิดประโยชน์ต่อตัวนักศึกษาครูอย่างมาก กล่าวคือนักศึกษาสามารถนำความรู้ไปใช้ในการออกแบบแผนการจัดประสบการณ์ในชั้นเรียนปฐมวัยเป็นรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สภาคณบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเห็นความสำคัญ และต้องการขยายความร่วมมือให้เข้มแข็งขึ้น โดยจะให้มีหลักสูตรสำหรับอาจารย์ที่จะสอนแก่นักศึกษาครูทั้งภาควิชาปฐมวัย และภาควิชาอื่นๆ อย่างเข้มข้นต่อไป
ผศ. ดร.รัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับความร่วมมือกันในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมอาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัยและจัดอบรมเพื่อพัฒนาอาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัยจำนวนประมาณ 240 คน เป็นระยะที่ 1 ภายในเดือนมิถุนายน 2562 ระยะ 2 พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมอาจารย์สาขาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเกี่ยวกับทักษะสมอง Executive Functions (EF) และจัดอบรมเพื่อพัฒนาอาจารย์สาขาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจำนวนประมาณ 1,000 คน ภายในปี 2564 และสร้างวิทยากรแกนนำอีกจำนวน 38 คน ในปี 2563